23 ก.ค. 2022 เวลา 02:30 • ไลฟ์สไตล์
สําหรับคนที่ไม่เคยเจริญมรณานุสติมาก่อนและใช้ชีวิตโดยประมาท ก็จะคิดถึงสิ่งที่ตัวเองยึดมั่นถือมั่นในระหว่างที่ตัวมีชีวิตอยู่ เช่น ลูกเมีย ทรัพย์สินเงินทอง สิ่งที่ค้างคาใจ หรือห่วงอะไรต่างๆนานา ตอนป่วยหนักใกล้จะตายจิตดวงสุดท้ายจะเป็นไปตามอํานาจของกรรมโดยไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ คือจากไปโดยจะพบความสงบหรือไม่สงบไปสู่ภพภูมิที่ดีหรือไม่ดีเป็นไปตามอํานาจของกรรมทั้งสิ้น โดยครุกรรมหรือกรรมหนักที่เคยทําไว้จะส่งผลก่อนเสมอ รองลงมาคืออาจิณกรรมหรือกรรมที่ทําบ่อยๆซํ้าๆ
แต่จะมีกรรมตัดรอนคืออาสันนกรรม มาตัดรอน
กรรมอื่นๆไม่ให้ส่งผลเช่นกัน จิตดวงสุดท้ายที่ระลึกถึงคุณงามความดี ระลึกถึงบทสวดมนต์ จะนําไปเกิดในสุขคติภูมิแม้จะทำชั่วมามากทั้งชีวิตก็ตามแต่กรรมชั่วไม่ได้หายไปไหนจะตามมาส่งผลภายหลังแน่นอน ( ประเภทเกิดมารวย แล้วอับจนในบั้นปลาย)
เขาจึงให้ผู้ป่วยที่ใกล้ตายในขณะที่สมองยังทํางานนึกถึงแต่สิ่งดีๆ ให้พระมาสวด มีญาติอยู่ใกล้ชิด กําพระเครื่องในมือเป็นต้น เพื่อให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ
จิตดวงสุดท้าย เมื่อร่างกายสมองไม่ทํางานแล้ว
ตอนใกล้ตาย จะไม่มีวันคิดถึงอะไรได้เลย แต่จะเกิดกรรมนิมิตหรือคตินิมิตรเป็นไปตามอํานาจของกรรม แสดงอาการไปตามวิบากของกรรมที่เคยทํามา เช่นทําชั่วชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นประจำก็จะร้องโหยหวนทรมานเหมือนสัตว์ที่ตัวเองฆ่า (อาจิณกรรม) หรือทําบุญกุศลมาทั้งชีวิตหน้าตาก็จะอิ่มเอิบจากไปสู้สุขคติด้วยความสงบเพราะเจริญสติมาโดยตลอด ระลึกถึงความตายอยู่ตลอดเวลาโดยไม่หวั่นไหว โดยมองเห็นความตายเป็นเรื่องของกายสังขาร เป็นธรรมชาติที่มิอาจหลีกเลี่ยง ก็จะใช้ชีวิตโดยไม่ประมาท
ความหมายของกรรม : อ. เสถียรพงศ์ วรรณปก
1. กรรมแบ่งตามความหนักเบามี 4 ประเภท คือ
1) กรรมหนัก เรียกว่า “ครุกรรม” คือ ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้า) กรรมหนักนี้ให้ผลรุนแรง ตกนรกอเวจีนานจนลืมทีเดียว ที่ว่าหนักเพราะให้ผลทันที หลังจากทำแล้วอาจได้รับผลสนองในชาตินี้ทันตาเห็น ตายแล้วดิ่งลงอเวจี
2) กรรมทำจนชิน เรียกว่า “อาจิณกรรม” (หรือบางครั้งเรียก พหุลกรรม) กรรมชนิดนี้เป็นกรรมเบาๆ กรรมจิ๊บจ๊อย แต่ทำบ่อย ทำจนติดเป็นนิสัย ท่านก็ถือว่าเป็นกรรมหนักรองลงมาจากครุกรรม
3) กรรมทำใกล้ตาย เรียก “อาสันนกรรม” บางครั้งเวลานอนรอความตายอยู่ คนเราก็ได้คิดว่าไม่เคยทำบุญทำกุศลอะไรเลย พอคิดอยากทำก็สายไปแล้ว เห็นพระมาเยี่ยมก็ยกมือไหว้พระด้วยจิตอันเลื่อมใส ชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน เพียงแต่ความเลื่อมใสในพระสงฆ์แค่นี้ก็เป็นกรรมดี คือมโนกรรม (กรรมทางใจ) ที่เป็นกุศล อย่างนี้แหละครับ เรียกว่ากรรมทำตอนใกล้ตาย
ท่านว่ากรรมอย่างนี้เมื่อตายไปแล้วจะให้ผลทันที คือ “ลัดคิว” ให้ผลเลย กรรมอื่นถึงจะหนักหนาอย่างไร (ยกเว้นครุกรรม) ต้องรอก่อน
ท่านอุปมาเหมือนโคอยู่ในคอก เมื่อเขาเปิดประตู โคตัวแรกที่อยู่ใกล้ประตูย่อมจะออกมาก่อน แม้ว่ามันจะเป็นลูกโค มีกำลังน้อยก็ตาม พ่อโคแม่โคถึงจะตัวโตกว่า มีกำลังกว่า แต่ว่าอยู่ข้างในโน้น ก็ต้องออกทีหลัง ฉันใดก็ฉันนั้น
4) กรรมทำด้วยเจตนาเบา เรียกว่า “กตัตตากรรม” เรียกว่าสักแต่ว่าทำ มิได้ตั้งใจจริงๆ ยกตัวอย่างเช่น จับลูกไก่มาถือแล้วโยนเล่น (เล่นอะไรไม่เล่น) โยนไปโยนมา หลุดมือ ลูกไก่ตกพื้นคอหักตาย
อย่างนี้มิได้เจตนาให้มันตาย เพียงแต่เล่นสนุกเท่านั้น
2. กรรมแบ่งตามหน้าที่ที่ให้ผล มี 4 ประเภท คือ
1) กรรมนำไปเกิด เรียกว่า “ชนกกรรม” กรรมบางอย่างทำหน้าที่นำไปเกิดในภพใหม่ เมื่อพาไปเกิดแล้วก็หมดหน้าที่ เช่นเดียวกับพ่อขับรถพาลูกไปโรงเรียนนั่นแหละ พอไปถึงประตูโรงเรียน ก็หมดหน้าที่ของพ่อ ต่อไปเป็นหน้าที่ของครู พ่อไม่เกี่ยว ส่งลูกแล้ว พ่อจะไปเดินเกะกะๆ เที่ยวบัญชานั่นบัญชานี่ เหมือนอยู่ในบ้านของตัวไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น
2) กรรมหนุนส่งหรือกรรมอุปถัมภ์ เรียกว่า “อุปัตถมภกกรรม” มีกรรมบางอย่างมีหน้าที่คอยหนุน (ทั้งหนุนให้ดีและหนุนให้ชั่วเพิ่มขึ้น) เช่น บางคนเกิดในตระกูลสูง เพราะทำกรรมดีบางอย่างมา ก็มีกรรมอีกอย่างหนุนส่งให้เป็นคนเฉลียวฉลาด อะไรอย่างนี้เป็นต้น
3) กรรมตัดรอน เรียกว่า “อุปฆาตกรรม” มีกรรมบางอย่างคอยตัดรอน หรือทำลาย เช่น บางคนกำลังเจริญรุ่งเรือง ได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง มีหน้ามีตาในสังคม อยู่ๆ ก็ตายเสียนี่ อย่างนี้เรียกว่ามีกรรมตัดรอน
4) กรรมเบียดเบียน เรียกว่า “อุปปีฬกกรรม” มีกรรมบางอย่างไม่ถึงกับตัดรอน แต่มาเบี่ยงเบนทิศทาง หรือทำให้เพลาลง เช่น (ในเรื่องชั่ว) ทำกรรมบางอย่างไว้หนัก ควรจะได้รับโทษหนัก แต่มีกรรมอีกบางอย่างมาช่วยผ่อนให้เบาลง เลยได้รับผลกรรมชั่วเบาลง
3. กรรมแบ่งตามเวลาที่ให้ผล มี 4 ประเภท คือ
) กรรมให้ผลทันตาเห็น เรียก “ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม” คือกรรมที่ทำลงไปแล้วเห็นผลในชาตินี้เลย ยกตัวอย่าง (เรื่องจริงที่เห็นมา) เด็กคนหนึ่งซุกซน ชอบแกล้งเพื่อนโดยวิธีเอานิ้วจี้ที่ทวารหนักอย่างแรง เพื่อนตาย โดยที่ไม่มีใครรู้สาเหตุว่าทำไมถึงตาย พอเด็กคนนี้โตมา วันหนึ่งไปขึ้นต้นไม้เพื่อจะเอาน้ำผึ้ง พลัดหล่นลงมา ถูกตอทิ่มทวารตาย เป็นที่ประหลาดใจแก่ผู้พบเห็นมาก เพราะแกนั่งตายด้วยท่าที่เก๋มาก
2) กรรมให้ผลในภพหน้า เรียกว่า “อุปัชชเวทนียกรรม” คือกรรมบางอย่างไม่สามารถให้ผลทันตาเห็น ก็ต้องรอคิวต่อไปว่ากันในชาติหน้าโน้น
3) กรรมให้ผลในภพต่อๆ ไป เรียกว่า “อปราปรเวทนียกรรม” ได้แก่ กรรมที่ไม่มีโอกาสให้ผลในภพหน้า ก็ต้องรอคิวยาวต่อไปอีก เพราะคิวมันยาว ก็ต้องรอด้วยใจเย็นๆ ว่าอย่างนั้นเถอะ
4) กรรมที่หมดโอกาสให้ผล เรียกว่า “อโหสิกรรม” กรรมบางอย่างรอเท่าไรๆ ก็ไม่มีโอกาสเสียที เพราะเจ้าของคนทำกรรมก็สร้างกรรมใหม่ที่มีผลแรงกว่าอยู่เรื่อยๆ จึงหมดโอกาสให้ผล ก็เลย “เจ๊า” ไปโดยอัตโนมัติ
อย่างกรณีพระองคุลีมาล ทำกรรมชั่วมามากมาย แต่พบพระพุทธเจ้าได้ฟังธรรม บรรลุธรรมเสียก่อน กรรมชั่วเลยเป็นเสมือน “เงื้อดาบค้าง” ฟันไม่ได้ว่าอย่างนั้นเถอะ
โฆษณา