25 ก.ค. 2022 เวลา 15:01 • ข่าวรอบโลก
เปรียบมวย 2 ตัวเต็งนายกฯอังกฤษคนใหม่ "ซูแนค VS ทรัสส์"
1
อังกฤษได้คู่ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือนายริชี ซูแนค และนางลิซ ทรัสส์ ซึ่งทั้งคู่จะได้รับการลงคะแนนเสียงจากสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยม ใครชนะการโหวตก็จะได้เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่พ่วงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” แทนนายบอริส จอห์นสัน ลุ้นผล 5 ก.ย.นี้
ช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคอนุรักษ์นิยม ของ อังกฤษ ได้เสร็จสิ้นการลงคะแนนเลือกผู้สมัคร 2 คนสุดท้ายที่จะเข้าสู่ การแข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค แล้ว โดย นายริชิ ซูแนค อดีตรัฐมนตรีคลังอังกฤษ มาเป็นตัวเต็งเบอร์ 1 ได้คะแนนเสียงสูงสุด (137 คะแนน) จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคอนุรักษ์นิยมจำนวน 358 คนที่เป็นผู้ลงคะแนน ตามมาด้วยนางลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศ (113 คะแนน) ขณะที่นางเพนนี มอร์ดอนท์ รัฐมนตรีการค้า ได้รับคะแนนน้อยที่สุด (105 คะแนน) ส่งผลให้มอร์ดอนท์ถูกคัดออกจากการแข่งขัน
1
หลังจากนั้น ทั้งนายซูแนคและนางทรัสส์ ก็ได้เริ่มการรณรงค์หาเสียงเพื่อเรียกคะแนนจากบรรดาสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมทั่วประเทศจำนวนราว 200,000 คน และ จะมีการประกาศรายชื่อผู้ชนะในวันที่ 5 ก.ย.นี้ นั่นหมายถึงผู้ชนะจะได้เป็นผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมคนใหม่แทนนายบอริส จอห์นสัน และจะเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่โดยอัตโนมัติ เนื่องจากพรรคอนุรักษ์นิยมครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ
ไม่ว่าจะเป็นซูแนคหรือทรัสส์ ผู้ชนะจะได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของอังกฤษในรอบ 6 ปี แต่หากนายซูแนคประสบชัยชนะ มันก็จะมีความหมายพิเศษขึ้นมาอีกหน่อย คือ เขา จะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนแรกที่มีเชื้อสายอินเดีย แต่หากชัยชนะเป็นของนางทรัสส์ เธอ ก็จะก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ของประเทศอังกฤษ ต่อจากนางมาการ์เร็ต แธตเชอร์ และนางเทเรซา เมย์
ด้าน YouGov ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่า นายริชี ซูแนค อดีตรัฐมนตรีคลังอังกฤษ อาจจะพ่ายแพ้ต่อนางลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ในการลงคะแนนเลือกหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมคนใหม่จากสมาชิกพรรคทั่วประเทศ แม้ว่าเขาจะมีคะแนนนำเป็นอันดับ 1 ในการลงคะแนนทุกรอบของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคอนุรักษ์นิยมก็ตาม
1
ทั้งนี้ YouGov เปิดเผยว่า จากการสำรวจสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมทั่วอังกฤษ พบว่า นางทรัสส์จะได้รับคะแนนเหนือกว่านายซูแนค 54 ต่อ 35 ที่เป็นเช่นนี้ เพราะที่ผ่านมา นายซูแนคมีความเห็นคัดค้านการปรับลดอัตราภาษี โดยมองว่าภารกิจสำคัญของรัฐบาลคือการสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ นอกจากนี้ เขายังถูกวิพากษ์วิจารณ์ผลงานระหว่างที่ครองตำแหน่งรัฐมนตรีคลังภายใต้การนำของนายกฯ บอริส จอห์นสันด้วย
1
ริชี ซูแนค ได้รับกาารโหวตเป็นนักการเมืองเจ้าเสน่ห์ที่สุดคนหนึ่งของอังกฤษ ภรรยาของเขาก็ร่ำรวยระดับอภิมหาเศรษฐี
ประชาชนยังมีความไม่พอใจต่อนายซูแนคเนื่องจากเขาได้เข้าร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ที่บ้านพักนายกรัฐมนตรี ขณะที่อังกฤษมีการประกาศมาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19
เปรียบมวย “ซูแนค vs ทรัสส์” นโยบายและผลงานที่ผ่านมา
"ซูแนค" ย้ำแก้เงินเฟ้อเป็นเป้าหมายแรกหากได้นั่งเก้าอี้นายกฯ ส่วน"ทรัสส์" ผุดแคมเปญสร้างเขตการลงทุนใหม่
นายริชี ซูแนค อดีตรัฐมนตรีคลังอังกฤษ ซึ่งเป็นตัวเต็งอันดับหนึ่ง เล็งเป้าหมายแก้ปัญหาเงินเฟ้อเป็นอันดับแรกหากได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ไม่ใช่การลดหย่อนภาษี เหมือนอย่างที่คู่แข่งหลายคนเสนอในการแข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคฯ แทนนายบอริส จอห์นสัน
"ผมคิดว่า สิ่งสำคัญต่อเศรษฐกิจอันดับแรก คือการแก้ปัญหาภาวะเงินเฟ้อ โดยไม่ให้ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง" นายซูแนคให้สัมภาษณ์กับบีบีซี สื่อใหญ่ของอังกฤษ และยังกล่าวด้วยว่า "ผมจะพิจารณาการลดหย่อนภาษีในรัฐสภา แต่ก็จะทำอย่างรับผิดชอบ เพราะไม่ต้องการทำอย่างนั้นเพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง ผมจะต้องชนะเลือกตั้งก่อนแล้วค่อยลดหย่อนภาษีภายหลัง"
ซูแนคยังปฏิเสธความเห็นที่หลายคนมองว่า ตัวเขานั้นร่ำรวยเกินไปที่จะบริหารประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย โดยให้เหตุผลว่า เขาเองมีประสบการณ์ในการรับมือความท้าทายหนัก ๆ มาแล้ว
ด้านนางลิซ ทรัสส์ ซึ่งปัจจุบันยังครองตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ได้ผุดแคมเปญสร้างเขตการลงทุนใหม่ โดยเมื่อวานนี้ (24 ก.ค.) เธอได้นำเสนอแผนการเพื่อสร้างเขตการลงทุนที่มีข้อบังคับต่ำและการสร้างเมืองท่าปลอดภาษีมากขึ้น ซึ่งนับเป็นการยกระดับแคมเปญหาเสียงของเธอ เพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่
นางทรัสส์ระบุว่า นโยบายเศรษฐกิจของเธอจะเน้นไปที่การกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นและอาจทำให้เศรษฐกิจถดถอยได้ ดังนั้น หากเธอได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่ เธอจะทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อสร้างสถานที่พัฒนาใหม่เพื่อให้เป็นเขตการลงทุน หรือสิ่งที่ทีมงานของเธอระบุว่าเป็น "ท่าเรือปลอดภาษีเต็มรูปแบบ"
เขตการลงทุนดังกล่าวจะมีภาระทางภาษีต่ำเพื่อขับเคลื่อนการลงทุนและการก่อสร้าง ลดข้อกำหนดด้านวางแผนและมีกฎระเบียบที่ออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับเขตดังกล่าวเพื่อส่งเสริมบรรดา "อุตสาหกรรมมูลค่าสูง" เช่น ปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น
ส่วน ประเด็นเกี่ยวกับนโยบายคนเข้าเมือง ตัวเต็งทั้งสองคนรับปากว่าจะต่อสู้กับปัญหาผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย และสนับสนุนมาตรการส่งผู้ลักลอบเข้าเมืองไปยังประเทศรวันดา โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (24 ก.ค.) ผู้สมัครทั้งสองคนต่างกล่าวถึงแผนสนับสนุนมาตรการส่งตัวผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายไปยังรวันดา แม้ว่าเมื่อเดือนที่แล้ว ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป (European Court of Human Rights - ECHR) ได้มีคำสั่งสกัดเที่ยวบินสำหรับผู้ลักลอบเข้าเมืองเที่ยวแรกที่จะเดินทางไปรวันดาแล้ว
สองตัวเต็งรอบสุดท้ายในการชิงตำแหน่งนายกฯอังกฤษคนใหม่ ริชี ซูแนค (ซ้าย) และลิซ ทรัสส์ (ขวา)
ทรัสส์ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรมว.ต่างประเทศของอังกฤษระบุว่า เธอต้องการเห็น "นโยบายรวันดา" เดินหน้าต่อไป ตลอดจนการสอบถามไปยังประเทศอื่นที่ต้องการทำข้อตกลงความร่วมมือในลักษณะเดียวกับรวันดาด้วย รวมถึงการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ป้องกันตามแนวพรมแดนของอังกฤษอีก 20% และเพิ่มความเข้มแข็งของกฎหมายสิทธิพลเมืองของอังกฤษ
ขณะที่ซูแนค ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีคลัง ให้สัมภาษณ์เดอะ ซัน (The Sun) สื่อท้องถิ่นว่า นโยบายควบคุมคนเข้าเมืองจะเป็น “1 ใน 5 นโยบายฉุกเฉิน” และหากเขาได้เป็นนายกฯ ปัญหานี้จะได้รับการแก้ไขภายใน 100 วันแรกที่เขาเข้ารับตำแหน่ง พร้อมยืนยันว่า หากประเทศไหนไม่ให้ความร่วมมือในการตัดปัญหาผู้ลักลอบเข้าเมือง เขาจะทบทวนความสัมพันธ์กับประเทศนั้น ๆ ทั้งในเรื่องความช่วยเหลือ การค้าและการออกวีซ่า โดยทันที
ประวัติ "ซูแนค" นักการเมืองร่ำรวยระดับมหาเศรษฐี
ริชี ซูแนค ชนะการเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมัยแรกในเดือนพ.ค. 2015 และจัดเป็นหนึ่งใน ส.ส. ที่ร่ำรวยที่สุดของอังกฤษ ภรรยาของเขาชื่อ "อัคชาตา เมอร์ตี" เป็นลูกสาวของนายนารายานา เมอร์ตี ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท อินโฟซิส’ (Infosys) บริษัทซอฟต์แวร์ที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย ทั้งคู่พบรักกันระหว่างเรียนอยู่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
2
พ่อตาของริชี เจ้าของฉายา ‘บิล เกตส์ แห่งอินเดีย’ เป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีที่มั่งคั่งที่สุดในชมพูทวีป ส่วนภรรยาของเขาแม้จะมีหุ้นใน Infosys ไม่ถึง 1% แต่ก็คิดเป็นมูลค่าถึง 700 ล้านปอนด์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มากกว่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ประมุขของอังกฤษที่มีทรัพย์สินส่วนพระองค์ทั้งหมดเพียง 365 ล้านปอนด์ (ข้อมูล ณ ปี 2022)
ความร่ำรวยของริชีและภรรยา ทำให้ทั้งคู่ตกเป็นเป้าโจมตีทางการเมือง โดยเฉพาะประเด็นที่ถูกกล่าวหาว่าพยายามหลบเลี่ยงภาษีด้วยการทำธุรกรรมผ่านดินแดนที่เป็นสวรรค์ของการฟอกเงิน อาทิ หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ไอส์แลนด์ และเคย์แมน ไอส์แลนด์ อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่ปฏิเสธว่าไม่เคยทำผิดกฎหมาย แต่ต่อมาภรรยาของเขา ตัดสินใจช่วยสามีลดแรงกดดันทางการเมือง ด้วยการประกาศยอมจ่ายภาษีเงินได้ในธุรกิจต่างประเทศให้กับรัฐบาลอังกฤษ แม้ตามกฎหมายเธอไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้น เพราะถือสัญชาติอินเดีย และไม่ใช่พลเมืองของอังกฤษ
2
นอกจากความร่ำรวยแล้ว ซูแนคยังถูกจัดเป็นนักการเมืองเจ้าเสน่ห์ โดยเขาได้รับคะแนนโหวตจากเหล่าสตรีอังกฤษในปี 2020 ที่โหวตให้เขาเป็น ส.ส. ชายที่เซ็กซี่ที่สุดของอังกฤษ และได้ฉายา ‘ริชีพ่อรูปหล่อ’ โดยได้เสียงโหวตมากกว่า ‘เซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์’ (Sir Keir Starmer) หัวหน้าพรรคแรงงาน ที่ติดโผนักการเมืองหน้าตาดีอันดับที่ 2
เส้นทางการเมืองของริชีถือว่าเติบโตอย่างรวดเร็ว หลังชนะการเลือกตั้ง ส.ส. สมัยแรกไม่ถึง 3 ปี เขาได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการรัฐสภาในยุคของนายกฯ เทเรซา เมย์ จากนั้นเดือนก.พ. 2020 นายกฯ คนต่อมาคือนายบอริส จอห์นสัน ก็แต่งตั้งให้ซูแนคเป็นรัฐมนตรีคลังในวัยเพียง 39 ปี ทำให้ริชีกลายเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนี้ที่อายุน้อยที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ
ลิซ ทรัสส์
ประวัติ "ลิซ ทรัสส์"
ลิซ ทรัสส์ หรือ เอลิซาเบธ ทรัสส์ วัย 46 ปี ได้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ หลังได้รับการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 ทำให้เธอกลายเป็นผู้หญิงคนที่ 2 ที่ดำรงตำแหน่งนี้ รองจากนางมาร์กาเร็ต เบคเก็ตต์ ที่เคยอยู่ในตำแหน่งช่วงปี 2549-2550
ทรัสส์เข้ามารับตำแหน่งแทนที่นายโดมินิก รับบ์ ซึ่งถูกโยกไปเป็นรัฐมนตรียุติธรรมและรองนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกันทรัสส์ ยังควบตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสตรีและความเท่าเทียมต่อไปด้วย
ก่อนหน้าเข้าสู่เส้นทางการเมืองทรัสส์ทำงานเป็นนักบัญชีและนักเศรษฐศาสตร์ ต่อมาเธอได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นในลอนดอนในปี 2549 และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2553
1
เธอได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ที่นิยมการเมืองฝ่ายซ้าย และเป็นประธานของพรรคเสรีประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพรรคที่สนับสนุนสหภาพยุโรป ทรัสส์ดำรงตำแหน่งหลายบทบาทในรัฐบาล และเป็นผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ตัวยงเธอสนับสนุนให้อังกฤษอยู่กับสหภาพยุโรปต่อไปในการลงประชามติ Brexit เมื่อปี 2559 แต่ต่อมาเธอบอกว่า ได้เปลี่ยนใจหลังจากนั้น
สำหรับการครองความเป็นตัวเต็งนั้น แม้ซูแนคจะนำมาในช่วงแรก ๆ จนแม้กระทั่งในการลงคะแนนคัดเลือกสองคนสุดท้ายเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เขาก็ยังได้คะแนนเสียงจากเพื่อนร่วมพรรคมากกว่าทรัสส์ แต่เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (23 ก.ค.) ซูแนคยอมรับว่า ตอนนี้เขาเป็น"มวยรอง" หลังจากที่ผลสำรวจคะแนนนิยมล่าสุดชี้ให้เห็นว่า นางทรัสส์มีคะแนนนำโด่งในหมู่สมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมซึ่งจะลงคะแนนเสียงก่อนวันที่ 5 ก.ย.นี้ เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ แทนนายจอห์นสัน
ทั้งคู่กำลังชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่แทนที่นายบอริส จอห์นสัน ที่ลาออกท่ามกลางความไม่พอใจของประชาชนและสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมเกี่ยวกับการแต่งตั้งนายคริส พินเชอร์ ให้ดำรงตำแหน่งรองประธานวิปรัฐบาล แม้เขาจะเคยมีเรื่องอื้อฉาวทางเพศ รวมทั้งการที่รัฐบาลอังกฤษจัดงานเลี้ยงสังสรรค์หลายครั้งที่บ้านพักนายกรัฐมนตรีในช่วง 2 ปีที่อังกฤษมีการประกาศมาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19
1
โฆษณา