3 ส.ค. 2022 เวลา 00:03 • ความคิดเห็น
Family owned business
ผมเป็นกรรมการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อยู่สามแห่ง ปีที่ผ่านทั้งสามบริษัททำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ตั้งบริษัทมาแม้จะต้องเจอวิกฤตโควิดก็ตาม ทั้งสามบริษัทอยู่ต่างธุรกิจกัน มีทั้งโบรกเกอร์ประกัน บริษัทที่ปรึกษาและบริษัท consumer product แน่นอนว่าทั้งสามบริษัทมี business model ที่แข็งแรงมีทีมบริหารจัดการที่ดี มีการบริหารงานที่รัดกุมต่างสไตล์ ต่างวิธีกันไป
แต่ที่มีเหมือนกันทั้งสามบริษัทก็คือ เป็นบริษัทที่รันโดยเจ้าของที่ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท หรือที่เรียกว่า family owned business นั่นเอง
ถ้าคิดเผินๆ ธุรกิจครอบครัวหรือ family owned business นั้นดูน่าจะสู้บริษัทที่บริหารโดยมืออาชีพไม่ได้ เพราะดูน่าจะโบราณ ดูวุ่นวาย และไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงได้ทันยุคทันสมัย หลายครั้งก็ดูไม่เท่ห์ การกำกับดูแลก็อาจจะไม่ดีเท่าบริษัทที่เป็นมืออาชีพล้วนๆ
แน่นอนว่าธุรกิจครอบครัวหลายแห่งก็มีจุดอ่อนแบบนั้นจริงๆ แต่ธุรกิจครอบครัวที่พาตัวเองเติบโต ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง จนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้นั้น มักจะมีดีมากกว่าที่ทุกคนคิด
จริงๆแล้วผมคิดว่า family owned business น่าจะมีความหมายในแนวธุรกิจที่เจ้าของบริหารเองมากกว่าคำว่าธุรกิจครอบครัวที่ชวนให้ดูวุ่นวายมากกว่าด้วยซ้ำ
Economist Education เล่าถึงงานวิจัยที่มีสถาบันต่างๆทำอยู่บ่อยๆและต่างชี้ชัดว่า family owned business หรือธุรกิจที่เจ้าของบริหารเองโดยรวมมีสถิติที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าบริษัททั่วไป Boston Consulting Group และ Credit Suisse ทั้งคู่ก็เคยมีงานวิจัยที่มีผลตรงกันว่าธุรกิจที่เจ้าของบริหารเองนั้นมีผลประกอบการในระยะยาวที่ดีกว่าธุรกิจที่บริหารงานแบบอื่น Kellogg School of Business ที่เก็บข้อมูลกว่ายี่สิบห้าปีก็ยืนยันตรงกัน
1
Economist Education ให้เหตุผลสำคัญว่าธุรกิจที่เจ้าของบริหารเองนั้นจะมีเป้าหมายระยะยาวมากกว่าในการบริหารงาน เพราะต้องพยายามส่งต่อของดีๆให้รุ่นต่อไป เมื่อเทียบกับพวกบริหารมืออาชีพที่มักจะมองแค่ทีละไตรมาส เน้นกำไรระยะสั้นและราคาหุ้นมากกว่า
ซึ่งจริงมากๆจากประสบการณ์ที่ผมเคยทำงานที่บริษัทโทรคมนาคมแห่งหนึ่งที่เปลี่ยนซีอีโอทุกๆสามปี คนเก่าที่เคยทำดีไว้พอคนใหม่มาก็เปลี่ยนหมด ไม่ดูรากเหง้าที่สำเร็จเดิม ซีอีโอที่มาสั้นๆก็พยายามสร้างเครดิตตัวเองเพื่อให้ได้ไปต่อที่อื่นและสนใจตัวเลขระยะสั้นและการเอาใจ head quarter เพื่อเอาตัวรอด บริษัทก็เลยเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย พอเปลี่ยนบ่อยๆก็พลาด ไม่มีความต่อเนื่อง ในที่สุดก็เลยสู้กับคู่แข่งไม่ได้ไปเลย
1
นอกจากนั้น ธุรกิจที่เจ้าของบริหารเองดูจะมีการบริหารจัดการต้นทุนที่ดีกว่า Economist Education บอกไว้อย่างนั้น ซึ่งก็เข้าใจได้อีก เพราะทุกเม็ดเงินที่ประหยัดได้ก็จะกลับคืนสู่เจ้าของ มีงานวิจัยของ European Academies พบว่าธุรกิจที่เจ้าของบริหารเองนั้นใช้งบวิจัยต่ำกว่าบริษัททั่วไปแต่ผลลัพธ์กลับสูงกว่า เพราะเจ้าของมักจะลงรายละเอียด ระมัดระวังกว่ามืออาชีพที่ไม่ได้ใช้เงินตัวเองลงทุน
จากประสบการณ์ผมที่เคยเจอ เจ้าของมักจะมองธุรกิจที่บริหารอยู่เหมือนลูกที่สร้างมากับมือในขณะที่มืออาชีพมองธุรกิจก็คือธุรกิจ มีคนเคยเล่าถึงนักธุรกิจใหญ่มากๆของไทยคนหนึ่งที่ต่อสู้กับธนาคารอย่างเอาเป็นเอาตายในช่วงวิกฤตที่ธนาคารกำลังจะมายึดกิจการในขณะที่ถ้าเป็นมืออาชีพก็คงยอมไปแล้ว
1
ผู้สันทัดกรณีเล่าว่านักธุรกิจคนนี้ไม่มีลูก เลยรักโรงงานที่สร้างมากับมือเหมือนลูก ถึงกับว่างๆก็ไปนอนที่โรงงานแถวๆเครื่องจักร เอามือลูบคลำเครื่องจักรด้วยความผูกพันมาแล้ว การที่ธนาคารพยายามมายึดก็เหมือนจะมาพรากลูกไป เขาถึงต่อรองอย่างสุดใจขาดดิ้น มี will power จนธนาคารต้องยอมในที่สุด
วอร์เรน บัฟเฟต์ นักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่ถึงชอบลงทุนในธุรกิจที่เจ้าของบริหารเองมากๆ เคยเล่าเคยพูดถึงความชอบในเรื่องนี้ก็บ่อยจนกลายเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญมากๆของคุณปู่วอร์เรนในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
1
คุณบุญคลี ปลั่งศิริ อดีตซีอีโอชินคอร์ปเคยเล่าเปรียบเทียบให้ฟังง่ายๆว่าธุรกิจที่มีเจ้าของดูแลนั้นเมื่อเทียบกับธุรกิจที่อยู่ขั้วตรงข้ามแล้วจะเห็นประสิทธิภาพของความเป็นเจ้าของอย่างชัดเจน ไม่เชื่อก็ลองนึกถึงธุรกิจที่ไม่มีเจ้าของเป็นเรื่องเป็นราวอย่างรัฐวิสาหกิจดูก็จะเห็นภาพชัดมากๆเลยครับ
แต่เรื่องการลงทุนในธุรกิจที่เจ้าของบริหารเองกับการทำงานกับเจ้าของนี่คนละเรื่องกันเลยนะครับ การลงทุนในธุรกิจที่เจ้าของบริหารที่มีสถิติและเหตุผลรองรับที่ดีนั่นเรื่องหนึ่ง แต่การทำงานกับเจ้าของนี่แล้วแต่อุปนิสัยใจคอ ความชอบความถนัดส่วนตัวมากๆ คุณบุญคลี เคยเล่าว่าชอบทำงานกับเจ้าของมากเพราะเรื่องผลตอบแทน
1
เจ้าของที่รู้จักใช้คนจะสามารถให้ผลตอบแทนที่นอกเหนือจากระเบียบโบนัสปกติได้ เรียกได้ว่ามีเซอร์ไพร์ส มีตื่นเต้น ไม่เหมือนกับบริษัทปกติที่ทุกอย่างก็วัดตาม KPI จะได้อะไรไม่ได้อะไรก็ว่ากันตามตัวเลข ไม่มีความตื่นเต้นอยู่ในนั้น
1
ส่วนผมเองนั้นไม่ถนัดทำงานกับเจ้าของเท่าไหร่นักหลังจากได้ลองมาหลายหน เจ้าของเห็นกิจการเหมือนลูก ต่อให้มีมืออาชีพมาเลี้ยงก็จะอดไม่ได้ที่จะต้อง “ล้วง” ลูก คนทำงานที่ชอบอิสระ อยากตัดสินใจและรับผิดชอบผลงานเองจะไม่ค่อยคุ้นกับวิธีของเจ้าของที่มองคนทำงานเหมือนสมัยก่อนที่เรียกว่า “หลงจู๊” ก็คือใช้ทำอะไรก็ได้ บางคนก็จะชอบ บางคนก็จะไม่ชอบ เรื่องแบบนี้ก็แล้วแต่ท่าถนัดของแต่ละคนไป
3
มีคนเคยถามคุณบุญคลีผู้ซึ่งชอบทำงานกับเจ้าของว่า ถ้าจะทำงานกับเจ้าของ อะไรเป็นอย่างแรกที่ควรจะต้องพิจารณา
คุณบุญคลีตอบได้อย่างน่าสนใจว่า ไลฟ์สไตล์ต้องตรงกัน โดยอธิบายต่อว่าถ้าวิถีชีวิตต่างกันมากๆแล้ว ความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของการทำงานกับเจ้าของจะเกิดได้ยาก
1
ตัวอย่างเช่นถ้าเราชอบตีกอล์ฟแต่เจ้าของไม่ตี การที่จะไปออกรอบกับลูกค้าก็ดูจะเป็นเรื่องอู้งานไป หรือถ้าชอบขับรถยุโรปแต่เจ้าของขับโตโยต้า ถ้าชอบเริ่มงานสายเอาผลงานเป็นหลักแต่เจ้าของมาทำงานเช้า ถ้าชอบมาแต่เช้าแต่กลับปกติแต่เจ้าของเริ่มเที่ยงแล้วเลิกดึก (อันนี้ผมประสบเองส่วนตัว)ฯลฯ เหล่านี้จะทำให้เข้ากับเจ้าของได้ยาก โอกาสทำงานราบรื่นก็ลดลง
2
ก็เป็นคำแนะนำที่น่าคิดและน่าไตร่ตรองเวลาจะเลือกทำงานกับเจ้าของคนไหนอยู่เหมือนกันนะครับ
1
โฆษณา