15 ก.ค. 2022 เวลา 15:48 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เงินเฟ้อสหรัฐยังไม่สุด
เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยหลุดโลก
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก “ท่องเศรษฐกิจกับดร.กอบ” หลังเมื่อวานนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐในเดือน มิ.ย.2565 ที่ 9.1% สูงกว่าตลาดคาดไว้ที่ 8.8% ตลาดก็เหวี่ยงใส่นักลงทุนทันที
โดยจะเห็นได้จากตลาดค่าเงินที่ผันผวนหนัก ซึ่งค่าเงินดอลลาร์ที่สวิงไปมาบวกลบ 1% จาก 107.7 แข็งค่าไปที่ 108.6 และอ่อนลงมาที่ 107.4 ส่วนค่าเงินยูโรที่ Break Parity ไปช่วงพริบตา ก่อนจะกลับมาที่เดิม
สำหรับตลาดหุ้นก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน Dow Jones Future, Nasdaq Future รวมไปถึงตลาดอื่นๆ ทั่วโลก ปรับลดลงทันที คนละหลายร้อยจุด หลังตลาดเปิด ตลาดก็ค่อยๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นบ้าง
แต่ท้ายที่สุดก็ปรับลดลงอีก เมื่อนักวิเคราะห์เริ่มออกมาพูดมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ตัวเลขเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นนี้ เฟดจำเป็นที่จะต้องจัดยาแรงต่อไป อย่างน้อย 0.75% ในการประชุมปลายเดือน ก.ค.นี้
นอกจากนี้ ตัวเลข Fed Funds Futures เริ่มชี้ว่า ตลาดคิดว่าในการประชุมในวันที่ 26-27 ก.ค.นี้ มีโอกาสถึง 67% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 1.0% !!!
ทำให้ทุกสายตามองไปว่า เฟดจะเลือกชุดยาที่แรงขึ้นจากเดิม อีกหรือไม่ หรือจะไปกับ 0.75% ตามที่บอกไว้ก่อนหน้า
ซึ่งการคาดเดาเหล่านี้ ทั้งหมดเป็นผลมาจาก "อัตราการเร่งตัวของเงินเฟ้อ" ที่เห็นจากข้อมูลเงินเฟ้อที่ประกาศออกมา
Headline Inflation เดือนล่าสุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า +1.3% Core Inflation เพิ่มจากเดือนก่อนหน้า +0.7% สูงสุดในรอบ 12 เดือน !!! สะท้อนว่า เงินเฟ้อยังมีแรงส่งอีกมาก
นอกจากนี้ การที่ Core inflation ได้หักเอาราคาน้ำมันออกแล้ว ราคาน้ำมันโลกที่ลดลงในเดือน ก.ค. ก็พอจะช่วยให้ Headline inflation ลดในเดือนถัดๆ ไปได้บ้าง แต่ Core inflation ซึ่งเฟดจับตามองอย่างใกล้ชิด อาจจะไปต่ออีกระยะ
ทั้งหมดนี้ หมายความว่า เฟดยังต้องใช้ยาแรงต่อ
ส่วนที่บอกว่า "ช่วงนี้ลงทุนยาก" ก็เพราะการปรับตัวของ Assets ต่างๆ ช่วงนี้ ไม่ได้ขึ้นกับ Fundamentals อย่างเดียว การดูกราฟ ก็มีข้อจำกัด เพราะที่ทำให้ตลาดปรับตัวขึ้นลง นอกจากได้รับผลจากตัวเลขต่างๆ แล้ว (ซึ่งตอนนี้อ่อนไหวกับตัวเลขเป็นพิเศษ) ยังมีผลจากคำพูดของทางการ (ที่ไม่ชัดเจนว่าท่านจะพูดอะไร จะออกมาตรการอะไร) และจากการปั่นตลาดของนักวิเคราะห์ ที่กำลังคาดเดาประเมินทิศทางว่า
แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
เงินเฟ้อจะปรับตัวอย่างไร
ตกลงเศรษฐกิจยังไปได้ หรือไปไม่ได้แล้ว
สิ่งที่อยู่ในใจเฟดคืออะไร
เฟดจะเอาจริงแค่ไหน
เฟดจะทำอะไรต่อไป
คาดขึ้นวัน คาดลงวัน
ทั้งหมดนี้ ตลาดจึงผันผวนเป็นพิเศษ และทำให้การปรับตัวของตลาดมาจากการคาดเดาต่างๆ เหล่านี้ ไปอีกระยะ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร เปิดเผยกับ Money Chat ว่า เงินเฟ้อสหรัฐน่าจะถึงจุดพีคในเดือน ก.ค. จากนั้นในเดือน ส.ค. จะเริ่มปรับลดลง แต่จะลดลงไม่เร็ว เพราะฉะนั้นดอกเบี้ยจะปรับขึ้นสูงไปเรื่อยๆ
ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่อยู่ระหว่างรอการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือน ส.ค.นี้ จะอ่อนตัวลงต่อเนื่อง
และเรื่องของราคาน้ำมัน เนื่องจากไทยใช้แก๊สในการผลิตไฟฟ้า แม้ราคาน้ำมันปรับลดลง แต่ราคาแก๊สไม่ได้ปรับลดลง ทำให้ไทยต้องจ่ายเงินมากขึ้น ส่งผลให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น และทำให้เงินบาทอ่อนค่า ซึ่งจะส่งผลกระทบไปถึงดุลบัญชีเงินลงทุนลดลง
“แบงก์ชาติกำลังท้าทายกับสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ในต่างประเทศ”
ดร.ศุภวุฒิ กล่าวว่า การที่แบงก์ชาติเชื่อมั่นว่าจะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงตามตลาดต่างประเทศ จะถูกทางก็ต่อเมื่อมี 3 เงื่อนไข ประกอบด้วย 1. ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมหาศาล มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศจำนวนมาก 2. เฟดกลับลำ หยุดปรับขึ้นดอกเบี้ย เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจถดถอย และส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ย และ 3. เศรษฐกิจสหรัฐติดลบ จนถึงขั้นทำให้เงินเฟ้อทั่วโลกลดลง
โฆษณา