19 ก.ค. 2022 เวลา 05:50 • ข่าวรอบโลก
IPEF: ยุทธศาสตร์การค้าใหม่ของสหรัฐฯ
Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
ไบเดนชัดเจนครับว่าจะไม่กลับมาเข้ากลุ่มการค้า CPTPP ที่แต่เดิมโอบามาเคยตั้งขึ้นและทรัมป์ถอนตัวออกไป กลยุทธ์ใหม่ของไบเดนคือตั้งกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจใหม่ชื่อ Indo-Pacific Economic Framework (IPEF) ที่ฉีกแนวของเดิมไปเลย
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2022 ประธานาธิบดีไบเดนได้เยือนญี่ปุ่นและประกาศจัดตั้งกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจใหม่กับ 12 ประเทศในภูมิภาค ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ซึ่งทั้งหมดรวมกันคิดเป็นขนาดเศรษฐกิจถึงร้อยละ 40 ของ GDP โลก
1
กรอบใหม่ IPEF มีจุดเด่นที่แตกต่างจากกรอบการค้าเสรีอื่นๆ ในอดีต ทั้งในเรื่องเนื้อหาและกลไก
1
เรื่องเนื้อหา IPEF ไม่ใช่ข้อตกลงการลดกำแพงภาษีดังเช่นข้อตกลงการค้าเสรีในอดีต เพราะข้อตกลงการลดกำแพงภาษีจำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบของสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ซึ่งในปัจจุบันแทบเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากทั้งสองพรรคการเมืองใหญ่ล้วนต่อต้านการค้าเสรี เพราะมองว่าทำให้งานและธุรกิจไหลออกจากสหรัฐฯ (นี่เป็นสาเหตุที่การกลับมาเข้าร่วม CPTPP ของสหรัฐฯ แทบเป็นไปไม่ได้ในทางการเมือง)
4
หัวใจของ IPEF อยู่ที่ความร่วมมือในการสร้างซัพพลายเชน “สหรัฐฯ เชื่อมโลก” ตามแนวคิด “Friend-shoring” กล่าวคือ สร้างความร่วมมือและมาตรฐานต่างๆ ที่จะอำนวยความสะดวกให้ทุนสหรัฐฯ ขยายการค้าการลงทุนไปที่ประเทศต่างๆ เหล่านี้แทนที่จีน
2
นอกจากนี้ ยังจะมีเรื่องการสร้างมาตรฐานเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลเทรด เช่น มาตรฐานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และมาตรฐานเรื่องข้อมูล และจะมีเรื่องความร่วมมือด้านพลังงานสะอาด และการสร้างข้อตกลงร่วมกันเพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษี การป้องกันการผูกขาด และการต่อต้านคอร์รัปชัน ตามแนวทางการทำธุรกิจแบบโปร่งใสและเป็นธรรมของสหรัฐฯ
1
ส่วนเรื่องกลไกนั้น IPEF ต่างกับ CPTPP เดิม เพราะ IPEF เป็นกรอบความร่วมมือที่หลวมและยืดหยุ่น ตอนที่สหรัฐฯ มาชวน 12 ประเทศร่วมกันจัดตั้งนั้น ความจริงก็คือ ขอยืมเพียงชื่อมาก่อน แต่ทั้ง 12 ประเทศยังไม่ต้องตกลงหรือผูกมัดตัวเองอะไรเลย
1
ทั้งนี้ ในการเจรจาความร่วมมือย่อยๆ ในแต่ละเรื่องในอนาคต ประเทศต่างๆ สามารถเลือกได้ว่าจะเข้าร่วมเจรจาความร่วมมือย่อยเรื่องใด และสุดท้ายจะตกลงร่วมในเรื่องใดบ้าง แตกต่างจากข้อตกลงการค้าเสรีในอดีตอย่าง CPTPP ที่ประเทศสมาชิกต้องเจรจาจนบรรลุความตกลงร่วมกันทุกหัวข้อ และต้องยอมรับความตกลงทั้งฉบับ
1
หากมองในแง่นี้ จริงๆ แล้ว IPEF มีลักษณะที่ใกล้เคียงกับความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ของจีน ซึ่งก็เป็นความร่วมมือกว้างๆ ที่ไม่มีรายละเอียดชัดเจนแต่แรกเช่นเดียวกัน แต่ละประเทศต้องเจรจากับจีนเองรายประเทศ
แต่กรณีของ IPEF อาจแตกต่างจาก BRI ตรงที่ยังเป็นการเจรจาหลายๆ ประเทศร่วมกันในแต่ละเรื่อง โดยจะพยายามสร้างชุดมาตรฐานและกฎเกณฑ์ (ในขณะที่ของจีนไม่สนเรื่องการสร้างมาตรฐานหรือกฎเกณฑ์สักเท่าไร) รวมทั้งยังให้ความสำคัญกับคุณค่าต่างๆ ของสหรัฐฯ เช่น ความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ การต่อต้านการคอร์รัปชัน การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองแรงงาน ฯลฯ
1
ความหลวมและยืดหยุ่นกว่าของ IPEF จึงทำให้พันธมิตรสหรัฐฯ อย่างอินเดีย ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่สามารถตกลงได้ทั้งข้อตกลง RCEP และ CPTPP สามารถเข้าร่วม IPEF ได้ รวมทั้งฟิลิปปินส์ ไทย อินโดนีเซีย ก็ยินดีเข้าร่วม IPEF แม้ก่อนหน้านี้จะไม่สามารถตกลงเข้าร่วม CPTPP ได้
IPEF เป็นยุทธศาสตร์การทูตเศรษฐกิจเชิงรุกของสหรัฐฯ เพื่อตอบสนองข้อวิจารณ์ก่อนหน้านี้ว่า สหรัฐฯ ขาดความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมกับประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะเมื่อทรัมป์ถอนตัวออกจากกลุ่ม CPTPP ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สหรัฐฯ มีแต่มาแสวงความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง จนทำให้หลายคนมักเปรียบเทียบว่า จีนมาพร้อมกับความช่วยเหลือและความร่วมมือมากมายทางเศรษฐกิจ แต่สหรัฐฯ ชอบมาพร้อมคำขอเรื่องการเมืองและความมั่นคง แต่มามือเปล่า
แต่คำวิจารณ์ต่อ IPEF ก็ยังเป็นคำวิจารณ์คล้ายเดิม นั่นก็คือ คำถามถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมและเป็นชิ้นเป็นอันจริงๆ ที่ประเทศต่างๆ จะได้ ไม่ใช่เพียงลมปากหรือการสร้างกระแสถ่วงดุลอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนในภูมิภาค
นายกฯ ลีเซียนลุงของสิงคโปร์บอกว่า ในขณะที่สิ่งที่ทุกประเทศในภูมิภาคต้องการจริงๆ คือการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ ซึ่งก็คือต้องการข้อตกลงการค้าที่ลดกำแพงภาษีและเปิดทางเข้าถึงตลาด แต่ IPEF กลับไม่มีเรื่องนี้ใส่มาตั้งแต่ต้น ทำให้คล้ายๆ เดิมคือ สหรัฐฯ มาพร้อมความต้องการให้แต่ละประเทศปรับมาตรฐานให้สูงและสอดคล้องกับสหรัฐฯ แต่ผลประโยชน์ที่ให้กับประเทศเหล่านี้กลับไม่ชัดเจน
2
ที่ผ่านมาในประเทศไทย มีสองกระแสความคิดเรื่อง IPEF กระแสแรกบอกว่าไทยต้องจริงจังกับเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นจะตกขบวน กระแสที่สองบอกว่า ไทยไม่ควรไปยุ่งและไปร่วม เพราะเป็นความร่วมมือที่มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการสกัดจีนและจะเป็นการชักศึกเข้าบ้าน บางท่านถึงกับวิเคราะห์ไปว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมกลุ่มเป็นนาโต้แห่งเอเชีย
ไทยต้องเข้าร่วม IPEF แน่นอน เพราะจะเห็นได้ว่าการเข้าร่วมนั้นไม่มีอะไรเสียหาย เพราะยังไม่ได้ผูกมัดอะไรสักเรื่อง หากไม่เข้าร่วมสิ จะเท่ากับว่าเราถูกจับไปเทียบเคียงกับพม่า ลาว กัมพูชา ซึ่งเป็นเพียงสามประเทศในภูมิภาคที่ไม่ได้เข้าร่วม IPEF
การเข้าร่วมไม่ใช่การเลือกข้าง เช่นเดียวกับที่ไทยเข้าร่วมใน BRI ของจีนก่อนหน้านี้ ก็ไม่ได้หมายถึงเราเลือกข้างจีน เช่นเดียวกัน การเข้าร่วม IPEF ก็ไม่ได้หมายถึงการเลือกข้างสหรัฐฯ และเราก็สามารถมีจุดยืนที่ชัดเจนได้ ดังเช่นที่สิงคโปร์และอินโดนีเซียมี ว่าเรายินดีร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างกัน แต่เราไม่เห็นด้วยกับความร่วมมือด้านความมั่นคงเพื่อปิดล้อมหรือโดดเดี่ยวใครเป็นการเฉพาะ
4
โฆษณา