10 ส.ค. 2022 เวลา 00:00 • ปรัชญา
อ่านเรื่อง ‘อากงจุน’ จุน วนวิทย์ ผู้ก่อตั้งฮาตาริ บริจาคเงิน 900 ล้านบาทให้มูลนิธิรามาธิบดีแล้ว นึกถึงอภิมหาเศรษฐี ชัค ฟีนีย์ ซึ่งเป็นชื่อที่ไม่ค่อยมีใครเคยได้ยิน เพราะชื่อนี้ไม่ออกงานที่ไหนเช่นกัน
เราจะได้ยินและคุ้นชื่อองค์กรการกุศลของ บิล เกตส์ และภรรยา กับ วอร์เรน บัฟเฟตต์ มากกว่า บ่อยกว่า
ครั้งหนึ่งมีคนถาม บิล เกตส์ เรื่องเกี่ยวกับการบริจาคการกุศล เขาบอกว่าไปคุยกับ ชัค ฟีนีย์ ดีกว่ามั้ง เพราะถ้ารู้ว่า ชัค ฟีนีย์ ทำอะไรมาบ้าง จะเห็นว่า บิล เกตส์ กับ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ยังเป็นเด็กวานซืนในเรื่องการบริจาค
ชัค ฟีนีย์ เป็นเสาหลักและไอดอลของมหาเศรษฐีที่คิดทำการกุศล
วอร์เรน บัฟเฟตต์ บอกว่า “เขาเป็นตัวอย่างสำหรับเราทุกคน มันคงต้องใช้เวลาสิบสองปีหลังผมตายเพื่อจะทำเท่ากับที่เขาทำมาตลอดชีวิต”
บัฟเฟตต์เองก็บริจาคทรัพย์สินส่วนใหญ่เพื่อสาธารณประโยชน์ มรดกที่ให้ลูกหลานแค่เพียงพอให้มีชีวิตสบาย แต่ไม่พอให้อยู่เฉยๆ ตลอดชีวิต
เขากลัวว่าลูกจะเสียคน ถ้าทิ้งกองเงินกองทองให้ลูกแบบใช้ทั้งชาติไม่หมด
ข่าวของ ชัค ฟีนีย์ มีน้อยมาก ล่าสุดเมื่อสองปีก่อน ชัค ฟีนีย์ และภรรยาประกาศยุติบทบาทขององค์กรการกุศลของเขาคือ The Atlantic Philanthropies หลังจากทำงานมาสี่สิบปี พนักงานสามร้อยกว่าคน สำนักงานสิบแห่งทั่วโลก ช่วยเหลือในด้านสาธารณสุข การศึกษา สังคมทั่วโลก
อายุ 90 แล้ว สังขารเสื่อมถอย น่าจะถึงเวลาพักจริงๆ แล้ว ปล่อยให้เป็นงานของคนรุ่นต่อไปที่จะช่วยสังคมต่อไป
มองย้อนกลับไปในภารกิจลับที่ทำมาสี่สิบปี ชัค ฟีนีย์ บอกว่า “เราเรียนรู้มากทีเดียว เราอาจทำบางเรื่องแตกต่างจากเดิม แต่ผมพอใจมากๆ ผมรู้สึกดีมากที่ได้จบภารกิจนี้โดยที่ผมได้เฝ้าดูมัน ขอบคุณทุกๆ คนที่ร่วมเดินทางสายนี้กับเรา”
เป็นทางสายงดงาม เป็นทางสายวิเศษอย่างยิ่ง
ผมเห็นด้วยกับปรัชญาชีวิตของ ชัค ฟีนีย์ และอากงจุน มันไม่สำคัญว่าเราหาเงินมาได้มากเท่าไร แต่อยู่ที่เราใช้ประโยชน์จากเงินที่หามาได้แค่ไหนมากกว่า
1
และเป็นหน้าที่ของคนมีเงินเหลือใช้คืนสิ่งดีงามสู่สังคม และถ้าเป็นไปได้ คืนต่อมนุษยชาติและโลก
สิ่งที่ ชัค ฟีนีย์ มอบให้สังคมเน้นที่การศึกษาเป็นอย่างมาก จุดนี้เห็นด้วยมากๆ ให้อะไรก็มิสู้ให้วิชา
1
สิ่งที่อากงจุนมอบให้สังคมด้านสาธารณสุขก็เป็นเรื่องประเสริฐเช่นกัน
คนมีเงินเหลือใช้ในโลกนี้มีมากขึ้นเรื่อยๆ คำว่า billionaire เป็นคำธรรมดาไปแล้ว แต่ไม่ทุกคนใช้เงินเป็น
อย่างที่ใครบางคนสอน ปีเตอร์ ปาร์กเกอร์ (สไปเดอร์-แมน) “With great power comes great responsibility.”
เงินทองก็คือ ‘great power’ ไม่ว่าหามาได้เองหรือฟ้าประทาน มันก็คืออำนาจพิเศษที่ไม่ใช่ทุกคนมี หรือมีโอกาสมี
บางคนมองมันเป็น ‘great responsibility’ บางคนใช้มันเป็นบันไดในการหา ‘great power’ อันใหม่
ดังนั้นเมื่อเห็นคนจำนวนหนึ่งสามารถเปลี่ยน ‘great power’ เป็น ‘great responsibility’ เราก็รู้สึกว่าโลกยังมีมุมงดงามอยู่ และหนทางที่คนเหล่านี้แผ้วถางเป็นทางสายงดงาม เป็นทางสายวิเศษอย่างยิ่ง
2
คนรวยมีมาก แต่ไม่ทุกคนใช้เงินเป็น
โฆษณา