24 ก.ค. 2022 เวลา 23:55 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
นี่คือภาพถ่ายของกาแล็กซี่ M74 (NGC628) ในช่วงแสงย่านอินฟาเรดระดับกลาง ซึ่งถูกถ่ายโดยกล้อง MIRI อันเป็นหนึ่งในอุปกรณ์บันทึกภาพหลักของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ ก่อนที่นักดาราศาสตร์จะนำข้อมูลมาประมวลผลด้วยการใส่ฟิลเตอร์ 3 สีลงไป เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลออกมาได้ง่ายขึ้น จนกลายภาพที่ชวนต้องมนต์สะกดอย่างที่เราเห็นอยู่ในตอนนี้
โดยเราสามารถสังเกตกลุ่มแก๊สสีดำทมึฬที่อยู่รอบคานกังหันของกาแล็กซี่ M74 ได้อย่างชัดเจน เนื่องจากคลื่นแสงในช่วงอินฟราเรดนั้นสามารถมองเห็นวัตถุที่มีอุณหภูมิต่ำได้เป็นอย่างดี ในขณะที่บางจุดก็มีแสงหลากหลายสีสันสว่างวาบขึ้นอยู่เป็นช่วง ๆ ซึ่งเกิดจากการที่มีดาวฤกษ์ (ดาวที่ส่องแสงสว่างในตนเองคล้ายกับดวงอาทิตย์ของเรา) กำลังก่อตัวถือกำเนิดขึ้นมาอยู่ในบริเวณนั้นอย่างแออัด ทำให้กลุ่มแก๊สไฮโดรเจนได้รับพลังงานมากเสียจนสูญเสียอิเล็กตรอนไปแล้วเกิดการเรืองแสงขึ้นมา
ซึ่งต่างจากบริเวณตอนกลางของกาแล็กซี่ที่อาจแลดูปราศจากฝุ่งผงใด ๆ ปรากฏให้เห็น แต่ความจริงแล้วในบริเวณนั้นมีกลุ่มแก๊สและดาวฤกษ์ขนาดยักษ์ที่เก่าแก่อยู่เต็มไปหมด เพียงแต่ว่าอุปกรณ์กล้อง MIRI ของเจมส์เว็บบ์ไม่สามารถตรวจจับแสงของดาวฤกษ์เหล่านั้นได้เท่านั้นเอง เนื่องจากอยู่ในช่วงคลื่นคนละความถี่กัน
ทั้งนี้หนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เจมส์เว็บบ์ถ่ายภาพกาแล็กซี่ M74 ออกมาได้อย่างสวยงามก็คงจะหนีไม่พ้นตำแหน่งของกาแล็กซี่ M74 เอง ที่ตะแคงหันเข้ามาหาโลกอย่างพอดิบพอดี จนกลายเป็นตัวอย่างกาแล็กซี่ที่มีรูปทรงสมมาตรมากที่สุดเมื่อมองจากพื้นโลกไปโดยปริยาย อีกทั้งนักดาราศาสตร์ยังได้ประเมินไว้ว่ากาแล็กซี่ M74 นั้นประกอบไปด้วยดาวฤกษ์มากกว่า 100,000 ล้านดวง ซึ่งถือว่ามีขนาดเล็กกว่ากาแล็กซี่ทางช้างเผือกของเราเล็กน้อย
โดยในปัจจุบันนั้นเราแทบไม่สามารถสังเกตดาวเคราะห์ที่กำลังโคจรรอบดาวฤกษ์ในกาแล็กซี่อื่นได้แต่อย่างใด (ถึงแม้เราจะมีเจมส์เว็บบ์แล้วก็ตาม) เนื่องจากระยะทางที่กว้างใหญ่มหาศาลระหว่างกาแล็กซี่มากกว่าหลายล้านปีแสง อย่างตัว M74 เองก็ห่างจากเราไปประมาณ 30 ล้านปีแสง นักดาราศาสตร์จึงทำได้แค่ศึกษาธรรมชาติองค์รวมของกาแล็กซี่เท่านั้น
*ดูรูปลงสีต้นฉบับจาก Judy Schmidt ได้ที่ https://flic.kr/p/2nyXpCj
โฆษณา