16 ก.ค. 2022 เวลา 14:20 • ข่าว
มองโลกแล้วย้อนมองไทย ทำไมธุรกิจโทรคมนาคมเหลือผู้เล่นน้อยลงเรื่อยๆ
ข่าวใหญ่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคือเรื่องของเอไอเอส (AIS) ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคม ประกาศซื้อกิจการของ 3BB ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใหญ่อันดับ 2
1
โดยดีลดังกล่าว ถ้าหากนับเพียงแค่การซื้อกิจการของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายนี้มีมูลค่าถึง 19,500 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงไม่น้อยเลยทีเดียว และอาจเป็นดีลการซื้อกิจการที่ใหญ่ติด 1 ใน 10 ของปีนี้ได้เลยด้วยซ้ำ
1
เหตุผลที่ เอไอเอส เข้าซื้อ 3BB เกิดขึ้นเพื่อฐานลูกค้าขนาดใหญ่ ที่ทำให้ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมรายนี้สามารถก้าวมาเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ได้
อย่างไรก็ดี ดีลการซื้อกิจการครั้งนี้ ประชาชนจำนวนไม่น้อยได้แสดงความไม่พอใจ เนื่องจากทำให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีจำนวนลดลง และเป็นการตั้งคำถามถึงหน่วยงานกำกับดูแลอีกด้วย
1
แม้ว่า เอไอเอส แจ้งว่าดีลดังกล่าวต้องได้รับไฟเขียวจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็ตาม
2
สำหรับบทความนี้เราจะมาดูกันว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในต่างประเทศ ทำไมจึงอยู่ในสภาวะที่มีผู้เล่นน้อยรายลงเรื่อยๆ ต่างกับอดีตที่เคยได้เห็นบริษัทมากหน้าหลายตา แล้วในส่วนหน่วยงานกำกับดูแลมีการจัดการในเรื่องนี้อย่างไร
1
✧ เพราะโควิด-19 คือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ
1
ก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในธุรกิจโทรคมนาคมต่างๆ ทั่วโลกก็เริ่มมีการควบรวมกิจการมาสักพัก สาเหตุสำคัญมาจากการลงทุนในเทคโนโลยี 4G เริ่มใช้เม็ดเงินมหาศาลมากขึ้นเรื่อยๆ จนต้องมีการลงทุนไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งสถานีฐานเพิ่มมากขึ้น
3
รวมถึงการเข้ามาของเทคโนโลยีใยแก้วนำแสง ส่งผลทำให้ผู้เล่นในธุรกิจโทรคมนาคมต้องลงทุนอย่างมาก
1
ขณะเดียวกัน การเร่งเข้ามาของเทคโนโลยี 5G ยิ่งทำให้บริษัทโทรคมนาคมยิ่งต้องเร่งลงทุนมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งที่ผู้ให้บริการหลายรายเองยังลงทุนในเทคโนโลยี 4G และเพิ่งเริ่มเก็บเกี่ยวกำไรไม่นานด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ ยังรวมถึงการประมูลคลื่นความถี่ ที่หน่วยงานกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมหลายประเทศนั้นกำหนดราคาสูงมากขึ้น อย่างที่เราเห็นในประเทศไทย หรืออินเดีย ยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดต้องใช้เงินมากขึ้นไปอีก
1
ส่วนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเช่นกัน แม้ว่าเราจะเห็นการทำงานจากที่บ้าน แต่ผู้เล่นในธุรกิจโทรคมนาคมก็ต้องใช้เงินลงทุนเพื่อขยายโครงข่ายมากขึ้นเพิ่มไปอีก เพียงแต่รายได้กลับสวนทาง และมีการเติบโตน้อยมาก
2
นั่นเป็นแรงกดดันทำให้หลายบริษัทโทรคมนาคมต้องเริ่มหาทางออก
✧ ผู้เล่นน้อยรายเป็นเรื่องดีกว่า
1
สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ยิ่งเร่งทำให้ผู้เล่นในธุรกิจโทรคมนาคมต้องหาเม็ดเงินใหม่ๆ เข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถ้าหากเป็นบริษัทที่มีกำไร หรือแม้แต่กระแสเงินสดที่ดี การหาเม็ดเงินลงทุนขยายเครือข่ายนั้นย่อมทำได้ง่ายกว่า
2
แต่ในช่วงที่ผ่านมาเราจะพบว่า ผู้เล่นในธุรกิจโทรคมนาคมนั้นหลายรายมีหนี้ที่สูง ขณะที่ การหาเม็ดเงินใหม่ๆ ก็ยากมาก เช่นเดียวกับสภาวะเศรษฐกิจก็ไม่ได้เป็นใจสักเท่าไหร่
ทางออกจึงเหลือไม่กี่ทางนั่นก็คือขายกิจการ, ควบรวมกิจการกับผู้เล่นรายอื่น หรือแม้แต่เทรนด์ล่าสุดคือการขายสินทรัพย์ออกมา ไม่ว่าจะเป็นการขายเสาโทรศัพท์มือถือ รวมถึงการขายเครือข่ายใยแก้วนำแสง
2
ตัวอย่างที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย ผมขอยกกรณีของสหราชอาณาจักรที่ธุรกิจผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตอย่าง เวอร์จิน มีเดีย (Virgin Media) และโอทู (O2) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือประกาศควบรวมกิจการในปี 2021 เพื่อที่จะสู้กับคู่แข่งอย่างบีที (BT)
ล่าสุดในเดือนพฤษภาคมนั้นมีข่าวว่า โวดาโฟน (Vodafone) ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือสนใจที่จะควบรวมกิจการกับ ทรี (Three3) ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถืออีกราย
นั่นทำให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือจะเหลือเพียง 3 รายเท่านั้น จากเดิมที่เคยมีถึง 4 รายด้วยกัน ที่น่าสนใจจากกรณีนี้ คือ หน่วยงานกำกับดูแลไม่ได้ออกมาขวางดีลนี้แต่อย่างใด ซึ่งต่างกับในอดีตถ้าหากมีข่าวว่าใครจะควบรวมกิจการกัน มักจะโดนขวางเสมอ
2
✧ บทบาทของหน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศ
แม้ว่าผู้เล่นในธุรกิจโทรคมนาคมหลายประเทศ โดยเฉพาะยุโรปกำลังจะเหลือผู้เล่นน้อยรายลงเรื่อยๆ แต่กรณีศึกษาที่น่าสนใจจริงๆ กลับอยู่ในเอเชียของเรา และเป็นกรณีที่น่าศึกษาไม่น้อย
กรณีแรกนั้นเกิดขึ้นที่ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งถือว่าเป็นตัวอย่างอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ที่เริ่มต้นโดยมีคู่แข่งสองรายเท่านั้น คือ โกลบ (Globe) และพีแอลดีที (PLDT)
ด้วยความเป็นรายใหญ่ของทั้งสองบริษัท ทำให้แรงจูงใจในการขยายโครงข่ายออกไปตามพื้นที่ชนบทนั้นทำไปด้วยความล่าช้า
ขณะเดียวกันราคาแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตในฟิลิปปินส์ก็ถือว่ามีราคาสูง เมื่อเทียบกับรายได้ของประชาชน ซ้ำร้ายไปกว่านั้นยังมีความเร็วที่ช้า จนท้ายที่สุดรัฐบาลสมัย โรดริโก ดูเตร์เต ประกาศแน่วแน่ว่า ผู้เล่นอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของฟิลิปปินส์จะต้องมีรายใหม่เข้ามา
1
ปัจจุบันฟิลิปปินส์เองก็ได้ผู้เล่นรายที่ 3 ซึ่งชื่อว่า ดิโต (Dito) เข้ามาเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ก็บีบให้โกลบ และพีแอลดีที เร่งขยายเครือข่ายไวกว่าเดิม รวมถึงมีการแข่งขันมากกว่าในอดีต
1
อีกกรณีคือในประเทศญี่ปุ่นที่มีผู้เล่นโทรคมนาคมรายใหญ่ 3 รายนั่นก็คือ au, ซอฟต์แบงก์ (SoftBank) และเอ็นทีที โดโคโม (NTT DoCoMo) แต่ราคาแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตในประเทศนั้นถือว่ามีราคาสูงไม่น้อย แม้ว่ารายได้ของชาวญี่ปุ่นเองจะสูงก็ตาม
เวลาเดียวกัน ญี่ปุ่นยังเป็นตลาดโทรคมนาคมที่อิ่มตัวแล้วอีกด้วย แต่รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็เปิดให้ผู้เล่นรายใหม่ที่สนใจจะเข้ามาทำธุรกิจนั้นเข้ามาได้ จนเกิดเป็นรากุเทน (Rakuten) เป็นรายที่สี่ของตลาด ส่งผลทำให้ราคาแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตนั้นลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต
2
กรณีสุดท้ายที่จะยกมาคือกรณีของสิงคโปร์ที่คล้ายกับกรณีของญี่ปุ่นซึ่งมีผู้เล่นรายใหญ่ในตลาด 3 รายด้วยกันนั่นก็คือ สิงเทล (Singtel), สตาร์ฮับ (Starhub) และเอ็มวัน (M1) แต่หน่วยงานกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมของสิงคโปร์ ก็ยังเปิดให้มีผู้เล่นรายที่ 4 เข้ามา ผ่านการประมูลคลื่นความถี่ที่ราคาถูกกว่า 3 เจ้าใหญ่
2
ทั้งนี้ ในช่วงทำการตลาดใหม่ๆ สามารถเช่าเครือข่ายของผู้เล่นรายใหญ่เจ้าใดเจ้าหนึ่งก่อนได้ ซึ่งการแข่งขันดังกล่าวเมื่อมีผู้เล่นรายที่ 4 เข้ามาทำให้ราคาแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตในสิงคโปร์ถูกลงกว่าเดิม เมื่อเทียบกับในอดีต
1
เมื่อเราเห็นเทรนด์จากต่างประเทศว่า ในหลายประเทศแม้ผู้เล่นในตลาดจะเท่าเดิม หรือลดลง แต่หน่วยงานกำกับดูแล มักเปิดโอกาสให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามา ทำให้เราต้องมาดูกันว่าในกรณีของการควบรวมกิจการของเอไอเอส กับ 3BB รวมถึงกรณีของทรู (True) และดีแทค (Dtac) จะผ่านด่านของหน่วยงานกำกับดูแลหรือไม่
1
พร้อมกันนี้ ต้องจับตามองอย่างยิ่งว่า ธุรกิจโทรคมนาคมในไทยจะเกิดผู้เล่นรายใหม่ หรือเกิดผู้เล่นที่จะเข้ามาทดแทนหรือไม่ เพื่อที่ตลาดโทรคมนาคมไทยจะมีการแข่งขันได้อย่างสมบูรณ์ นั่นคือสิ่งที่ผู้บริโภคต้องจับตามองหลังจากนี้
1
นักเขียน
วัฒนพงศ์ จัยวัฒน์
นักเขียนผู้สนใจในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ การลงทุน ความเคลื่อนไหวในแวดวงเทคโนโลยี รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยในโลกธุรกิจ
โฆษณา