5 ส.ค. 2022 เวลา 10:26 • ธุรกิจ
ดัชนี PMI ก.ค. 65 ทั่วโลกชะลอตัวต่ำสุดรอบ 2 ปี
ดัชนี PMI ก.ค. 65 ทั่วโลกชะลอตัวต่ำสุดรอบ 2 ปี
ราคาสินค้าที่พุ่งสูงสวนทางกับดีมานด์ในตลาดกระทบเศรษฐกิจโลก ดันดัชนี PMI เดือนกรกฎาคม 2565 ชะลอตัวลดต่ำที่สุดรอบ 2 ปี
ตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตของสหรัฐอเมริกา ซึ่งรายงานโดบสถาบัน ISM (Institute for Supply Management) ประจำเดือนกรกฎาคม 2022 ขยายตัวอยู่ที่ระดับ 52.8 ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2020 และลดลงจากเดือนมิถุนายน 2022 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 53.0 จึงสะท้อนให้เห็นแนวโน้มภาคการผลิตที่ชะลอตัวลง
นอกจากนี้ ยังพบว่ายอดคำสั่งซื้อใหม่ในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 48.0 ลดลงจาก 49.2 ในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และเมื่อรวมกับยอดสั่งซื้อคงค้างที่ลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคการผลิตของสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะชะลอตัวลงอีกในไม่กี่เดือนข้างหน้า
ในฟากยุโรป ผลสำรวจของ S&P Global รายงานว่าดัชนี PMI ในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 49.8 ลงลงจาก 52.1 ในเดือนมิถุนายน ซึ่งต่ำกว่าระดับ 50 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2020 ซึ่งมีการเติบโตต่อเนื่อง ในขณะที่ตัวชี้วัดผลผลิตอยู่ที่ 46.3 ต่ำที่สุดในรอบกว่า 2 ปี ซึ่งเป็นผลจากการขึ้นราคาสินค้าทั่วโลก วิกฤตซัพพลายเชน และสงครามรัสเซียยูเครน
S&P Global เปิดเผยว่า ภาคการผลิตในยุโรปกำลังหดตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี ซึ่งเป็น 3 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป
ไม่ใช่เพียงภาคการผลิตเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ โดยสำนักงานสถิติแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี (Destatis) รายงานว่าผู้ค้าปลีกเยอรมันมียอดขายหดตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และเป็นการหดตัวต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 1994
ส่วนในอังกฤษนั้น ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษเปิดเผยว่าดัชนี PMI เดือนกรกฎาคมลดต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2020
ทางด้านเอเชียนั้นยังคงประสบปัญหาจากวิกฤตซัพพลายเชนอย่างต่อเนื่อง โดยเกาหลีใต้ประสบกับการหดตัวของภาคการผลิตเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี ในขณะที่ญี่ปุ่นมีการเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 10 เดือน
ส่วนในจีนเอง สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานว่าดัชนี PMI อยู่ที่ระดับ 49.0 ในขณะที่สถาบัน Caixin รายงานว่าดัชนี PMI ภาคเอกชนจีนอยู่ที่ระดับ 50.4 ซึ่งทั้งสองตัวเลขสะท้อนให้เห็นว่าภาคการผลิตจีนได้ถดถอยลงจากเดือนมิถุนายนที่มีการเติบโตสูงสุดในรอบ 13 เดือน
ในอีกด้านหนึ่ง การขึ้นราคาสินค้านำเข้าในจีน ไต้หวัน อินเดีย และเกาหลีใต้ได้ชะลอตัวลงเช่นเดียวกัน
สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยรอยเตอร์รายงานว่าดัชนี PMI ของอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทยได้เติบโตสวนทางกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน
ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทย รายงานตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ระดับ 59.9 ขยายตัวจาก 50.5 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการคลายล็อกกิจกรรมและกิจการทางเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะการกลับมาจัดงานแสดงสินค้า
ฝั่งอินเดียเป็นอีกประเทศในเอเชียที่มีการเติบโตของภาคการผลิต โดยมีดัชนี PMI อยู่ที่ 56.4 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 8 เดือน สืบเนื่องจากยอดคำสั่งซื้อและกำลังการผลิตที่สูงขึ้น
อ่านข่าวและบทความอื่น ๆ ได้ที่ https://www.mreport.co.th/?utm_source=bd
ติดตาม M Report ได้ที่
LINE Official : https://bit.ly/357ySYm
โฆษณา