30 ก.ค. 2022 เวลา 01:00 • ข่าวรอบโลก
ขอย้ายที่ประชุม COP27 เหตุอียิปต์ริดรอนสิทธิกลุ่ม LGBTQ+
การประชุม COP27 ในปีนี้ จะมีขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน ณ เมืองชาร์ม เอล ชีค ประเทศอียิปต์
ซึ่งตอนนี้ประเทศอียิปต์เองก็กำลังเตรียมความพร้อมหลายๆ อย่างต่องานประชุมที่กำลังใกล้เข้ามา
การเตรียมความพร้อมที่ว่านี้ไม่ได้หมายความเพียงแค่การจัดเตรียมเวทีประชุม แต่ยังรวมถึงเรื่องการลดคาร์บอนฯ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้อุณหภูมิโลกร้อนไม่เกิน 1.5 องศา
ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ไปจนถึงการสร้างเมือง Nexgen เมืองแห่งอนาคตที่จะเป็นเมืองคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์แห่งแรกของโลก สามารถผลิตพลังงานและอาหารในปริมาณที่มากกว่านำไปบริโภค
แต่ความพยายามเหล่านี้อาจไร้ความหมาย เมื่อมีเสียงคัดค้านดังขึ้น
โดยที่ปรึกษาประจำทำเนียบขาวได้เรียกร้องขอให้สหประชาชาติย้ายการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิ หรือ COP27 ออกจากอียิปต์
เหตุผลนั้นเนื่องจากอียิปต์เป็นประเทศที่ปฏิบัติต่อกลุ่ม LGBTQ+ อย่างรุนแรง และไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นความหลากหลายทางเพศสักเท่าไหร่
เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการชุมชนเรื่องความหลากหลายทางเพศ หรือมีใครออกตัวว่าอยู่ในกลุ่ม LGBTQ+ ฝ่ายรัฐก็มักจะเข้าจับกุม และลงโทษอย่างรุนแรง
ตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2019 ศาลในประเทศอียิปต์ตัดสินลงโทษจำคุกพิธีกรรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง เป็นเวลา 1 ปี เนื่องจากสัมภาษณ์ชายรักร่วมเพศ ในความผิดฐานยุยงให้เกิดการประพฤติผิดศีลธรรม
หรือกรณีของ อาห์เหม็ด อลาอ์ นักเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศ ถูกเจ้าหน้าที่ของทางการอียิปต์จับกุมตัว และคุมขังเป็นเวลานานกว่า 3 เดือน หลังจากการโบกธงสีรุ้งในงานคอนเสิร์ต
ซึ่งนั่นก็ทำให้นักเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศในกลุ่ม LGBTQ+ รู้สึกเป็นกังวลเกี่ยวกับสิทธิของผู้ประท้วงและกลุ่มนักสิทธิมนุษยชน ในการเข้าถึงการประชุม
รวมถึงการประท้วงในมิติอื่นๆ ซึ่งรัฐบาลอียิปต์ค่อนข้างเข้มงวดมากกับการออกมาชุมนุมในประเด็นต่างๆ
เจโรม ฟอสเตอร์ ซึ่งเป็นนักกิจกรรมชาวสหรัฐฯ และที่ปรึกษาของทำเนียบขาว ให้ความเห็นว่า ตนรู้สึกกังวลว่าตนอาจถูกจับและกักขัง ด้วยเหตุผลทางด้านเพศวิถี หากตนเดินทางไปยังอียิปต์ในครั้งนี้
“การเป็นเกย์ในอียิปต์นั้นน่ากลัว เราจะไม่เอาชีวิตตัวเองไปเสี่ยง และเราไม่อยากให้ใครเอาชีวิตตัวเองไปเสี่ยง”
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ ยังไม่มีรายงานว่าเลขาธิการองค์การอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) จะมีการเปลี่ยนแปลงสถานที่จัดประชุมหรือไม่
ซึ่งก็คงต้องรอดูกันต่อไป
ปัจจุบัน ประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ ถูกนำมาเชื่อมโยงกับวิกฤตโลกร้อนมากขึ้น
ส่วนหนึ่งเพราะมีนักเคลื่อนไหวเรื่องโลกร้อนหลายรายประกาศตัวว่าตัวเองเป็น LGBTQ+
แต่นั่นก็ไม่สำคัญเท่ากับเรื่องที่ว่า คู่รักเพศเดียวกันอาจไม่ได้รับการสนับสนุนบรรเทาทุกข์ในขณะที่ประสบกับภัยพิบัติด้านสภาพภูมิอากาศ
เพราะพวกเขาไม่ได้รับการยอมรับเหมือนกันกับคู่รักที่มีสิทธิตามกฎหมายหรือในกรณีของกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์
กลุ่ม non-binary จึงเสี่ยงที่จะไม่สามารถเข้าถึงบริการที่เจาะจงเพศได้
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศยังไม่สามารถขอลี้ภัยเข้าสู่บางประเทศได้
เพราะร่างพระราชบัญญัติสัญชาติและพรมแดนหลายประเทศยังมีมาตรฐานในการพิสูจน์การขอลี้ภัยของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ
ขณะที่ข้อมูลเรื่องวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศชี้ชัดว่า การอพยพหนีภัยธรรมชาติจะมีเพิ่มมากขึ้นแน่ๆ
แต่คนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศกลับถูกทอดทิ้งไปเผชิญชะตากรรมที่ยากลำบาก
#IsLIFE #LGBTQ+ #ClimateCrisis #COP27
อ้างอิง
The Guardian : https://bit.ly/3PMRD8z
Photo : Evie S.
โฆษณา