12 ก.ค. 2022 เวลา 05:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
Deep Longevity และมหาวิทยาลัย Harvard สร้างโมเดล AI ช่วยสอนทางลัดสู่ ‘การมีความสุข’
ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ วิกฤตโรคระบาด และความเปลี่ยนแปลงในหลากหลายด้านของชีวิต อาจทำให้การมีสุขภาพจิตที่ดีและการมีความสุขอาจเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลาย ๆ คน
Deep Longevity แพลตฟอร์มเอไอด้านการสร้างชีวิตที่ยืนยาว (Longevity) ได้ร่วมกับ Harvard Medical School ในการพัฒนาโมเดลที่สามารถแนะนำทางลัดให้เราสามารถมีชีวิตที่มีความสุขและมีสุขภาพจิตที่ดีได้ง่ายขึ้น
ทีมนักวิจัยได้สร้างโมเดลขึ้นมาสองชนิตเพื่อทำความเข้าใจกระบวนการทางจิตวิทยา โดยใช้ตัวอย่างข้อมูลจากแบบสอบถามด้านจิตวิทยาประชากรอายุ 25-74 ปี จาก MIDUS มาสร้างโมเดลแรกเป็นโมเดล Deep neural networks (DNN) ที่เลียนแบบโครงข่ายประสาทของมนุษย์ เพื่อทำการวิเคราะห์อายุและสุขภาพจิตของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสุขภาพจิตตามอายุในระยะเวลา 10 ปี
ไม่ว่าจะเป็น ความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง ความอิสระทางจิตใจ (Mental Autonomy) เช่น อิสระที่จะควบคุมการตัดสินใจและความคิดของตนเองโดยปราศจากอิทธิพลภายนอก และความสามารถในการจัดการสภาพแวดล้อม (Environmental Mastery) หรือการลดลงของความสามารถในการพัฒนาตนเองและการมีเป้าหมายในชีวิต ซึ่งทักษะเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงไปตามอายุที่มากขึ้น และเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดสุขภาพจิตที่ดี
ซึ่งทีมนักวิจัยได้คิดค้นเส้นทางที่เร็วที่สุดให้เราสามารถมีสุขภาพจิตแบบนั้นได้ โดยไม่ต้องรอให้แก่ลงก่อน โดยพัฒนาโมเดลแบบ Self-organizing Map อีกอันหนึ่ง ที่ทำการวิเคราะห์ข้อมูลทางสุขภาพจิตของกลุ่มตัวอย่าง และแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกตามระดับแนวโน้มของความซึมเศร้า รวมถึงความแตกต่างด้านปัจจัยต่าง ๆ ในชีวิต
ผลวิเคราะห์จะออกมาในรูปแบบของแผนที่ 2 มิติที่ผู้ทดสอบแต่ละคนจะจัดเรียงกันอยู่ในจุดที่แตกต่างกันไปของแผนที่ตามแต่สุขภาพจิตและปัญหาเฉพาะของตนเอง และแต่ละคนก็จะมีเป้าหมายของสุขภาพจิตที่ควรจะเป็นแตกต่างกันไปด้วย จากนั้นจะแนะนำแนวทางแบบเฉพาะตัวให้กับคนแต่ละคนในการสร้างสุขภาพจิตที่ดีจากข้อมูลตามโมเดลแรก
คำแนะนำนี้เป็นเสมือนเส้นทางลัดให้เราพัฒนาจากจุดที่ยืนในแผนที่ไปยังจุดเป้าหมายในการพัฒนาสุขภาพจิตให้มีความมั่นคงมากขึ้นได้รวดเร็ว โดยไม่ต้องรอให้ทัศนคติและความคิดเปลี่ยนแปลงไปเองตามอายุอีกต่อไป เช่น ปัญหาของนาย A มาจากการขาดทักษะการสื่อสาร ที่ทำให้เกิดปัญหาด้านการสร้างความสัมพันธ์ ทางแก้ไขจึงเป็นการหาแนวทางที่จะสื่อสารกับคนอื่นให้ได้อย่างสบายใจ
ทีมนักวิจัยยังได้สร้างแอปพลิเคชันให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตจากโมเดลดังกล่าว ชื่อว่า FuturSelf ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ได้เข้ามาทำแบบทดสอบทางด้านสุขภาพจิตแบบเดียวกัน จากนั้นจึงนำผลที่ได้ไปวิเคราะห์ตามโมเดล และรายงานผลเป็นคำแนะนำในการพัฒนาสุขภาพจิตในระยะยาวให้ผู้ทดสอบแต่ละคน ผู้ทดสอบยังสามารถเข้ารวมโปรแกรมที่จะมีเอไอคอยให้คำแนะนำด้านสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่องได้อีกด้วย
ทดลองใช้กันได้ที่: https://www.futurself.ai/
โฆษณา