16 ก.ค. 2022 เวลา 02:44 • ความคิดเห็น
สิ่งใดที่มากเกินไป หรือน้อยเกินไป ย่อมเกิดผลร้ายมากกว่าผลดีเสมอ การคิดบวกก็เช่นกัน ที่ควรทำแต่พอดี หรือที่เรียกว่า "ทางสายกลาง" ตามหลักพระพุทธศาสนา
คำว่า “ทางสายกลาง” ไม่ได้หมายถึงในด้านกาย และวาจาของเรา แต่หมายถึงในด้านจิตใจ เมื่อถูกอารมณ์มากระทบ ถ้าอารมณ์ที่ไม่ถูกใจมากระทบกระทั่ง ก็ทำให้วุ่นวาย ถ้าจิตวุ่นวายหวั่นไหวเช่นนี้ ก็ไม่ใช่หนทาง เมื่ออารมณ์ที่ดีใจเกิดขึ้นมาแล้วก็ดีอกดีใจ ติดแน่นอยู่ในทางที่ตึงหรือหย่อนเกินไป อันนี้ก็ไม่ใช่หนทาง
เหมือนในคราวที่เจ้าชายสิทธัตถะ บำเพ็ญเพียรหลากหลายวิธี โดยเฉพาะการบำเพ็ญทุกขกิริยา เมื่อไม่สำเร็จ ก็ทรงเปลี่ยนแนวทางไปเรื่อย ๆ ตามที่มีบันทึกในพุทธประวัติ พระอินทร์ดีดพิณ 3 สายให้ทรงสดับ เพื่อเตือนใจให้ทรงทราบถึงผลเสียของการตึงหรือหย่อนเกินไป
บ่อยครั้งที่การปลอบใจตัวเอง ก็เป็นต้นเหตุเล็ก ๆ ที่เป็นภัยต่อร่างกายเราอย่างไม่รู้ตัว ตามหลักวิทยาศาสตร์ ถ้าเลือกมองแต่ด้านดี ในสถานการณ์ที่ไม่สมเหตุสมผล ในระยะยาวจะทำให้เราสูญเสียทักษะในการพัฒนาอารมณ์ มองข้ามความไม่ยุติธรรม การถูกเอาเปรียบได้ง่ายดาย
และปัญหายิ่งบานปลาย เมื่อมีการส่งต่อ "Toxic Positivity" ให้คนอื่น เพราะขาดความเข้าใจอารมณ์ด้านลบ ที่คนรอบตัวแสดงออกมา เช่น "เพื่อนบ่นว่าช่วงนี้เหนื่อยอ่ะ เครียดจัง" เราก็อาจมองไม่เห็น และไม่เข้าใจเพื่อน ได้แต่บอกว่า “ไม่เป็นไรหรอก คิดบวกหน่อยสิ มีคนที่แย่กว่านี้อีกนะ” ทำให้อีกฝ่ายเกิดความรู้สึกห่างเหิน รู้สึกว่าไม่ถูกใส่ใจ
เหรียญเองก็มี 2 ด้าน ถ้าหากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป ชีวิตก็ขาดความสมดุล และอาจเป็นตัวประหลาดของคนในสังคมได้ ดังนั้นความคิดที่บวกจนสุด และลบจนคนรอบข้างรู้สึกดึ่งตามไปด้วย ถือเป็นภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม
โฆษณา