5 ส.ค. 2022 เวลา 07:24 • ข่าวรอบโลก
ความตึงเครียดรอบใหม่ในช่องแคบไต้หวัน กับการจัดระเบียบโลกใหม่
หลังจากการมาเยือนของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลระดับสูงสุดของสหรัฐฯ ที่เดินทางมาเยือนไต้หวันในรอบ 25 ปี ซึ่งก็ตามมาด้วยความตึงเครียดในพื้นที่ช่องแคบไต้หวันที่ยกระดับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการซ้อมรบขนาดใหญ่ 6 จุดรอบไต้หวัน การยิงขีปนาวุธ “ตงเฟิง” หลายลูกตกลงในเขตพื้นที่ทะเลของไต้หวัน
การยกระดับการซ้อมรับ และขยายเวลาการซ้อมรบออกไปจนถึงวันจันทร์ 10 โมงเช้า ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจจะมีการขยายกรอบเวลาการซ้อมรบออกไปอีก ซึ่งหากพิจารณารูปแบบการซ้อมรบในตอนนี้เรียกว่าเป็นการซ้อมรบที่ล้อมกรอบไต้หวันเอาไว้แล้ว
ซึ่งก็มีข่าวกรอง และข่าวลือออกมาในสายข่าวความมั่นคงมาตั้งแต่ต้นปีแล้วว่าจีนมีแผนที่จะบุกไต้หวันในปีนี้ โดยข่าวดังกล่าวนั้นมีมาก่อนหน้าการบุกยูเครนของรัสเซียเสียด้วยซ้ำ
หากเราพิจารณาตามประวัติศาสตร์ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีความจำเป็นที่จะต้องเจริญสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน ซึ่งก็เท่ากับต้องยอมรับนโยบาย “จีนเดียว” เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด ไม่เว้นแม้แต่สหรัฐฯ เองที่ก็เริ่มความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่มาตั้งแต่ปี 1973 อย่างไม่เป็นทางการ และมาเริ่มความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการในปี 1979 ซึ่งก็เท่ากับต้องยุติความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวันเช่นกัน
แม้จะเป็นเช่นนั้น แต่สถานะของไต้หวันกับนานาประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรก็ถือว่ามีความ “กำกวม” ทางยุทธศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก แน่นอนว่าไต้หวันนั้นเป็นหน่วยทางการเมือง “หน่วยหนึ่ง” มาโดยตลอด แต่คำถามที่ต้องถามก็คือเป็น “หน่วยไหน” เป็นระดับ “ประเทศ” หรือระดับไหน?
ย้อนกลับไปที่สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนนั้น 1 ในข้ออ้างสำคัญของรัสเซียที่ทำการบุกยูเครนก็คือเพราะยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ซึ่งก็คือข้ออ้างเดียวกับที่จีนอ้างว่าไต้หวันคือส่วนหนึ่งของจีนมาโดยตลอด แต่สถานการณ์ของยูเครนกับไต้หวันนั้นกลับแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
กล่าวคือแม้ว่ารัสเซียจะทำการบุกคาบสมุทรไครเมียในปี 2014 และอีกครั้งในปี 2022 แต่ยูเครนนั้นไม่ได้เตรียมพร้อมกับสงครามกับรัสเซียนับตั้งแต่มีการแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต ซึ่งแตกต่างกับไต้หวันโดยสิ้นเชิง เพราะประวัติศาสตร์ของไต้หวันนั้นจีนคือภัยคุกคามเสมอ และไต้หวันก็เตรียมพร้อมในการรับมือกับจีนมาโดยตลอด
อีกทั้งไต้หวันกับจีนก็เคยมีการรบกันมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้งในวิกฤตช่องแคบไต้หวันครั้งที่ 1 ปี 1955 และครั้งที่ 2 ปี 1958 ซึ่งแม้ว่าทั้งสองครั้งจะจบลงด้วยการหยุดยิง แต่หากจะบอกว่าจีนล้มเหลวไม่สามารถเอาชนะและยึดครองไต้หวันได้ก็ไม่ผิด
อีกเรื่องที่เราจะลืมไม่ได้ก็คือสภาพภูมิรัฐศาสตร์ของทะเลจีนใต้ และคาบสมุทรไต้หวันนั้นถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบัน สำคัญยิ่งกว่ายูเครนเสียอีก เพราะ ทะเลจีนไต้นั้นเต็มไปด้วยความขัดแย้งของพื้นที่ทางทะเล โดยเฉพาะการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ทะเลจีนไต้ของจีนตามรอยประ 9 เส้น ซึ่งมีประเทศต่างๆ เข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งหลายประเทศ รวมไปถึงไต้หวันที่เป็นพันธมิตรสำคัญ และคู่ค้าของสหรัฐฯ
แม้ว่าจีนจะแสดงออกอย่างแข็งกร้าวว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และเตือนสหรัฐฯ รวมไปถึงประเทศต่างๆ ว่าอย่าเข้ามายุ่ง แต่ต้องไม่ลืมว่าท่าทีของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เมื่อตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า “สหรัฐฯ จะส่งกำลังทางทหารเข้าช่วยเหลือไต้หวันหรือไม่ หากจีนทำการโจมตี” คำตอบของประธานาธิบดีไบเดน ชัดเจนมากว่า “ใช่”
การทำการซ้อมรบปิดล้อมไต้หวันของจีนโดยเฉพาะหากมีการยืดระยะการซ้อมรบออกไปเรื่อยๆ จะยิ่งเป็นการบีบให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างกองเรือที่ 7 ของสหรัฐฯ และกองทัพเรือจีนมากขึ้น อย่าลืมว่าหลายประเทศแม้จะเป็นคู่ค้าทางเศรษฐกิจกับจีน แต่ก็มองจีนเป็นภัยคุกคามในเอเชียแปซิฟิกเช่นกัน นโยบายปิดล้อมจีนเองก็ถือว่าเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ ก็ไม่ได้ทำเล่นๆ
คำถามที่น่าสนใจก็คือ วันนี้สหรัฐฯ อาจจะพร้อมแล้ว แต่จีนจะพร้อมจริงหรือเปล่า???
โฟกัสทุกความเคลื่อนไหว ที่น่าสนใจและอัดแน่นไปด้วยสาระ 
ที่ TopNewsFocus เลือกสรรมาให้คุณเติมอาหารสมองกันได้ทุกวัน
ติดตาม Topnewsfocus ได้ทุกช่องทางที่
โฆษณา