29 ก.ค. 2022 เวลา 09:07 • ความคิดเห็น
The Great Unretirement ปรากฏการณ์หวนคืนสู่การทำงานของวัย(ควร)เกษียณ
ข้อมูลและงานวิจัยหลายแห่งจากยุโรปและสหรัฐฯ ได้ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของการไม่เกษียณอายุ (Unretirement) ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน โดยคน วัย (ควร) เกษียณ จำนวนมากกำลังหางานทำอีกครั้งด้วยเหตุผลจากปัจจัยด้านต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน
ปรากฏการณ์ดังกล่าวฉายภาพปัญหาและบริบทใหม่ของสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศที่มีความเจริญมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และในขณะเดียวกันที่กำลังเดินเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย (Aging Society) สะท้อนให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงานที่ขยายกว้างขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางค่านิยมและการกำหนดความหมายใหม่ ๆ ของการเกษียณอายุที่ไม่ใช่สถานะที่ถาวรอีกต่อไป
>>> อะไรคือ Unretirement-การไม่ยอมเกษียณ ?
Unretirement คือ การที่ผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณอายุหรือผู้ที่ใกล้จะเกษียณอายุเลือกที่จะเป็นส่วนหนึ่งของแรงงานหรือยังคงทำกิจกรรมที่สร้างรายได้และกำไรต่อตนเองต่อไป เป็นคำตรงข้ามกับ การเกษียณอายุ (Retirement) ที่ถูกกล่าวว่าเป็นแนวคิดแบบเก่าที่หมายถึงการถอนตัว ซึ่งอธิบายถึงช่วงเวลาหนึ่งที่ผู้คนสิ้นสุดการจ้างงานหรือต้องลดกิจกรรมในหน้าที่การงานลง
Chris Farrell ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน นักข่าวสายเศรษฐกิจจากบลูมเบิร์ก นักเขียนหนังสือที่ว่าด้วยการไม่เกษียณอายุ Unretirement: How Baby Boomers are Changing the Way We Think About Work, Community, and the Good Life (2014) โดยเชื่อว่ามนุษย์ต้องการค้นพบความหมายของชีวิตในแง่มุมใดมุมหนึ่งและมีแรงบันดาลใจในการทำงานอยู่เสมอ
เขาได้นำเสนอแนวคิดที่ว่าสังคมกำลังเข้าใกล้การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกของเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง และเชื่อว่าวัยเบบี้บูมเมอร์มีสุขภาพที่ยืนยาวกว่าที่เคย กำลังค้นพบกับการขยายชีวิตด้านการทำงานของตน ไม่ว่าจะด้วยการเปลี่ยนอาชีพใหม่ การเป็นเจ้าของกิจการ การเป็นอาสาสมัครทำงานเพื่อสังคม ซึ่งรายได้ ประสบการณ์และการตกผลึกทางความคิดของกลุ่มนี้ จะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในทศวรรษหน้า
อย่างไรก็ตามแนวคิดเรื่องการไม่กษียณอายุไม่ได้พึ่งเกิดขึ้น โดยจำนวนคนที่ทำงานเกินวัยเกษียณนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 โดยในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ "Unretirement" ได้แพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ
ในหลายสังคมทั่วโลกโดยเฉพาะยุโรปและอเมริกา การค้นหาคำว่า "กลับไปทำงานหลังเกษียณ" บน Google เพิ่มขึ้น 200% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ในสหรัฐอเมริกาพนักงานราว 20% ที่ถือว่าอยู่ในวัยเกษียณยังคงอยู่ในระบบ ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้นสองเท่าจากตัวเลขเดียวกันในปี 1985 และล่าสุดในปี 2017 ผู้ที่มีอายุ 65-69 ปี เลือกกลับมาทำงาน ถึง 32% มากกว่า 22% จากปี 1994 บางส่วนที่เลือกยืดอายุการเกษียณจนถึงกระทั่งถึงจุดที่บริษัทต้องตัดสินใจเลิกจ้างในที่สุด
ขณะเดียวกันในประเทศอังกฤษ จำนวนผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปีที่ทำงานเต็มเวลาหรือนอกเวลาเพิ่มขึ้นเท่าตัวในทศวรรษที่ผ่านมาเกือบครึ่งล้านคน แตะระดับสูงสุดที่ 497,946 ในไตรมาสแรกของปี 2019 เพิ่มขึ้น 135% ตั้งแต่ปี 2009 มีอัตราการจ้างงานสำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าระหว่างปี 1993 ถึง 2018 เช่นเดียวกัน
โดยล่าสุด Office for National Statistics (ONS) สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยข้อมูลเกี่ยวกับสัญญาณ การไม่ยอมเกษียณครั้งใหญ่ จากทำการสอบถามผู้ที่มีอายุระหว่าง 50-70 ปี จำนวน 12,000 คน ซึ่งพบว่าหนึ่งในสามของผู้ที่มีอายุระหว่าง 50-64 ปี และ 1 ใน 10 ของผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเห็นตรงกันในเรื่องการกลับไปทำงาน
แนวโน้มนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากโพลล่าสุดของสมาชิกที่เกษียณอายุของ Rest Less แพลตฟอร์มดิจิทัลคอมมูนิตี้ยอดนิยมในอังกฤษสำหรับผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ออกมาเปิดเผยข้อมูลเช่นเดียวกันว่า 32% ของสมาชิกในคอมมูนิตี้กำลังพิจารณากลับไปทำงานอีกครั้งและเกือบ 70% ของกล่าวว่าพวกเขา “เลือกไม่เกษียณ” ด้วยเหตุผลทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่การแพร่ระบาดลดลงยิ่งทำให้ผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี กลับมาทำงานหลังจากออกจากงานไปถึง 48%
>>> ผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่สูงขึ้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยเรื่องเงิน เป็นเหตุผลหลักให้วัยเกษียณบางคนต้องกลับไปทำงาน ปัจจัยดังกล่าวสร้างความกังวลอย่างมีนัยสำคัญต่อการรับรู้เกี่ยวกับชีวิตและรายได้หลังเกษียณในอนาคต เพราะพวกเขาไม่สามารถวางแผนทางการเงินได้อย่างแน่นอนอีกต่อไป
แผนการเกษียณอายุที่อดีตไม่ได้คำนึงถึงการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่และค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นในรอบหลายทศวรรษ ยากที่จะคาดการณ์และส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีรายได้คงที่ และยังเกี่ยวข้องกับราคาที่อยู่อาศัยและการลงทุนด้านอื่นที่ลดลง ส่งผลให้เงินออมที่มีอยู่เริ่มเป็นปัญหา เงินบำนาญไม่ครอบคลุมค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น และถึงแม้ว่าบางรายจะวางแผนทางการเงินหลังเกษียณก็ไม่อาจต้านทานสถานการณ์ในช่วงนี้ได้
ตัวเลขกำลังซื้อที่ลดลงทุกเดือนสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดต่ำลงภายในประเทศเป็นประวัติการณ์ มากไปกว่านั้นในบางประเทศที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐ ตัวอย่างเช่น อังกฤษที่พึ่งประกาศระงับระบบบำนาญของรัฐเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบต้องหาวิธีสร้างรายได้เพิ่มเติม
>>> ความต้องการแรงงานที่เพิ่มขึ้นหลัง COVID-19
อย่างไรก็ตาม นอกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจแล้ว ข้อมูลบางแห่งนำเสนอให้เห็นว่า ปรากฏการณ์ Unretirement ยังเกี่ยวข้องกับอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นในโควิด-19 ซึ่งหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เบาบางลง ตลาดแรงงานกลับมาแข่งขันกันอย่างเข้มข้น เพราะการฟื้นตัวของธุรกิจ ทำให้ความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ดึงดูดให้วัยเกษียณอายุจำนวนมากเห็นโอกาสในการกลับมาทำงานอีกครั้ง
ข้อมูลจาก Indeed Hiring Lab Economic Research ในสหรัฐฯ ระบุว่า ในปี 2020 อัตรา ‘Unretirement Flow’ หรือวัยเกษียณอายุกลับมาทำงานอยู่ที่ 2.1% และค่อยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2021 ถึง 3.2% ในเดือนมีนาคม 2022 แต่ถ้าหากพิจารณาแล้ว กราฟแสดงให้เห็นว่าแม้กระทั่งก่อนเกิดโรคระบาด กลุ่มคนในวัย(ควร) เกษียณจำนวนมากกลับสู่กระบวนการจ้างงานอีกครั้ง
"การเกษียณอายุอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงซึ่งหมายถึงการสิ้นสุดของงานที่ได้รับค่าจ้าง และ เข้าสู่ช่วงเวลาพักผ่อนที่แท้จริง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง ผู้คนเกษียณอายุในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หรือแม้กระทั่งยังไม่ทันเกษียณก็กลับไปทำงานที่ได้รับค่าแรงหลังเกษียณอีกครั้ง และส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายในห้าปีหลังเกษียณด้วยซ้ำ"
>>> ทัศนคติในการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย
นอกจากนี้ ข้อถกเถียงที่ว่าผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจอาจจะไม่ใช่ปัจจัยหลักนั้นมีความน่าสนใจ เพราะถึงแม้ว่าค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจะสร้างความยากลำบากสำหรับผู้ที่มีรายได้คงที่จริง แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้แล้วในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงิน ซึ่งในช่วงนั้นอัตราเงินเฟ้อจะไม่ใกล้เคียงกับระดับที่เป็นอยู่ในขณะนี้ก็ตาม
ทำให้มีการนำเสนอถึงปัจจัยที่เกี่ยวกับมุมมองและทัศนคติส่วนบุคคล เช่น ความเบื่อหน่ายหรือความทะเยอทะยานในการแสวงหาเพื่อเติมเต็มชีวิต บางคนการกลับมาทำงานเพราะความเบื่อหน่ายที่ต้องอยู่บ้านและหงุดหงิดกับความรู้สึกแค่นั่งเฉยๆ หรือบางคนเคยชินกับการทำงานและยังคงมีความปรารถนาในหน้าที่การงาน "ทำงานเพื่อกระตุ้นจิตใจ"
การมีงานทำสำหรับบางคนช่วยให้มีความกระฉับกระเฉงทั้งทางร่างกายและจิตใจ สร้างกิจกรรมที่มีความหมาย ทำให้รู้สึกเติมเต็ม รู้สึกชีวิตมีความหมายและสนุกสนาน
การวิจัยจาก RAND ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า การเกษียณอายุเป็นแนวคิดที่ลื่นไหลและด้วยเหตุผลหลายประการ สังคมกำลังกำหนดความหมายของการเกษียณอายุใหม่
จากเดิมที่คนๆ หนึ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย หางานทำ ไปทำงานและท้ายที่สุดก็เกษียณอายุ ซึ่งการตัดสินใจทำงานของวัยเกษียณนั้นมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคล เช่น ผู้ที่ตัดสินใจทำงานต่อเพราะมีเหตุผลด้านการเงิน มักจะใช้เวลาทำงานมากกว่าเดิมและจะแสวงหาเวลาเพื่อทำงานต่อไปให้มากที่สุด เมื่อเทียบกับผู้ที่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มทักษะหรือยังสนุกกับสายงาน เงินเดือนและชั่วโมงการทำงานอาจไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่สำหรับพวกเขา เป็นต้น
หากใครที่เคยดูภาพยนตร์เรื่อง The Intern ที่นำแสดงโดย Anne Hathaway และ Robert De Niro นี่อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน ภาพยนตร์นำเสนอเรื่องราวของ Ben Whittaker De Niro ที่เบื่อหน่ายชีวิตวัยเกษียณและตัดสินใจสมัครฝึกงานในบริษัทอีกครั้ง ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอให้เห็นถึงแนวคิด Reverse Mentoring ของวัยเก๋าที่กลับไปทำงานและหลายมุมมองเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์และความคิดความรู้สึกของวัยเกษียณอายุ
>>> The Great Unretirement ปรากฏการณ์หวนคืนสู่ตลาดแรงงานของวัย(ควร)เกษียณ
ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีและสุขภาพที่ยืนยาวขึ้น นอกจากนี้ นวัตกรรมการสื่อสารและเทคโนโลยีที่ทำให้สามารถทำงานจากที่ใดก็ได้ Hybrid-Workplace แนวทางปฏิบัติในการทำงานที่ยืดหยุ่นขึ้นในปัจจุบัน ทำให้การทำงานง่ายสำหรับวัยเกษียณอายุมากขึ้น สร้างตัวเลือกที่มากขึ้นสำหรับบริบทของคนวัยนี้ การทำงานทางไกลที่ไม่สะดวกเดินทาง แม้แต่การทำงานนอกเวลาที่ไม่จำเป็นต้องทำงานเต็มเวลาหรือตลอดทั้งสัปดาห์ทำงาน
เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้หลายท่านอาจมีมุมมองที่ชัดเจนขึ้นต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว หลายคนอาจมองว่าการไม่เกษียณอายุเป็นเรื่องเชิงลบ เพราะวัยนี้ควรได้รับการพักผ่อนไม่ใช่กลับมาทำงานเลี้ยงชีพ
ในส่วนของผู้เขียนเองมองว่าเหตุผลของ "การไม่ยอมเกษียณ" เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาแล้วแต่บุคคล ซึ่งปรากฏการณ์นี้ต้องพูดคุยกันลึกซึ้งไปถึงการเปลี่ยนแปลงของทางค่านิยมด้วย ปัจจุบันผู้คนให้ความหมายของความต้องการในบั้นปลายชีวิตที่แตกต่างกัน นอกจากนี้หลายประเทศผู้สูงวัยถูกมองว่าเป็นภาระของวัยหนุ่มสาว เป็นภาระของภาครัฐที่ต้องดูแล ซึ่งในความเป็นจริงพวกเขาบางส่วนถูกทิ้งค้างอยู่ในระบบ
ซึ่งจากข้อมูลหลายฉบับทั่วโลกแสดงให้เห็นว่าผู้สูงวัยเหล่านี้ต้องการได้รับค่าจ้างหรือได้ทำงานเล็กๆน้อยๆ หากเขามีลู่ทางและมีสุขภาพที่แข็งแรงเพียงพอ
ในระยะยาว 'Unretirement' อาจเข้ามาช่วยในการขยายตลาดงาน อาจเป็นแนวทางที่ลดความตึงเครียดภายในสังคมทั้งด้านการจัดสรรสวัสดิการ การเตรียมรับมือสังคมผู้สูงอายุ ปัญหาช่องว่างของตลาดแรงงาน ความกดดันจากความคาดหวังระหว่างช่วงวัย และอาจเป็นส่วนสำคัญที่สร้างประโยชน์สำหรับธุรกิจและสังคมในวงกว้าง
เพราะองค์กรจะได้รับประโยชน์จากประสบการณ์และทักษะที่สั่งสมมาเป็นเวลานานแน่นอน ปัจจุบันจะเห็นว่าหลายประเทศ มีบริษัทที่และแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเรื่องดัวกล่าวและเปิดรับวัยเกษียณหรือผู้สูงวัยเข้าทำงานอีกครั้ง เพื่อสนับสนุนการแสดงศักยภาพและเป็นโอกาสสร้างรายได้ของพวกเขา
นี่อาจเป็น "ประตูบานใหม่" ที่จะเปิดไปสู่พื้นที่ที่กว้างขึ้นสำหรับการแสดงออกถึงคุณค่าความสามารถในการสร้างงานสร้างรายได้ของผู้สูงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่หลังจากนี้ 5-10 ปี หลายประเทศจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ ผู้คนจะมีอายุยืนยาวมากขึ้น เพิ่มจำนวนผู้สูงวัยปีต่อปี
คำถามคือ กลุ่มวัยดังกล่าวที่ยังแข็งแรง มีศักยภาพสูงและยังคงต้องการโลดแล่นในสิ่งที่ตนเองทำ จะมีพื้นที่หรือมีนโยบายรองรับสนับสนุนพวกเขามากน้อยอย่างไร โดยที่ไม่เป็นการปิดกั้นการเจริญเติบโตในสายงานของเด็กรุ่นใหม่ๆ หรือจะต้องทำงานปริมาณเท่าไหร่ให้เหมาะสมกับกำลังและรายได้ จากเดิมที่การเกษียณอายุได้ปักหมุดการสิ้นสุดของผู้คนที่เข้าสู่วัย 50-65 ปี นี่อาจเป็น Paradigm ใหม่ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันปูทางของถนนเส้นนี้ต่อไป
อ้างอิง :
ติดตามข่าวสารโลกธุรกิจและเทคโนโลยีแบบอัปเดตก่อนใคร ในทุกช่องทางของเรา
โฆษณา