31 ก.ค. 2022 เวลา 13:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
อัปเดทล่าสุด! สิทธิประโยชน์จากประกันสังคม (ม.33 กรณีชราภาพ) เกษียณแล้วได้เงินเท่าไหร่?
#เด็กการเงิน เคยทำโพสต์เกี่ยวกับ ม.33 ว่าถ้าเกษียณแล้วจะได้เงินเท่าไหร่ไปแล้ว ซึ่งเป็นโพสต์ที่ฮิตมาก หลายคนให้ความสนใจ วันนี้เราขอมาอัปเดทสิทธิประโยชน์ของ ม.33 กรณีชราภาพล่าสุดกัน
1
📌ส่วนที่อัปเดทเพิ่มมา 3 เรื่องหลักๆ คือ
1️⃣ ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์สามารถเลือกได้ระหว่างรับเงินบำนาญชราภาพ หรือเงินบำเหน็จชราภาพ (ขอเลือก)
1.1 ในกรณีที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วถึงเกณฑ์ 15 ปี หรือ 180 เดือนเท่านั้น จึงจะสามารถเลือกรับเงินเกษียณแบบบำเหน็จหรือบำนาญก็ได้ (เดิมได้เฉพาะบำนาญ)
1.2 ถ้าหากจ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 15 ปี หรือน้อยกว่า 180 เดือน จะเข้าเกณฑ์เดิมคือ รับเงินเกษียณแบบบำเหน็จเท่านั้น
2️⃣ ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักประกันการกู้เงินกับธนาคารหรือสถาบันการเงินได้ (ขอกู้)
3️⃣ ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนมาใช้ก่อนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ (ขอคืน)
อ่านข้อสงสัยต่างๆ ที่มีแฟนเพจเคยโพสต์ถามในคอมเมนต์ได้ที่โพสต์เดิม https://www.facebook.com/DekFinance101/posts/252304320120372
📌ข้อมูลทั่วไป (มีอัปเดทจากโพสต์เดิมในกรณีที่ 1 เล็กน้อย)
ในส่วนของ ม.33 ปกติแล้วเราจะถูกหัก 5% ของเงินเดือน ถูกหักสูงสุดที่เงินเดือน 15,000 บาท ซึ่ง 5% ก็คือ 750 บาทที่เราโดนหักทุกเดือน (ขอใช้ตัวเลข 15,000 ให้ง่ายต่อการอธิบาย)
เงิน 5% นี้เป็นค่าอะไรบ้าง
1) 1.5% หรือ 225 บาท เป็นเงินประกันกรณีเจ็บป่วย เสียชีวิต
2) 0.5% หรือ 75 บาท เป็นเงินประกันกรณีว่างงาน
3) 3% หรือ 450 บาท เป็นเงินสมทบชราภาพ
ซึ่งเราขอเน้นในส่วนที่ 3 ที่เป็นเงินสมทบชราภาพ มาดูกันว่าเราจะได้เงินคืนตอนไหน และมีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง
ก่อนอื่นเราต้องดูก่อนว่า เราอยู่ในเงื่อนไขใดจาก 3 เงื่อนไขนี้
1. จ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเกิน 15 ปี (เกิน 180 เดือน) มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และเมื่อความเป็นผู้ประกันตกสิ้นสุดลง (ลาออก) (ไม่ว่าระยะเวลา 180 เดือนนั้นจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม)
2. จ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเกิน 1 ปี แต่ไม่ถึง 15 ปี | ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง (ลาออก) | อายุครบ 55 ปี หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต
3. จ่ายเงินสมทบไม่ถึง 12 เดือน | ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง (ลาออก) | อายุครบ 55 ปี หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต
พอรู้แล้วว่าเราอยู่ในเงื่อนไขใด ก็มาดูรายละเอียดเลย
กรณีที่ 1️⃣ จ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเกิน 15 ปี (เกิน 180 เดือน) มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และเมื่อความเป็นผู้ประกันตกสิ้นสุดลง (ลาออก) (ไม่ว่าระยะเวลา 180 เดือนนั้นจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม)
เดิมกรณีนี้จะได้รับเงินเกษียณจากประกันสังคมเป็นเงิน “บำนาญ” (ได้รับเงินรายเดือนใช้ตลอดชีวิต) เท่านั้น
แต่ล่าสุด! สามารถเลือกได้คือ
📍จะรับเงิน “บำเหน็จ” (เงินก้อนครั้งเดียว)
สูตรการคิดคือ [(เงินสมทบของผู้ประกันตน + เงินสมทบจากนายจ้าง) x จำนวนเดือนที่ส่งสมทบ]
โดยจะได้รับเงินเริ่มต้นที่ 162,000 บาท [(450+450) x 180] ซึ่ง 450 คิดจากเงิน 3% ในส่วนของเงินชราภาพหรือ 450 บาทต่อเดือน และเงินสมทบจากนายจ้างอีก 450 บาท และระยะเวลาที่ถึงเกณฑ์ได้รับเงินอยู่ที่ 180 เดือน ซึ่งยังไม่รวมดอกเบี้ยและเงินสมทบจากภาครัฐ
📍หรือ จะรับเงิน “บำนาญ” (เงินรายเดือน) ใช้ตลอดชีวิต
โดยจะได้เป็นรายเดือนในอัตรา 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (ไม่เกิน 15,000 บาท) ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
ดังนั้นถ้าหากค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายอยู่ที่ 15,000 บาทขึ้นไป จะได้บำนาญต่อเดือนเท่ากับ 20%x15,000 = 3,000 บาท
แต่ถ้าจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน จะได้รับเงินเกษียณเพิ่มอีก 1.5% ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก 12 เดือน (ถ้ามีเศษเกินจะถูกปัดทิ้งเสมอ เช่น ถ้าสะสมมา 20 ปี 9 เดือน ก็คิดแค่ 20 ปี)
ดังนั้น ถ้าหากจ่ายมา 20 ปี (จ่ายเพิ่มมา 5 ปี เงินเกษียณจะเพิ่มอีก 1.5%x5) และค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายอยู่ที่ 15,000 บาทขึ้นไป จะได้บำนาญต่อเดือนเท่ากับ [20%+(1.5%x5)]x15,000 = 4,125 บาท
ถ้าหากจ่ายมา 25 ปี จะได้บำนาญ 5,250 บาทต่อเดือน
ถ้าหากจ่ายมา 30 ปี จะได้บำนาญ 6,375 บาทต่อเดือน
จะเห็นได้ว่าหลังจากเกษียณ เราจะได้รับเงินตามนี้ไปจนกระทั่งเสียชีวิต แต่ถ้าหากเสียชีวิตภายใน 5 ปีหลังเกษียณ ประกันสังคมจะจ่ายเงินบำเหน็จ (เงินก้อน) จำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญรายเดือนที่ได้รับคราวสุดท้ายก่อนเสียชีวิต กรณีนี้ก็มีเงินก้อนให้กับคนข้างหลังด้วย
🤔 มาคำนวณกันดูว่าเงินที่เราจ่ายไปกับเงินที่ได้รับนั้นคุ้มค่าหรือไม่ ยกตัวอย่างว่าเราจ่ายเงินเข้าประกันสังคมเดือนละ 750 บาท แต่ส่วนเงินสมทบชราภาพจะอยู่ที่ 450 บาท (อย่าลืมว่ามีส่วนที่นายจ้างก็สมทบให้ด้วย)
เราจ่ายเงินสมทบชราภาพเดือนละ 450 บาท 1 ปี จะเท่ากับ 5,400 บาท
ถ้าหากจ่ายเข้าประกันสังคมเป็นเวลา 20 ปี จะเท่ากับ 108,000 บาท
ตามเงื่อนไขที่อธิบายไปแล้ว ตอนอายุครบ 55 ปี และลาออกจากประกันสังคม เท่ากับว่าเราจะได้รับเงินเกษียณเดือนละ 4,125 บาท 1 ปี จะเท่ากับ 49,500 บาท
ถ้าหากเทียบกับเงินที่จ่ายสมทบไปที่ 108,000 บาท เพียงแค่ประมาณ 2 ปีกว่าๆ เราก็ได้ทุนคืนแล้ว (108,000/49,500) เรียกได้ว่าคุ้มค่า และถ้าหากเราอายุยืน ก็จะยิ่งได้รับประโยชน์ เพราะจะได้รับบำนาญจนกว่าจะเสียชีวิต
กรณีที่ 2️⃣ จ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเกิน 1 ปี แต่ไม่ถึง 15 ปี | ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง (ลาออก) | อายุครบ 55 ปี หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต (เกิน 12 เดือน แต่ไม่ถึง 180 เดือน ซึ่งระยะเวลาจะต่อเนื่องหรือไม่ต่อเนื่องก็ได้)
กรณีนี้จะได้รับเงินเกษียณจากประกันสังคมเป็นเงิน “บำเหน็จ” (ได้รับเงินก้อนครั้งเดียว)
บำเหน็จที่จะได้รับจะเท่ากับเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายเงินสมทบในส่วนของกรณีชราภาพ รวมกับผลประโยชน์ตอบแทนตามที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด ซึ่งผลประโยชน์ตอบแทนก็มาจาก ผลกำไรกองทุนที่ประกันสังคมนำเงินไปลงทุน
กรณีที่ 3️⃣ จ่ายเงินสมทบไม่ถึง 12 เดือน | ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง (ลาออก) | อายุครบ 55 ปี หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต
กรณีนี้จะได้รับเงินเกษียณจากประกันสังคมเป็นเงิน “บำเหน็จ” (ได้รับเงินก้อนครั้งเดียว)
บำเหน็จที่จะได้รับจะเท่ากับเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายในส่วนของกรณีชราภาพ เช่น เงินเดือน 15,000 บาท และจ่ายเงินเข้าประกันสังคมมา 10 เดือน ซึ่งเงินในส่วนสมทบชราภาพคือ 450 บาทต่อเดือน ก็จะได้รับเงินบำเหน็จเท่ากับ 450x10 = 4,500 บาท
🎯เราหวังว่าทุกคนคงหายข้องใจกันเเล้วว่าเงินประกันสังคมที่เราจ่ายไปทุกเดือนนั้นมีประโยชน์หรือไม่ เมื่อดูตัวเลขที่เราจะได้รับแล้วนั้นก็ไม่น้อยเลยนะ ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายหลายๆ อย่างในชีวิตประจำวันเราได้ เงินนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น อย่าลืมบริหารจัดการเงินในส่วนอื่นด้วย จะได้เกษียณอย่างมีความสุข
📍ทั้งนี้หากลาออกจากประกันสังคมเพื่อรับเงินชราภาพ จะทำให้เราเสียสิทธิการรักษาพยาบาล ทำให้เราต้องไปใช้สิทธิบัตรทอง หรือประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันอุบัติเหตุของตนเองแทน หากไม่มีที่กล่าวมานี้ ก็ต้องออกค่ารักษาพยาบาลเอง
📍หากตัดสินใจลาออกจากกองทุน ต้องติดต่อประกันสังคมเพื่อขอรับผลประโยชน์ทดแทนภายใน 1 ปี ไม่เช่นนั้นจะถูกตัดสิทธิ์การขอรับบำเหน็จ บำนาญ
📍หากต้องการรักษาสิทธิประกันสังคม สามารถสมัครประกันสังคม ม.39 ต่อได้ภายใน 6 เดือน หลังออกจากงานโดยต้องส่งเงินสมทบ 432 บาทต่อเดือน (5,184 บาทต่อปี) และได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี ได้แก่ 1) เจ็บป่วย 2) ทุพพลภาพ 3) เสียชีวิต 4) สงเคราะห์บุตร 5) ชราภาพ และ 6) คลอดบุตร
นอกจากนี้ประกันสังคมก็มีแอพพลิเคชัน SSO Connect ให้ทุกคนโหลดมาเพื่อติดตามดูข้อมูลเงินสมทบของเรา และเรื่องอื่นๆได้ด้วย
รายละเอียดเพิ่มเติมจากสำนักงานประกันสังคม https://www.sso.go.th/wpr/assets/upload/files_storage/sso_th/799af5b4fd8f2b26ff98d5fdc05cb8ec.pdf
ประกันสังคมมาตรา 39 (ลาออกจาก ม.33) และมาตรา 40 (ฟรีแลนซ์) คุ้มครองอะไรบ้าง เกษียณแล้วได้เงินเท่าไหร่?
LINETODAY 👉https://today.line.me/th/v2/publisher/10240
โฆษณา