17 ก.ค. 2022 เวลา 14:49 • ปรัชญา
ความดีความชั่วเป็นสภาวะที่จิตปรุงแต่งขึ้นมาเองจากสภาพว่างปล่าวเป็นกลาง ไม่เอียงไปทางซ้ายหรือขวาไม่รู้จักสภาวะดีหรือชั่วอยู่ในสภาพที่เรียกว่าจิตว่าง มีความเป็นประภัสสรสว่างไหว
เมื่อจิตเริ่มอยากมีตัวตน เริ่มครอบของขันธ์ มีความรู้สึก มีสุข มีทุกข์ มีการตัดสินปรุงแต่งอารมณ์เป็นชอบไม่ชอบ เกิดเป็นกิเลสตัณหา จิตจึงเกิดความคิดแบ่งแยก มีเจตนาที่จะกระทำตามความชอบภายใต้แรงขับดันของกิเลส จึงเกิดเอียงกระเท่เล่ห์ไม่มีความเป็นกลางและเริ่มขุ่นมัวไปเรื่อยๆ จิตหลงไปยึดสิ่งหนึ่ง ปฏิเสธอีกสิ่งหนึ่ง
ในสมัยก่อเกิดมนุษย์ขึ้นมาใหม่ๆ มนุษย์มีวิวัฒนา การมาจากสัตว์ จึงรับเอาสัญชาติญาณของสัตว์ติดตัวเข้ามาด้วย ในสมัยแรกๆวิวัฒนาการของมนุษย์มีแต่สัญชาตญาณการเอาตัวรอด ซึ่งขาดการยับยั้งชั่งใจ มีการเอารัดเอาเปรียบ แก่งแย่ง ผิดลูกผิดเมีย มีการเข่นฆ่าเพื่อให้ได้มาซึ่งความต้องการของตนเอง แต่กระนั้นก็ยังมีความดีงามอยู่บ้าง และเริ่มเรียนรู้เรื่องความรักมาโดยอาศัยสัญชาตญาณของความเป็นแม่ที่คอยปกป้องลูกน้อยจากอันตราย
เมื่อมนุษย์มีพัฒนาการขึ้นมาเรื่อยๆ มีการรวมกลุ่มเริ่มมีสติปัญญาเริ่มแยกแยะความดี ความชั่วได้
วิวัฒนาการของมนุษย์จึงพัฒนาในสองรูปแบบคือด้านร่างกายและจิตวิญญาณ จิตในสภาวะตอนนี้จึงแบ่งแยกดีชั่ว แสดงออกเป็นเจตนาหรือการกระทำทําให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า วิบากแห่งกรรม โดยสภาวะจิตที่แบ่งแยก ไม่เป็นกลาง ขับเคลื่อนด้วยกิเลสตัณหาเป็นหัวเชื้อ มีวิบากแห่งกรรมเป็นแรงขับเคลื่อน
ภพภูมิจึงได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อรองรับ สภาวะจิตต่างๆและจําแนกออกไปตามวาระจิตนั้นๆ พวกที่วาระจิตเป็นกุศลกรรมหรือฝักใฝ่ความดี ก็จะไปอยู่ยังภพภูมิสวรรค์ และพรหมโลก ส่วนวาระจิตที่เป็นอกุศลกรรมหรือฝักใฝ่ความชั่วก็จะเข้าสู่อบายภูมิ
พวกที่ครึ่งๆกลางๆก็จะมาเกิดในโลกมนุษย์ ในสภาพปะปนกับคนทั่วไป ที่มองไม่ออกว่าวาระจิต
เป็นเช่นไร ต่างก็เสวยวิบากแห่งกรรมบนโลกมนุษย์โดยไม่รู้ตัว
กรรมจําแนกสัตว์เป็นประเภทต่างๆ และส่งผลในด้านบวก ( กุศลกรรม) และด้านลบ (อกุศลกรรม) แบบอุปมาในเชิงคณิตศาสตร์แต่มิสามารถหักล้างแบบลบออกในเชิงปริมานได้ เพราะกรรมส่งผลเสมอ เพียงแต่ว่า กรรมที่ทําบ่อยๆแบบสะสม (อาจิณกรรม) ในแง่ปริมาณจะมีผลมาก จนกรรมอีกฝ่ายไม่ส่งผล เปรียบเสมือนน้ำหมึกในแก้วน้ำ ถ้าเติมน้ำปล่าวลงไปมากๆหมึกก็จะค่อยๆจางหายไปแต่ไม่ใช่หายไปเลย ยังคงมีอยู่แต่ไม่ส่งผล
และมีอีกหลายๆกรณี ที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆเช่นสามล้อถูกหวย ทําดีได้ดีมีที่ไหน ทําชั่วได้ดีมีถมไป เพราะกรรมเป็นเรื่องซับซ้อนและมีหลายประเภท ที่ถ้าไม่เคยศึกษาจะไม่มีวันเข้าใจได้เลย และพาลเชื่อเอาว่ากรรมไม่มีจริงและไม่ส่งผล ้พราะไม่สามารถอธิบายสาเหตุได้ ผมจึงขอนําบทความที่าน อาจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก : ประเภทของกรรม หนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ ท่านเขียนอธิบายเรื่องกรรมไว้อย่างน่าสนใจ จึงขอยกเอามาประกอบคำอธิบายดังนี้
A. กรรมแบ่งตามความหนักเบามี 4 ประเภท คือ
1) กรรมหนัก เรียกว่า “ครุกรรม” คือ ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิต (อย่างกรณีพระเทวทัต กลิ้งก้อนหินทับพระบาทพระพุทธเจ้า) และทำสังฆเภท (คือทำสงฆ์ให้แตกกัน) กรรมหนักนี้ให้ผลรุนแรง ตกนรกอเวจีนานจนลืมทีเดียว ที่ว่าหนักเพราะให้ผลทันที หลังจากทำแล้วอาจได้รับผลสนองในชาตินี้ทันตาเห็น ตายแล้วดิ่งลงอเวจีถ่ายเดียว ไม่มีทางเป็นอื่น
2) กรรมทำจนชิน เรียกว่า “อาจิณกรรม” (หรือบางครั้งเรียก พหุลกรรม) กรรมชนิดนี้เป็นกรรมเบาๆ กรรมจิ๊บจ๊อย แต่ทำบ่อย ทำจนติดเป็นนิสัย ท่านก็ถือว่าเป็นกรรมหนักรองลงมาจากครุกรรม เพราะสั่งสมเป็นอุปนิสัยใจคอของเรา ผลที่สุดมันจะบันดาลให้เราเป็นไปตามนั้น จะเลิกก็เลิกไม่ได้
ยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ (ถึงจะไม่ใช่เรื่องร้ายแรงก็ตาม) เช่น คนสูบบุหรี่ ถึงจะสูบวันละไม่กี่มวน แต่สูบทุกวัน นานๆ เข้าก็กลายเป็น “คนขี้ยา” จะเลิกก็เลิกไม่ได้ เพราะมันติดเป็นนิสัยเสียแล้ว
หรือคุณเธอบางคน เห็นใครเขาทำอะไรผิดปกตินิดๆ หน่อยๆ ก็ยกเอามานินทา ดูซิ ยายคนนั้นแต่งตัวเชยจัง ยายคนโน้นแก่จะตายชัก ยังดัดจริตแต่งตัวเปรี้ยว…นินทาบ่อยเข้า เลยกลายเป็นคนชอบจับผิดคนอื่น ปากอยู่ไม่สุข จนเพื่อนระอา อย่างนี้เป็นต้น
3) กรรมทำใกล้ตาย เรียก “อาสันนกรรม” บางครั้งเวลานอนรอความตายอยู่ คนเราก็ได้คิดว่าไม่เคยทำบุญทำกุศลอะไรเลย พอคิดอยากทำก็สายไปแล้ว เห็นพระมาเยี่ยมก็ยกมือไหว้พระด้วยจิตอันเลื่อมใส ชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน เพียงแต่ความเลื่อมใสในพระสงฆ์แค่นี้ก็เป็นกรรมดี คือมโนกรรม (กรรมทางใจ) ที่เป็นกุศล อย่างนี้แหละครับ เรียกว่ากรรมทำตอนใกล้ตาย
ท่านว่ากรรมอย่างนี้เมื่อตายไปแล้วจะให้ผลทันที คือ “ลัดคิว” ให้ผลเลย กรรมอื่นถึงจะหนักหนาอย่างไร (ยกเว้นครุกรรม) ต้องรอก่อน
ท่านอุปมาเหมือนโคอยู่ในคอก เมื่อเขาเปิดประตู โคตัวแรกที่อยู่ใกล้ประตูย่อมจะออกมาก่อน แม้ว่ามันจะเป็นลูกโค มีกำลังน้อยก็ตาม พ่อโคแม่โคถึงจะตัวโตกว่า มีกำลังกว่า แต่ว่าอยู่ข้างในโน้น ก็ต้องออกทีหลัง ฉันใดก็ฉันนั้น
4) กรรมทำด้วยเจตนาเบา เรียกว่า “กตัตตากรรม” เรียกว่าสักแต่ว่าทำ มิได้ตั้งใจจริงๆ ยกตัวอย่างเช่น จับลูกไก่มาถือแล้วโยนเล่น (เล่นอะไรไม่เล่น) โยนไปโยนมา หลุดมือ ลูกไก่ตกพื้นคอหักตาย
อย่างนี้มิได้เจตนาให้มันตาย เพียงแต่เล่นสนุกเท่านั้น
B. กรรมแบ่งตามหน้าที่ที่ให้ผล มี 4 ประเภท คือ
1) กรรมนำไปเกิด เรียกว่า “ชนกกรรม” กรรมบางอย่างทำหน้าที่นำไปเกิดในภพใหม่ เมื่อพาไปเกิดแล้วก็หมดหน้าที่ เช่นเดียวกับพ่อขับรถพาลูกไปโรงเรียนนั่นแหละ พอไปถึงประตูโรงเรียน ก็หมดหน้าที่ของพ่อ ต่อไปเป็นหน้าที่ของครู พ่อไม่เกี่ยว ส่งลูกแล้ว พ่อจะไปเดินเกะกะๆ เที่ยวบัญชานั่นบัญชานี่ เหมือนอยู่ในบ้านของตัวไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น
2) กรรมหนุนส่งหรือกรรมอุปถัมภ์ เรียกว่า “อุปัตถมภกกรรม” มีกรรมบางอย่างมีหน้าที่คอยหนุน (ทั้งหนุนให้ดีและหนุนให้ชั่วเพิ่มขึ้น) เช่น บางคนเกิดในตระกูลสูง เพราะทำกรรมดีบางอย่างมา ก็มีกรรมอีกอย่างหนุนส่งให้เป็นคนเฉลียวฉลาด อะไรอย่างนี้เป็นต้น
3) กรรมตัดรอน เรียกว่า “อุปฆาตกรรม” มีกรรมบางอย่างคอยตัดรอน หรือทำลาย เช่น บางคนกำลังเจริญรุ่งเรือง ได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง มีหน้ามีตาในสังคม อยู่ๆ ก็ตายเสียนี่ อย่างนี้เรียกว่ามีกรรมตัดรอน
4) กรรมเบียดเบียน เรียกว่า “อุปปีฬกกรรม” มีกรรมบางอย่างไม่ถึงกับตัดรอน แต่มาเบี่ยงเบนทิศทาง หรือทำให้เพลาลง เช่น (ในเรื่องชั่ว) ทำกรรมบางอย่างไว้หนัก ควรจะได้รับโทษหนัก แต่มีกรรมอีกบางอย่างมาช่วยผ่อนให้เบาลง เลยได้รับผลกรรมชั่วเบาลง
C. กรรมแบ่งตามเวลาที่ให้ผล มี 4 ประเภท คือ
) กรรมให้ผลทันตาเห็น เรียก “ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม” คือกรรมที่ทำลงไปแล้วเห็นผลในชาตินี้เลย ยกตัวอย่าง (เรื่องจริงที่เห็นมา) เด็กคนหนึ่งซุกซน ชอบแกล้งเพื่อนโดยวิธีเอานิ้วจี้ที่ทวารหนักอย่างแรง เพื่อนตาย โดยที่ไม่มีใครรู้สาเหตุว่าทำไมถึงตาย พอเด็กคนนี้โตมา วันหนึ่งไปขึ้นต้นไม้เพื่อจะเอาน้ำผึ้ง พลัดหล่นลงมา ถูกตอทิ่มทวารตาย เป็นที่ประหลาดใจแก่ผู้พบเห็นมาก เพราะแกนั่งตายด้วยท่าที่เก๋มาก
2) กรรมให้ผลในภพหน้า เรียกว่า “อุปัชชเวทนียกรรม” คือกรรมบางอย่างไม่สามารถให้ผลทันตาเห็น ก็ต้องรอคิวต่อไปว่ากันในชาติหน้าโน้น
3) กรรมให้ผลในภพต่อๆ ไป เรียกว่า “อปราปรเวทนียกรรม” ได้แก่ กรรมที่ไม่มีโอกาสให้ผลในภพหน้า ก็ต้องรอคิวยาวต่อไปอีก เพราะคิวมันยาว ก็ต้องรอด้วยใจเย็นๆ ว่าอย่างนั้นเถอะ
4) กรรมที่หมดโอกาสให้ผล เรียกว่า “อโหสิกรรม” กรรมบางอย่างรอเท่าไรๆ ก็ไม่มีโอกาสเสียที เพราะเจ้าของคนทำกรรมก็สร้างกรรมใหม่ที่มีผลแรงกว่าอยู่เรื่อยๆ จึงหมดโอกาสให้ผล ก็เลย “เจ๊า” ไปโดยอัตโนมัติ
อย่างกรณีพระองคุลีมาล ทำกรรมชั่วมามากมาย แต่พบพระพุทธเจ้าได้ฟังธรรม บรรลุธรรมเสียก่อน กรรมชั่วเลยเป็นเสมือน “เงื้อดาบค้าง” ฟันไม่ได้ว่าอย่างนั้นเถอะ ท่านอุปมาคนทำกรรมเหมือนเนื้อสมัน กรรมเหมือนหมาไล่เนื้อ หมามันก็จะวิ่งไล่เต็มกำลังของมัน เนื้อสมันก็ยิ่งต้องสปีดฝีเท้าเต็มที่เพื่อหนีเอาตัวรอด ทันเมื่อใดหมาก็ขม้ำเมื่อนั้น แต่ก็มีบางครั้งที่หมาไม่ทัน เลยไม่มีโอกาสได้ขม้ำเนื้อ เนื้อมันก็ปลอดภัยไป นี่แหละเขาเรียกอโหสิกรรม
โฆษณา