3 ส.ค. 2022 เวลา 12:16 • กีฬา
ทั้งๆ ที่จีนไม่ต้องการให้เอกราชกับไต้หวัน แต่ทำไมพวกเขากลับยอมครึ่งทาง ให้ไต้หวันไปแข่งโอลิมปิกได้ ภายใต้ชื่อไชนีส ไทเป เราจะไปลำดับเหตุการณ์พร้อมๆ กัน
1
ประเทศจีน มีนโยบายที่แข็งกร้าวในเรื่อง "จีนเดียว" พวกเขาเชื่อเสมอว่า ไต้หวัน คือส่วนหนึ่งของจีนเสมอมา และไม่สามารถแบ่งแยกเป็นประเทศอิสระเองได้
เมื่อแนนซี่ เพโลซี่ ประธานสภาสหรัฐฯ บินไปไต้หวันเมื่อวานนี้ จึงกลายเป็นข่าวใหญ่ของโลก เพราะจีนเองก็ยอมไม่ได้ ที่สหรัฐฯ จะให้คุณค่ากับไต้หวันราวกับเป็นประเทศที่มีเอกราชเป็นของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม จุดที่น่าสนใจคือ ในกีฬาโอลิมปิกหรือแม้แต่ฟุตบอล ไต้หวันกลับถูกรับรองให้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันอย่างเป็นทางการ ในชื่อ "ไชนีส ไทเป" โดยที่จีนเองกลับยอมประนีประนอมให้
1
คำถามคือทำไมเรื่องกีฬาจีนกลับยอมได้? วันนี้เราจะไปลำดับเรื่องราว ตาม Timeline กันแบบเข้าใจง่ายที่สุด
1
ต้องอธิบายก่อนว่า ในอดีต จีนแผ่นดินใหญ่กับเกาะไต้หวัน เคยเป็นประเทศเดียวกัน และมีรัฐบาลร่วมกันมาก่อนจริงๆ ในช่วงปี 1945-1949 โดยชื่ออย่างเป็นทางการของจีน ณ เวลานั้นคือ Republic of China (ROC) โดยมีประธานาธิบดีคือ เจียง ไค เช็ก จากพรรคการเมืองชื่อ ก๊กมินตั๋ง
แต่หลังเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น ในปี 1949 กองทัพคอมมิวนิสต์นำโดยเหมา เจ๋อ ตุง ยึดอำนาจจากรัฐบาลได้สำเร็จ ทำให้เจียง ไค เช็คพร้อมด้วยประชาชนที่หวั่นกลัวคอมมิวนิสต์ รวมแล้ว 1.5 ล้านคน ได้ล่องเรือไปตั้งหลัก ที่เกาะไต้หวันทางทิศตะวันออกของจีนแผ่นดินใหญ่ไปก่อนเป็นการชั่วคราว
โดยเจียง ไค เช็ค ประกาศตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นที่เกาะไต้หวัน และยังใช้ชื่อ Republic Of China ต่อไป เพื่อรอสักวันที่แข็งแกร่งพอ แล้วอาจจะได้ยึดจีนแผ่นดินใหญ่คืน
ส่วนจีนแผ่นดินใหญ่นั้น โดนปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์นำโดยเหมา เจ๋อ ตุง เขาตัดสินใจก่อตั้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน - People's Republic of China (PRC) ขึ้นมา โดยใช้ระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์
4
ความเปลี่ยนแปลงในประเทศจีนที่เกิดขึ้น ทำให้ในวงการกีฬามีความสับสนอย่างมาก เพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่า ใน 1 ประเทศ จะมีคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ (NOC) ได้แค่ 1 แห่งเท่านั้น
1
และปัญหาสำคัญคือตอนที่อพยพย้ายหนีมาไต้หวัน เจียง ไค เช็ก เอา NOC ของจีนมาอยู่กับไต้หวันด้วย นั่นแปลว่าจีนแผ่นดินใหญ่ของเหมา เจ๋อ ตุง ไม่สามารถส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันได้ ในโอลิมปิกปี 1952 ที่ฟินแลนด์ (เพราะไม่มี NOC เป็นของตัวเอง)
4
ทาง IOC หรือคณะกรรมการโอลิมปิกสากล คิดถึงในแง่กีฬาก่อนการเมือง คือถ้าเป็นแบบนี้ ฝั่งไต้หวัน ก็อาจจะกีดกันสิทธิ์ของนักกีฬาจากฝั่งแผ่นดินใหญ่ ไม่ให้ไปเข้าร่วมโอลิมปิกได้ และอาจมีการบีบบังคับให้นักกีฬาย้ายข้ามฟากมาอยู่กับไต้หวันแทน จึงจะอนุญาตให้ร่วมเข้าแข่งขันได้
เมื่อรูปการณ์เป็นแบบนั้น IOC จึงอนุมัติ ให้ จีนแผ่นดินใหญ่ (PRC) เข้าร่วมแข่งขันได้ ในโอลิมปิกปี 1952 ที่เฮลซิงกิ ฟินแลนด์
2
เท่ากับว่าตอนนี้ ใน IOC มี "สองจีน" คือ เกาะไต้หวัน (ROC) และ จีนแผ่นดินใหญ่ (PRC) คือทั้งสองประเทศ สามารถส่งนักกีฬามาแข่งขันได้เลย แยกกันไปให้ชัดเจน
1
ดราม่าในสเต็ปต่อไปเกิดขึ้น เพราะจีนแผ่นดินใหญ่ มองว่าไต้หวันไม่ใช่ประเทศ แต่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของจีนเท่านั้น และไม่มีสิทธิ์จะมายืนอยู่เท่ากันบนเวทีโลก
5
ดังนั้นในโอลิมปิก 1956 ที่เมลเบิร์น ออสเตรเลีย เมื่อนักกีฬาจากจีนแผ่นดินใหญ่ไปถึงหมู่บ้านนักกีฬา เจอนักกีฬาจากไต้หวัน ทำให้พวกเขาโมโหตัดสินใจถอนตัว ไม่ร่วมแข่งขันทันที
2
ยิ่งในหนังสือสูจิบัตรของการแข่งขัน เวลาเรียกจีนแผ่นดินใหญ่ ในชื่อย่อว่า Beijing-China (จีนปักกิ่ง) ส่วนเวลาเรียกไต้หวันใช้ชื่อย่อว่า Formosa-China (จีนไต้หวัน) ยิ่งทำให้ฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่โกรธมาก เพราะมองว่าทาง IOC ไม่ให้เกียรติกัน ที่ยกไต้หวันไปเสมอกับจีน
2
ตง โจวยี่ คณะกรรมการโอลิมปิกของจีนแผ่นดินใหญ่ ส่งจดหมายไปด่าเอเวอรี่ บรันเดจ ประธานกิตติมศักดิ์ของ IOC ว่า "ท่านประธาน พวกกบฎของชาติเราหนีไปอยู่ไต้หวัน และใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น คนไต้หวันคือคนจีน เราเชื่อได้เลยว่าคุณมีเจตนาไม่บริสุทธิ์ แถมได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาอีก เพื่อจงใจแบ่งแยกประเทศจีนเดียว ออกเป็นสองจีน"
3
ในเวลาต่อมาจีนมีนโยบายชัดเจนคือ One China Policy อธิบายคือองค์กรใด หรือประเทศใด หากจะมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนแผ่นดินใหญ่ ก็ต้องเลือกจีนแผ่นดินใหญ่อย่างเดียว ไม่สามารถมีความสัมพันธ์ควบไปกับไต้หวัน (ROC) ได้
2
เมื่อ IOC ไม่ยอมเดินไปในแนวทาง One China Policy และไปให้การยอมรับตัวตนของไต้หวัน ทำให้จีนแผ่นดินใหญ่ ไม่เข้าร่วมลงแข่งขันโอลิมปิก เพื่อประท้วงแนวทางของ IOC ที่สนับสนุนระบบสองจีน ไม่ใช่จีนเดียว
ในช่วงแรก IOC ก็ไม่ได้แคร์ ถ้าจีนไม่แข่งก็ไม่แข่ง คนอื่นเขาก็แข่งกันได้ ทุกอย่างเลยบานปลายมาเรื่อยๆ และจีนก็ไม่เข้าร่วมโอลิมปิกถึง 20 ปีติดต่อกัน (1956-1976)
2
เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ เข้า IOC เองก็ไม่มีความสุข เพราะการที่จีนแบนตัวเองแบบนี้ เป็นการตัดโอกาสทางการกีฬาของผู้เล่นหลายๆ คน แทนที่พวกเขาจะได้มาแข่งขันในระดับโลก สุดท้ายก็ได้แต่เก่งอยู่ในประเทศตัวเอง ขณะที่เรื่องธุรกิจก็สำคัญ จีนคือตลาดใหญ่ เมื่อไม่มีจีนเข้าร่วมโอลิมปิก ก็มีแนวโน้มที่ทาง IOC จะสูญเสียรายได้ไปอย่างมหาศาล
3
ในปี 1971 มีจุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อ สหประชาชาติ (UN) มีมติรับรองจีนแผ่นดินใหญ่ ให้เป็นตัวแทนหนึ่งเดียวของจีน และไม่ยอมรับไต้หวันในฐานะประเทศอีก มันส่งผลถึงแนวทางในโอลิมปิกเช่นกัน
7
เข้าสู่โอลิมปิกปี 1976 ที่มอนทรีออล ประเทศแคนาดา เจ้าภาพจัดการแข่งขันไปแจ้งกับไต้หวันว่า เมื่อสหประชาชาติรับรองจีนไปแล้ว แคนาดาก็ต้อง Take Side จีน คือบอกไต้หวันว่า คุณสามารถส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันได้นะ แต่คุณไม่สามารถใช้ชื่อ Republic of China ได้แล้ว
พอแคนาดาพูดแบบนั้น นั่นทำให้นักกีฬา 48 คนของไต้หวัน ตัดสินใจวอล์กเอาต์ในโอลิมปิกครั้งนั้น เหมือนเป็นการโดนหมิ่นเกียรติ
3
เดี๋ยวคนนี้วอล์กเอาต์ คนนั้นวอล์กเอาต์ ทำให้ทาง IOC ก็มีความไม่สบายใจเช่นกัน เพราะเหมือนโอลิมปิกถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเล่นการเมือง
ดังนั้น IOC ต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีการอะไรสักอย่าง พวกเขาคิดคำนวณหลายรูปแบบ เช่น สมมุติถ้ารับรองจีนประเทศเดียวแบบที่สหประชาชาติทำ แล้วแบบนี้นักกีฬาจากไต้หวัน จะถูกกีดกันโอกาสทางกีฬาหรือเปล่า ที่สำคัญถ้าไปแทรกแซงขนาดนั้น มันเหมือนว่า IOC ไปยุ่งเรื่องการเมืองระหว่างประเทศมากเกินไปด้วย ดังนั้นจึงพยายามหาทางออก เพื่อให้ลงตัวที่สุดกับทุกฝ่าย
จนมาถึงในปี 1979 ทาง IOC ได้ไอเดียใหม่ และทำการต่อรองว่า จากนี้ไปอยากให้ทั้งจีน และ ไต้หวัน มีสองคณะกรรมการโอลิมปิกเป็นของตัวเองไปเลย
1
จีนแผ่นดินใหญ่ จะมีคณะกรรมการโอลิมปิกของตัวเอง ชื่อ Chinese Olympic Committee และใช้ชื่อในการแข่งขันว่า "China"
ส่วนไต้หวัน จะมีคณะกรรมการโอลิมปิกแยกออกมา ชื่อ Chinese Taipei Olympic Committee ไม่สามารถใช้ชื่อเดิมคือ Republic of China ได้อีก แต่ต้องใช้ชื่อ "Chinese Taipei" แทน ขณะที่ธงในการแข่งโอลิมปิก ก็ไม่สามารถใช้ธงแดง-น้ำเงินได้ แต่ให้โละทิ้งแล้วใช้ธงใหม่ไปเลย นั่นคือธงสีขาว มีดอกบ๊วยซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติไต้หวันอยู่ตรงกลาง
1
เอาเป็นว่า ต่างคน ก็ต่างรับผิดชอบการกีฬาของตัวเองไป ไม่ต้องข้องเกี่ยวกันอีก
3
ถ้ามองจากมุมของคนกลาง นี่เป็นการตัดสินใจที่ดีต่อทุกฝ่าย ทาง IOC จัดการโหวตขึ้นในวันที่ 26 พฤศจิกายน 1979 ที่โลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ถามสมาชิกว่าเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าจะมาแนวทางนี้ และคำตอบคือเมมเบอร์ 62 คนจาก 81 คนเห็นด้วย จึงเหลือแค่ว่าสองชาติจะตกลงร่วมแข่งขันในเงื่อนไขนี้ไหม
ในมุมของจีน พวกเขาจะแบนโอลิมปิกต่อไปก็ทำได้ แต่มันไม่มีประโยชน์อะไรที่จะทำ ณ เวลานั้น นโยบายของจีนคือ Open Door Policy เริ่มมีการเปิดประเทศมากขึ้น แทนที่อยู่กันเอง ใช้ผลิตภัณฑ์กันเองในประเทศ จีนนำเข้าและส่งออก สินค้าและวัฒนธรรมของตัวเองออกไปให้ชาวโลก ดังนั้นถ้าหากพวกเขายังดื้อแพ่งไม่ร่วมแข่งขันโอลิมปิกซึ่งเป็นกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติอยู่ประเทศเดียว ก็ไม่เป็นผลดีต่อนโยบายในองค์รวม
นอกจากนั้นเงื่อนไขที่ไต้หวันใช้ชื่อ "ไชนีส ไทเป" ลงแข่งขัน มันก็มีคำว่าจีนติดอยู่ด้วย ถือว่าอยู่ในวิสัยที่รับได้ เพราะแสดงให้เห็นว่าอีกฝ่ายยังเป็นส่วนหนึ่งของจีน คือถ้าใช้ชื่อไต้หวันไปเลย มันอาจดูเป็นประเทศเอกราชเกินไปหน่อย
1
ส่วนไต้หวันนั้น ด้วยความที่จีนก็เติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และได้รับการรับรองจากสหประชาชาติแล้ว ส่วนไต้หวันไม่ถูกยอมรับ ซึ่งถ้าปล่อยไว้แบบนี้ สักวันไต้หวันอาจจะถูกกลืนกินก็ได้ ดังนั้นถ้าได้สเตตัสความเป็นสมาชิกของ IOC อย่างเหนียวแน่น สามารถส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกได้อย่างอิสระ ก็ย่อมเป็นผลดีต่อมูฟเมนท์ประชาธิปไตยมากกว่า แม้จะใช้ชื่อไชนีส ไทเป มันก็ช่วยไม่ได้
5
เอ็ดเวิร์ด หลิง-เหวิน เทา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำเมืองบริสเบน กล่าวกับสำนักข่าวเอบีซีว่า "คนจำนวนมากในไต้หวันเชื่อว่า เราควรลงแข่งขันในชื่อทางการของประเทศเรา หรือจะใช้แค่ชื่อไต้หวันก็ได้ เราไม่พอใจ แต่มันคือความจริงในขณะนี้"
1
เมื่อสองฝ่ายยอมกันได้ในจุดตรงกลาง ทำให้นับจากโอลิมปิก 1984 ที่ลอสแองเจลิส ทั้ง จีน และ ไต้หวัน (ในชื่อไชนีส ไทเป) จึงแข่งขันโอลิมปิกพร้อมกัน ก่อนจะแข่งต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยต่างฝ่ายก็ต่างมี คณะกรรมการโอลิมปิกเป็นของตัวเองไม่ข้องเกี่ยวใดๆ กันอีก
3
เรื่องราวในโลกกีฬาของจีน กับ ไต้หวัน ก็จบลงตรงนี้ ต่างคนต่างใช้ชีวิตกันไป
1
แต่เมื่อออกไปจากโลกกีฬา มันไม่สามารถประนีประนอมกันได้ในลักษณะนี้ เพราะจีนยังคงยึดมั่นนโยบายจีนเดียว แต่ไต้หวันก็ต้องการอิสระในการบริหารประเทศ เรียกได้ว่ายังหาหนทางออกสวยๆ แบบ Happy Ending ไม่ได้จริงๆ
2
โฆษณา