14 ก.ค. 2022 เวลา 04:00 • การตลาด
หลายคนอาจเคยคิดว่ากลยุทธ์ทางธุรกิจเป็นเรื่องยาก ซับซ้อน ต้องใช้ประสบการณ์การทำงานที่สูงถึงจะสามารถเข้าใจได้ ทว่าความจริงแล้วอาจไม่ใช่แบบนั้น
The Secret Sauce ชวนคุณมาทำความเข้าใจกลยุทธ์ฉบับ Harvard Business Review ที่อธิบายถึงกลยุทธ์ทางธุรกิจแบบเข้าใจได้ง่ายผ่าน ‘แท่งคุณค่า’ หรือ Value Stick เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปปรับใช้กับธุรกิจของคุณ
ดูคลิปเต็ม: https://youtu.be/m3k5QL2PZtc
🥫 เริ่มทำความเข้าใจกันก่อนว่ากลยุทธ์หมายถึงอะไร?
กลยุทธ์เป็นการมองไปข้างหน้าหรือการวางแผนไว้สำหรับอนาคต โดยเริ่มต้นจากการสร้าง ‘คุณค่า (Value)’ ให้กับบริษัท ไม่ได้เริ่มต้นจากการมุ่งเน้นไปที่ผลกำไร เพราะกำไรเป็นผลที่ได้จากการดำเนินกลยุทธ์เพียงเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นปลายทางแต่ไม่ใช่จุดเริ่มต้น
🥫 คุณค่าของบริษัทเกิดจากอะไร?
คุณค่าเกิดจากส่วนต่างของ ‘ความเต็มใจที่จะซื้อ (Willingness to Pay)’ และ ‘ความเต็มใจที่จะขาย (Willingness to Sell)’
3
หากมองจากภาพที่เป็นกราฟตัว I ซึ่งเรียกว่าแท่งคุณค่า (Value Stick) ด้านบนสุดของกราฟคือ ความเต็มใจที่จะซื้อ (Willingness to Pay) ส่วนด้านล่างสุดคือ ความเต็มใจที่จะขาย​ (Willingness to Sell) และส่วนต่างระหว่างสองสิ่งนี้คือคุณค่าที่บริษัทสร้างขึ้น
🥫 ความเต็มใจที่จะซื้อ (Willingness to Pay) คืออะไร?
คือราคาที่ลูกค้าจะยอมจ่ายเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการ กล่าวคือถ้าคุณขายแพงกว่านั้นเพียงบาทเดียว ลูกค้าก็จะไม่ซื้อสินค้านั้น ดังนั้นราคาขายจะต้องอยู่ต่ำกว่าระดับความเต็มใจที่จะซื้อ (Willingness to Pay) ของลูกค้าเสมอ และช่องว่างระหว่างความเต็มใจที่จะซื้อกับราคาขายคือความสุขใจของลูกค้า (Customer Delight) หรือความรู้สึกคุ้มค่าในการจ่ายนั่นเอง
1
🥫 ความเต็มใจที่จะขาย (Willingness to Sell) คืออะไร?
คือผลตอบแทนหรือค่าจ้าง (Compensation) ขั้นต่ำที่พนักงานคนหนึ่งจะยอมรับได้และจะยังทำงานให้กับบริษัทต่อไป หรือเป็นความเต็มใจของพนักงานที่ยินดีจะขายทักษะของเขาให้กับองค์กร ซึ่งยิ่งองค์กรยินดีที่จะให้ผลตอบแทน (Compensation) สูงกว่าระดับความเต็มใจที่จะขาย (Willingness to Sell) มากเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้เกิดคุณค่าสำหรับพนักงาน (Value for Employee) มากขึ้นเท่านั้น โดยส่วนต่างที่ว่านี้อาจเรียกได้ว่าเป็นความพึงพอใจของพนักงาน (Employee Satisfaction)
🥫 แล้วกลยุทธ์นี้จะสามารถสร้างกำไรได้อย่างไร?
เมื่อดูที่แท่งสร้างคุณค่า (Value Stick) จะเห็นว่าคุณค่าสุทธิ (Total Value) ที่บริษัทสร้างขึ้นทั้งหมดเกิดขึ้นจากส่วนต่างของความเต็มใจที่จะซื้อ (Willingness to Pay) และความเต็มใจที่จะขาย (Willingness to Sell) โดยกำไรจะมาจากการที่เราแบ่งส่วนของความสุขใจของลูกค้า (Customer Delight) และความพึงพอใจของพนักงาน (Employee Satisfaction) ออกไป เราก็จะเหลือส่วนตรงกลางนั่นคือกำไร (Firm Margin) ของบริษัท
ดังนั้นสรุปได้ว่า ยิ่งเราสามารถสร้างคุณค่าได้มากเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสของการเพิ่มกำไรให้มากขึ้นเท่านั้น คำถามต่อไปคือ แล้วเราจะทำอย่างไรถึงจะสามารถเพิ่มคุณค่าของบริษัทให้มากขึ้น ทำให้ตัว I หรือแท่งคุณค่าขยายใหญ่ขึ้นได้มากกว่าที่เคย หาคำตอบได้ที่ The Secret Sauce EP.534 | กลยุทธ์ง่ายกว่าที่คิดด้วย ‘แท่งคุณค่า’ Value Stick
ภาพ ‘แท่งคุณค่า’ Value Stick
โฆษณา