10 ก.ค. 2022 เวลา 16:03 • การศึกษา
KBTG Fellowship โมเดลขับเคลื่อนประเทศไทย ร่วมสร้างเทคโนโลยีโลกอนาคต
ด้วยพันธกิจ ที่จะพาประเทศไทยไปยืนตรงด่านหน้าของนวัตกรรมโลก เพื่อสร้างและกำหนดทิศทางของเทคโนโลยีในอนาคต KBTG จำเป็นต้องส่งนักวิจัยหัวกะทิ เข้าไปมีส่วนร่วมในแก่นแหล่งงานวิจัยด้านเทคโนโลยีของโลกอย่าง MIT Media Lab พร้อมโจทย์นวัตกรรมแห่งอนาคตเพื่อ well-being ของคนไทยและสังคมไทยในศตวรรษถัดไป
MIT Media Lab สถาบันวิจัยชั้นนำของโลก MIT เป็นสถาบันที่มีชื่อเสียง MIT Media Lab ติดอันดับสถาบันวิจัยต้น ๆ ใน MIT และเป็นสถาบันวิจัยที่เน้นการวิจัยแบบหลอมรวมหลายสาขาวิชา (multidisciplinary) ที่ไม่มุ่งเน้นเทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่ง แต่จะนำเทคโนโลยี ศิลปะ วิศวกรรม และการออกแบบ มาผสมผสานกันเพื่อสร้างสิ่งที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ และตอบโจทย์กับคุณภาพชีวิตคน ให้เป็นอยู่ได้ดีขึ้น
ดร. ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล กรรมการผู้จัดการ KBTG Labs กล่าวว่า พันธกิจของ KBTG คือ การนำนวัตกรรมและงานวิจัยมาผสมกัน เพื่อสร้างให้เกิดโซลูชันที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้น ทำให้ KBTG ได้เข้าไปร่วม Research Consortium ของ MIT Media Lab ซึ่งเปิดให้กับบริษัทชั้นนำของโลก เข้ามาเป็นสมาชิกเพื่อที่จะสามารถแลกเปลี่ยนความรู้และนวัตกรรมต่าง ๆ ระหว่าง MIT Media Lab และสมาคมงานวิจัยแห่ง MIT เพื่อให้เกิดผลที่กว้างขึ้นทั้งในส่วนของงานวิจัยและการนำไปใช้จริง
ทั้งนี้ KBTG เป็นสมาชิกในระดับ Research Lab Member ทำให้นอกจากจะสามารถเข้าไปแลกเปลี่ยนในสมาคมวิจัยแล้ว ยังสามารถส่งนักวิจัยจาก KBTG เข้าไปทำงานวิจัยเคียงบ่าเคียงไหล่กับนักวิจัยที่ MIT Media Lab
“นั่นคือสิ่งที่เราทำไปแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เราต้องเลือกหน่วยวิจัยใน MIT Media Lab ที่จะมาทำงานร่วมกับเรา เราพิจารณาทั้งเรื่องหัวข้อวิจัย กระบวนการทำวิจัย และเนื้อหาของงานวิจัย ที่ต้องสอดคล้องกับพันธกิจของ KBTG ที่ต้องเป็นเทคโนโลยีที่ผสมผสานกันแล้วทำให้เกิดสิ่งที่จะมาพัฒนาชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีที่ KBTG แข็งแกร่ง คือ บล็อกเชน UX/UI และปัญญาประดิษฐ์” ดร.ทัดพงศ์ กล่าว
หัวข้อวิจัยในช่วงแรกที่ KBTG จะโฟกัส คือ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์ (HCI) เพื่อนำ AI เข้ามาช่วยให้ประสบการณ์และการใช้ชีวิตของมนุษย์ดีขึ้น
KBTG คาดหวังที่จะเพิ่มขีดความสามารถเรื่องเทคโนโลยีของ KBTG และของประเทศไทย รวมถึงเพิ่มอำนาจให้กับลูกค้าและธุรกิจของ KBANK หากมองเป็นรูปธรรม คือ คาดหวังที่จะได้เทคโนโลยี deep tech มาสร้างผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำมาใช้จริงกับลูกค้า เพื่อให้ลูกค้ามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทั้งในเรื่องการเงินและอื่น ๆ
ดร.ทัดพงศ์ กล่าวว่า พัทน์ ภัทรนุธาพร คือคนต้นคิดของความร่วมมือกันที่ทำให้ KBTG เข้าไปร่วมอยู่ในสมาคมวิจัยนี้ พัทน์เป็นคนไทยที่มีความสามารถในงานวิจัยและในเทคโนโลยีต่าง ๆ มีงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิจัยชั้นนำระดับโลก รวมถึงมีงานวิจัยที่ออกสู่สาธารณะในนามของ MIT Media Lab ในนามขององค์กรอื่น ๆ
“คุณพัทน์ไม่ได้เก่งแต่เรื่องเทคโนโลยี แต่เป็นคนที่มีความหลงใหลในเทคโนโลยี มีความคิดสร้างสรรค์​ และมีความกล้าที่จะลองสิ่งใหม่ ๆ กับหลาย ๆ เรื่อง เราพบกับคนไทยที่มีความพร้อมและต้องการการสนับสนุนในระดับเวทีโลก ระดับสถาบันวิจัยชั้นนำของโลก เรา KBTG จึงอยากสนับสนุนคุณพัทน์ ด้วยทุน KBTG Fellowship” ดร.ทัดพงศ์ กล่าว
Fellowship เป็นทุนวิจัยสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอกระดับสูงสุดของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา เป็นการให้ทุนกับคนที่มีความสามารถพิเศษและเป็นเบอร์ต้นของหน่วยงานการศึกษานั้นเท่านั้น เพราะทุน Fellowship เป็นทุนที่ให้เพื่อสนับสนุนคนวิจัยให้มีอิสระที่จะทำวิจัยในเนื้อหาต่าง ๆ ดังนั้น คนที่ได้รับทุน Fellowship จะเป็นคนที่ขับดันตัวเองได้ สามารถกำหนดขอบเขตและเส้นทางรวมถึงรายละเอียดของการวิจัยเองได้
“ผู้ให้ทุนคือ KBTG ผู้รับทุนคือ คุณพัทน์ ดังนั้น คุณพัทน์ จึงเป็น KBTG Fellow คนแรก KBTG ​Fellowship นี้จะสนับสนุน 2 ปี และจะมีการพิจารณาต่ออายุหลังจากนั้น ซึ่งคุณพัทน์จะได้ทำวิจัยในสิ่งที่คาดหวังและตั้งใจไว้” ดร.ทัดพงศ์ กล่าว
KBTG เป็นบริษัทไทยบริษัทแรกที่ริเริ่มการใช้แนวทางนี้ และเป็นการให้ Fellowship กับ MIT Media Lab เป็นครั้งแรก KBTG Fellow จะเป็นคนที่บุกเบิกเทคโนโลยีของไทยให้เข้าไปสู่กรอบและแนวทางระดับโลก
“Fellowship เป็นสิ่งที่ KBTG สนับสนุนเพิ่มเติมนอกจากการที่เข้าไปเป็นสมาชิกของ MIT Media Lab อยากให้มี Fellowship Model ที่บริษัทไทยเป็นผู้ขับเคลื่อน เกิดขึ้นอีกมาก ๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ” ดร.ทัดพงศ์ กล่าว
ในฐานะที่ KBTG เป็นองค์กรใหญ่องค์กรหนึ่งในประเทศไทย เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่มีแรงบันดาลใจที่จะเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก KBTG จะผลักดัน KBTG Fellowship ต่อไป เพราะ Fellowship Model เป็นการสร้างคนที่มีความสามารถและความหลงใหลในเทคโนโลยี ให้สามารถเป็นนักวิจัยระดับโลกสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่จะกลับมาตอบโจทย์สังคม องค์กร และประเทศไทยได้ นั่นคือจุดประสงค์หลักของ KBTG ที่ให้ KBTG Fellowship นี้
“Fellowship เป็นเหมือนการลงทุนอย่างหนึ่ง แต่เป็นการลงทุนเพื่อสังคมเพื่อประเทศชาติ คือเป็นการลงทุนที่เมื่อคนที่มีความสามารถมีความมุ่งมั่นในเรื่องที่ถูกต้อง เรียนจบไปจนถึงระดับเป็นนักวิจัยระดับโลก สิ่งที่เขาจะทำหลังจากนั้นคือคุโณปการต่าง ๆ ที่จะวัดยากมาก แต่จะมากมายมหาศาล นี่คือเป้าหมายสูงสุดของ KBTG Fellowship” ดร.ทัดพงศ์ กล่าว
KBTG Fellow คนแรก
พัทน์ ภัทรนุธาพร MIT Media Lab Graduate Research Student & KBTG Fellow กล่าวว่า งานวิจัยที่ทำจะเกี่ยวกับหัวข้อ Human-AI Interaction จากการที่ปัจจุบัน AI อยู่รอบ ๆ ตัวของผู้คนนำมาสู่โจทย์ความคิดที่ว่า หาก AI กับมนุษย์สามารถปฏิสัมพันธ์กันจะสามารถเสริมสร้างประสิทธิภาพระหว่างกันมากขึ้นอย่างไร
เป็นการลดช่องว่างระหว่างมนุษย์กับ AI ด้วยการให้ AI เรียนรู้จากมนุษย์และมนุษย์เรียนรรู้จาก AI ใช้ประโยชน์จากสติปัญญาและความฉลาดที่แตกต่างกันเพื่อนำไปสู่ “การตัดสินใจ” ที่ดีมากขึ้นในทุก ๆ เรื่อง ทั้งการศึกษา สุขภาพ และชีวิต
พัทน์ เป็นคนที่ชอบและหลงใหล Sci-Fi มากมาตั้งแต่เป็นเด็กมัธยม วันหนึ่งซึ่งเป็นวันเริ่มต้นของการเบนเข็มชีวิตสู่ MIT Media Lab ของเขา คือวันที่เขาได้ฟัง Professor Pattie Maes พูดเรื่อง Meet the SixthSense interaction ที่ TED TALK ทำให้เขาตื่นเต้นและทึ่งมากว่าในโลกนี้มีคนที่ทำ Sci-Fi ล้ำ ๆ ด้วย ซึ่งต่างจากวิชาวิทยาศาสตร์ที่เขาเรียนในห้องเรียนที่มักจะเรียนเรื่องดวงดาว ธรรมชาติ และอะตอม
“ตอนนั้นผมอยู่มัธยม กล้าที่จะอีเมลไปหา Professor Pattie Maes บอกว่าเป็นแฟนคลับ อยากร่วมในห้องทดลองที่ MIT Media Lab ด้วย และได้นำแนวคิดของเขาที่ได้ฟังจาก TED TALK มาพัฒนาผลงานต้นแบบของตัวเองแบบเล็ก ๆ และส่งไปให้เขาดู เขาบอกว่าจำผมไม่ได้ แต่ก็ให้กำลังใจให้ทำต่อไป นั่นเป็นสิ่งเปลี่ยนชีวิตผมเลย”​ พัทน์ กล่าว
หลังจากนั้นมา พัทน์มุ่งมั่นเดินในเส้นทางนักวิจ้ยด้าน human-computer interaction (HCI) จากนั้นมาจนปัจจุบัน และได้กลายเป็นนักวิจัยในทีมของ Professor Pattie Maes ที่ MIT Media Lab ตามความหวังและความตั้งใจไว้
“แรงบันดาลใจของคนมีความสำคัญมาก ๆ ผมเป็นเด็กไทยที่ดู TED TALK ของ Professor Pattie Maes จาก MIT Media Lab ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีคนไทยอยู่ที่ MIT Media Lab เลย ตอนนั้นแบบว่า ‘เกินเอื้อม’ แต่เรามุ่งมั่นเดินในเส้นทางนี้ และติดต่อกับ Professor Pattie Maes ตลอด จนสุดท้ายได้มาเป็นลูกศิษย์ของเขา” พัทน์ กล่าว
เขาบอกว่า เขาเป็นแค่คนธรรรมดาที่สนใจวิทยาศาสตร์ ตื่นเต้นกับ Sci-Fi และมีความกล้าหาญที่พยายามติดต่อไปหา Professor Pattie Maes แล้วเรียนรู้ที่จะทำหลายสิ่งไปเรื่อย ๆ เขาบอกว่า หากเขาทำได้ เขาเชื่อว่าเด็กคนอื่น ๆ ก็น่าจะทำได้เหมือนกัน ถ้ามีคนที่หนึ่ง (คนที่เข้าไปเป็นนักวิจัยใน MIT Media Lab) แล้วจะมีคนที่สองสามสี่ตามมาเรื่อย ๆ
“เราบุกเบิกแล้ว เดี๋ยวจะมีคนไทยมาอยู่ที่ MIT Media Lab มากขึ้น และเมื่อเรียนรู้มากขึ้น องค์ความรู้จะถ่ายทอดกลับมาสู่ประเทศไทย ซึ่งอยู่ในยุคดิจิทัลที่ทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้รวดเร็วมากขึ้น การพัฒนาจะนำไปสู่วงกว้างและทำให้สังคมเราดีขึ้นในท้ายที่สุด” พัทน์กล่าว
ตัวอย่างผลงานวิจัยของพัทน์ คือ Bio+Digital Interface for Space Exploration เป็นงานวิจัยที่โฟกัสการผสมผสานระหว่างชีวภาพของมนุษย์และระบบดิจิทัล เป็นงานที่ทำร่วมกับนาซา ศึกษาการสร้างชุดนักบินอวกาศในอนาคตที่ทำให้นักบินอวกาศสามารถผลิตยาขึ้นบนร่างกายของเขาเองได้ สามารถมีเซนเซอร์ที่สามารถอ่านข้อมูลที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของมนุษย์เวลาอยู่ในอวกาศ ทำชุดต้นแบบของชุดนักบินอวกาศในอนาคตที่จะเสริมสร้างศักยภาพของนักบินอวกาศ
นอกจากนี้ พัทน์สนใจเรื่อง virtual character และกำลังศึกษาถึงการอัปโหลดร่างกายมนุษย์ไปอยู่ในโลกเสมือนและการอัปโหลดมนุษย์ให้กลายเป็น AI ได้ เขากำลังทำโครงการที่เรียกว่า Virtual Human & AI Generated Media รวมถึงโครงการ AI Generated Character ซึ่งหัวข้อวิจัยนี้ (AI-generated character for supporting personalized learning and well-being) เป็นสิ่งที่กำลังทำร่วมกันกับทีมนักวิจัยของ KBTG ศึกษาการใช้ AI มาสร้าง character เหล่านี้แล้วนำมาใช้ประโยชน์กับสังคมได้อย่างไรบ้าง
“ซึ่งเป็นหนึ่งในสาขาที่ผมและพี่กระทิง (เรืองโรจน์ พูนผล) มีแรงบันดาลใจและหลงรักมาก ๆ นั่นก็คือ การศึกษา ถ้าเรามี AI ที่เราสามารถสร้างขึ้นมาได้ สามารถให้เด็กเรียนจากใครก็ได้ที่เขาอยากเรียน เราจะทำ character นั้นให้มาเป็นครูสอนหนังสือเด็ก ๆ ด้วยการใช้ AI สร้างการเรียนรู้ที่น่าตื่นเต้นและมีแรงจูงใจ” พัทน์ กล่าว
พัทน์ ยกตัวอย่างงานวิจัยอีกชิ้น คือ Simulating the Multi-Self in the Multiverse เป็นการศึกษาการใช้ AI ในการสร้างตัวเองใน version ต่าง ๆ ทำให้มนุษย์หนึ่งคนสามารถเรียนรู้จากตัวเองในอนาคตหรือจากในอดีตได้ เหมือนมี Time Machine ที่ให้เขาสามารถคุยกับตัวเองในช่วงเวลาไหนก็ได้ และสามารถทำให้คนหนึ่งคนสามารถเดินทางไปที่ต่าง ๆ ได้ ซึ่งนำประยุกต์ในการศึกษาเทคโนโลยีที่จะช่วยให้เด็กสามารถจินตนาการตัวเองในอนาคตได้ ช่วยผู้ป่วยสามารถเห็นตัวเองในอนาคตเพื่อตัดสินใจวางแผนการรักษา เป็นต้น
“นี่คือการนำ AI เข้ามาช่วยวางแผนในการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ให้ได้ดีขึ้น นี่คือโจทย์วิจัยที่กำลังศึกษาร่วมกับ KBTG เราจะทำให้งานวิจ้ยของ MIT Media Lab ที่ดูเหมือนจะอนาคตมาก ๆ มาสู่สังคมไทยได้” พัทน์ กล่าวด้วยความมั่นใจพร้อมย้ำว่า
“อาจดูว่าไอเดียแบบนี้ดูล้ำยุค แต่อย่าลืมว่าตอนที่ MIT Media Lab ทำเทคโนโลยีจอสัมผัส ทำ Google Map ทำ weraable ครั้งแรก ก็ล้วนเกิดก่อนยุคทั้งนั้น ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาจะลงทุนในอนาคต ซึ่ง KBTG ได้ทำตรงนี้แล้ว เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นสำหรับประเทศไทย และผมตื่นเต้นมาที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจอนาคตนี้ร่วมกับ MIT Media Lab และ KBTG” พัทน์ กล่าว
โมเดลต้นแบบ และจุดตั้งต้นที่เริ่มนับหนึ่ง
เรืองโรจน์ พูนผล Group Chairman, KBTG กล่าวว่า ณ ปัจจุบัน KBTG เป็นบริษัทแรกและบริษัทเดียวในประเทศไทยที่เป็นพันธมิตรด้านวิจัยกับ MIT Media Lab เพื่อทำวิจัยร่วมกัน MIT Media Lab เป็นสถาบันวิจัยที่อยู่แถวหน้าและสร้างเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกมามากมาย KBTG ต้องการองค์ความรู้ของสถาบันวิจัย และของนักวิจัยชิ้นนำระดับโลก
“KBTG จะเป็นลมใต้ปีกให้น้องพัทน์ เรามีพันธะสัญญาที่จริงจังเข้มข้นกับ MIT Media Lab เพื่อที่จะทำอะไรเจ๋ง ๆ ออกมาร่วมกัน ที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นผู้บริโภคและผู้ใช้เทคโนโลยีมาโดยตลอด แต่ตอนนี้บริษัทไทยและคนไทยกล้าที่จะพัฒนาเทคโนโลยีที่ล้ำมาก ๆ” เรืองโรจน์ กล่าว
ดร.ทัดพงศ์​ กล่าวเสริมว่า KBTG เห็นว่าการจะสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นจะต้องกลับไปต้นน้ำที่เป็นงานวิจัย และเห็นความต่อเนื่องตั้งแต่งานวิจัยกลายมาเป็นเทคโนโลยี นวัตกรรม และสิ่งที่สร้างผลกระทบให้กับผู้บริโภค นี่คือปัจจัยสำคัญประการแรกที่ทำให้เกิดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยไปอยู่แถวหน้าของเทคโนโลยีโลก
ปัจจัยต่อมา คือ ความพร้อมของ KBTG ที่เป็นองค์กรที่มีความสามารถที่จะให้การสนับสนุนทุนวิจัย เพราะบริษัทมีเทคโนโลยีและมีการใช้งานวิจัยที่มากเพียงพอที่จะช่วยสนับสนุนส่งเสริมใหห้งานวิจัยนั้นเติบโตและสำเร็จได้
“ถ้าที่ไหนมีวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่อยากผลักดันเรื่องเทคโนโลยี และความสามารถของบริษัทที่จะทำให้ไปถึง ก็สามารถที่จะทำให้เกิดเป็นรูปแบบนี้ – Fellowship Model – ได้แพร่หลายต่อไป”​ ดร.ทัดพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ ไม่ต้องรอผลงานวิจัยสำเร็จ ณ​ วันนี้พัทน์และ KBTG ทำสำเร็จแล้ว ก็คือการสร้าง Tech Ambassador จากประเทศไทยให้เกิดการยอมรับคนไทยและบริษัทไทยในเวทีระดับโลกในงานวิจัยด้านเทคโนโลยีแห่งอนาคต
โฆษณา