26 ก.ค. 2022 เวลา 00:22 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
บำบัดพาระบม
วิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่มีวิธีการรักษาอย่างหลากหลายมาก เช่น ยา ก็มีทั้งยากิน ยาทา ยาแปะ ยาดม (ยานัตถุ์) ยาฉีด ไปจนถึงยาเหน็บ ฯลฯ
การรักษาแบบอื่นๆ ก็มีทั้งการผ่าตัด ทั้งที่ใช้มีดผ่าตัดและเลเซอร์ ตลอดไปจนถึงการใช้กัมมันตภาพรังสี เป็นต้น
แต่ยาและการรักษาหลายอย่างก็ทำให้เกิดอาการข้างเคียงแบบแปลกแหวกแนวหรือแม้แต่ฟังดูชวนขบขันสำหรับบางคน แต่น่าจะถือเป็นการบำบัดที่ชวนให้ระทึก ระทม และระบมใจ ... ไม่น้อยสำหรับผู้ป่วยหลายๆ คน
เคยได้ยินชื่อ ไวอะกร้า (Viagra) กันมาบ้างใช่ไหมครับ?
Photo by Michał Parzuchowski on Unsplash
มันคือยาแก้อาการนกเขาไม่ขันของคุณผู้ชาย โดยเฉพาะผู้อาวุโสทั้งหลาย
เมื่อแรกเริ่มเดิมทีนั้น สารเคมี ซิลเดนาฟิล (Sildenafil) นี้ (ไวอะกร้าเป็นชื่อยี่ห้อทางการค้า) ผู้ผลิตตั้งใจจะใช้เป็นยารักษาความดันสูงและอาการปวดเค้นหัวใจ (angina pectoris)
แต่ระหว่างทดสอบระดับคลินิกนั้น พบว่าแม้จะใช้รักษาโรคข้างต้นได้ไม่ดีนัก แต่กลับมีผลข้างเคียงคือทำให้ผู้ป่วยชายหลายรายเกิดการแข็งตัวของอวัยวะเพศได้
บริษัทผู้ผลิตคือ ไฟเซอร์ (Pfizer) จึงเหมือนกับได้พบเหมืองทองแห่งใหม่โดยไม่คาดฝัน จึงจดสิทธิบัตรยาดังกล่าวในปี 1996 และทดสอบจนนำมาใช้เป็นยาได้ในอีกสองปีต่อมา
เมื่อวางขายก็ได้กลายเป็นยารักษาอาการอ่อนปวกเปียกของท่านชายที่ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลายทั่วโลก
มีผู้ประเมินว่ายอดขายไวอะกร้าในปี 2008 อาจสูงถึง 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ!
ยาชนิดนี้มีผลข้างเคียงได้หลายอย่างนะครับ เช่น อาจทำให้เกิดอาการเห็นภาพได้ไม่ชัดหรือกลัวแสง
หนักเข้าไปอีกคือบางคนเห็นทุกอย่างเป็นสีน้ำเงินไปหมด ซึ่งอาจเป็นเช่นนั้นได้นานนับเป็นสัปดาห์ๆ เลยทีเดียว!
อาการข้างเคียงแบบอื่นๆ ที่หนักหนาไม่แพ้กัน คือพบผู้ป่วยที่เกิดอาการ “โด่ไม่รู้ล้ม” องคชาต แข็งตัวค้างไม่เลิก
แบบนี้น่ากลัวมากกว่าน่าดีใจนะครับ ... ว่างั้นไหมครับ ^^"
หรือเกิดการสูญเสียการได้ยินอย่างฉับพลัน และอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จนอาจทำให้หัวใจวายเสียชีวิตได้
ดังนั้น หลายท่านที่อยากไปสวรรค์บนดิน ก็อาจจะได้ไปสวรรค์บนฟ้าแทนก็ได้ครับ!
ยาสยึมกึ๋ยขนานที่สองมีชื่อการค้าว่า แอมเบียน (Ambien) แต่ทางการแพทย์เรียกว่า โซลพิเดม (Zolpidem) เจ้าตัวนี้ใช้เป็นยาระงับประสาท และรักษาอาการนอนไม่หลับ
แต่ผลข้างเคียงแบบที่เกิดขึ้นในคนไข้บางคน ย้ำอีกทีนะครับว่า “บางคน” และน้อยคนมากอีกต่างหาก ก็คือมันช่วยเพิ่มความรื่นรมย์ทางเพศได้
โดยคนดังที่เคยอ้างถึงผลข้างเคียงนี้ก็คือ ราเชล อูจิเทล (Rachel Uchitel) หนึ่งในสาวประจำคอลเล็กชันกิ๊กที่มีอยู่เป็นตับของไทเกอร์ วูดส์
ผลข้างเคียงของยาชนิดนี้ที่น่าสนใจจนต้องนำมาเล่าต่อก็คือ แอมเบียนทำให้ผู้ป่วยบางรายละเมอลุกขึ้นมาทำอะไรต่อมิอะไร ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การทานอาหารหรือแม้แต่ทำอาหาร การพูดคุย การขับรถ
มีรายงานแม้กระทั่งเรื่องถึงการมีเซ็กซ์กัน แต่ผู้ป่วยจะจำอะไรเกี่ยวกับกิจกรรมเหล่านั้นไม่ได้เลย
จนบางคนมองว่า นี่มันอาการของคนถูกสะกดจิตชัดๆ
Photo by Lute on Unsplash
คำอธิบายที่อาจเป็นไปได้สำหรับกรณีนี้ก็คือ เป็นเพราะยาดังกล่าวไปรบกวนกลไกของการเปลี่ยนความจำระยะสั้นให้เป็นความจำระยะยาว
แต่กลับไม่รบกวนระบบอื่นๆ ของร่างกายเลย เรียกว่าคุณอาจจะบาดเจ็บล้มตาย โดยที่ไม่มีคำอธิบายไปให้ยมฑูตหรือยมบาลเลยว่าตายเพราะอะไร
ยังมีวิธีการรักษาที่ส่งผลข้างเคียงแบบพิลึกพิลั่นหนักขึ้นไปอีก นั่นก็คือวิธีการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคลมชัก (epilepsy) หรือ “โรคลมบ้าหมู” แบบที่ต้องผ่าตัดสมอง
ปกติยาที่ใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคลมชักนี่ก็มีอยู่นะครับ แต่ในรายที่หนักหนาสาหัสนั้น บางครั้งแพทย์ก็อาจใช้วิธีผ่าตัดเส้นใยที่เชื่อมต่อสมองซีกซ้ายกับซีกขวาที่เรียกว่า คอร์ปัส คอลลอซัม (corpus callosum) ทิ้ง ซึ่งรายงานต่างๆ ก็ว่าวิธีนี้ได้ผลดีมาก
แต่น่าเสียดายว่ามีผลข้างเคียงประหลาดตามมาด้วย คือทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า กลุ่มอาการมือต่างดาว (Alien hand syndrome) ซึ่งมีอาการพิลึกพิลั่นมาก
กล่าวคือหลังจากผ่าตัด มือข้างที่ไม่ถนัดของผู้ป่วยจะทำงานราวกับมีชีวิตจิตใจเป็นของตัวเองขึ้นมา!!!
บางครั้งก็เรียกโรคดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษว่า Dr. Strangelove syndrome ตามชื่อภาพยนตร์ของผู้กำกับคนดัง สแตนลีย์ คูบริก ซึ่งออกฉายในปี 1964 ที่ตัวเอกเป็นโรคดังกล่าว
ยังมีภาพยนตร์ฮอลลีวูดตามมาอีกหลายเรื่องที่ตัวละครในเรื่องเป็นโรคนี้
ตัวอย่างที่ชวนขันก็คือ ผู้ป่วยรายหนึ่งที่เป็นผู้หญิงพบว่า ยามที่เธอต้องการสูบบุหรี่และใช้มือขวา (ที่เป็นมือข้างที่ถนัด) หยิบบุหรี่มาคาบที่ปาก แต่ขณะที่กำลังจะจุดไฟแช็กนั่นเอง มือซ้าย (ซึ่งเป็นข้างที่ไม่ถนัด) ก็กลับหยิบเอาบุหรี่โยนทิ้งไปก่อนซะงั้น
ครั้นเธอเปลี่ยนวิธีหันมาใช้มือต่างดาวข้างซ้ายของเธอไปหยิบไฟแช็กแทน มันก็ไม่ยอมจุดไฟที่บุหรี่ แต่กลับพยายามจะจุดไฟที่เสื้อผ้าของเธอซะงั้น!
ผู้ป่วยสาวอีกคนขณะที่กำลังคุยกับแพทย์อยู่นั้น มือต่างดาวของเธอก็จัดการแกะกระดุมเสื้อผ้าของเธอโดยที่เธอไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ จนกระทั่งคุณหมอที่คุยอยู่ด้วยชี้ให้ดู เธอจึงใช้มือข้างถนัดรีบกลัดกระดุมคืนกลับไป
แต่มือต่างดาวของเธอยังคงไม่ยอมแพ้ และเริ่มแกะกระดุมอีกครั้งแข่งกับอีกมือที่กำลังติดกลับไปอย่างขะมักเขม้น
ถ้าเปลี่ยนมาเป็นที่เมืองไทย หากผู้ป่วยไม่ถูกมองว่าบ้า ก็คงต้องมองกันว่าผีเข้าเป็นแน่แท้!
บทความนี้รวมอยู่ในหนังสือ "อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก", สนพ.มติชน
โฆษณา