5 ส.ค. 2022 เวลา 08:33 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ไทยอาจ 'แก่ก่อนรวย' หนักขึ้น เพราะเครื่องยนต์เศรษฐกิจอ่อนแรง-ติดกับดักหนี้ รายได้ เหลื่อมล้ำฉุดรั้ง หลังโลกเข้าสู่จักรวาลใหม่ที่มีสงคราม ความขัดแย้ง เงินเฟ้อ และดอกเบี้ยสูง
ล่าสุด TODAY Bizview ได้เข้าฟังบรรยายของ ‘ดร. พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย’ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ในประเด็นเกี่ยวกับ KKP เตือนเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ ‘จักรวาลคู่ขนาน’ สถานการณ์เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย และโลกาภิวัตน์เปลี่ยนโฉมสิ้นเชิง
รายงานจาก KKP Research แต่ละชิ้นมักจะมีแนวคิดในการนำเสนอและการศึกษาที่น่าสนใจ รวมถึงสร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคม โดยเฉพาะชิ้นนี้ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับหนึ่งในความท้าทายสำคัญของไทยอย่าง ‘แก่ก่อนรวย’ ภายในเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่อ่อนแรงและกับดักหลายอย่างฉุดรั้ง TODAY Bizview จึงได้สรุปบรรยายนี้มาให้อ่านกัน
อย่างแรกอยากเริ่มต้นให้ทุกคนเห็นภาพแรกตรงกันก่อนว่า โลกในยุคก่อนโควิด-19 เป็นโลกแบบไหน เพื่อที่จะเล่าต่อเนื่องไปว่า แล้วโลกหลังโควิด-19 เปลี่ยนแปลงไปยังไง ทำไมเราถึงต้องเตรียมรับแรงกระแทก
โลกในยุคก่อนโควิด-19 นั้นเป็นโลกในยุคแห่งโลกาภิวัฒน์และสันติภาพ คือ ในช่วงที่ผ่านมา การติดต่อ สื่อสาร การคมนาคมขนส่ง และเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้ทั่วโลกต่างเชื่อมเข้าหากันจนแทบจะไร้พรมแดน พร้อมๆ กับที่โลกอยู่ในยุคแห่งสันติภาพ ไม่มีความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ร้ายแรง ทำให้การค้าโลกเฟื่องฟู
1
นอกจากนั้น โลกยังอยู่ในช่วง ‘เงินเฟ้อต่ำ’ มานานหลายสิบปี ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกลดอัตราดอกเบี้ยลงเรื่อยๆ จน ‘อัตราดอกเบี้ย’ ทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำเช่นกัน
ทีนี้พอ ‘โควิด-19’ เข้ามาก็ได้เปลี่ยนวิถีหลายๆ อย่างของโลก แม้ว่ากำลังจะจากไปแล้วเช่นกัน
อย่างแรก คือ จาก ‘โลกาภิวัฒน์’ สู่ ‘ลัทธิโดดเดี่ยว’
เพราะว่าความสำคัญของการค้าโลกผ่านจุดสูงที่สุดไปแล้ว แล้วความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ก็กำลังเปลี่ยนรูปแบบของการค้า และห่วงโซ่อุปทานของโลก ว่าง่ายๆ คือ จาก Supply Chain Efficiency สู่ Supply Chain Resilience
1
หรือว่า จากเน้นลงทุนที่ไหน ผลิตยังไงก็ได้ให้ได้ถูกที่สุด ต้นทุนต่ำที่สุด สู่การลงทุนที่ไหน ผลิตยังไงก็ได้ให้ชัวร์ว่าจะผลิตได้ตลอด ไม่มีของขาด ไม่มีจัดส่งสินค้าไม่ได้ เน้นความยืดหยุ่น ปรับตัวได้ ฟื้นตัวเร็วมากกว่า จนธุรกิจเริ่มเลือกกลับไปผลิตในประเทศตัวเอง ประเทศใกล้ๆ หรือว่าประเทศมิตรแทนประเทศที่ต้นทุนถูก แต่อยู่ไกล
อย่างที่สอง คือ จากสันติภาพ สู่ สงครามและความขัดแย้ง
คือ สงครามรัสเซีย-ยูเครม ที่เกิดขึ้นและยังดำเนินอยู่ ถือเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรป นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีผู้เสียชีวิตราว 26,000-64,000 คนแล้ว ทำให้หลายๆ พื้นที่ทั่วโลกตกอยู่ในความตึงเครียด นอกจากสงครามแล้ว หลายๆ ประเทศก็ยังตกอยู่ใต้ความขัดแย้งอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา-จีน-ไต้หวัน
อย่างที่สาม คือ เงินเฟ้อต่ำ สู่ เงินเฟ้อสูง
ถ้าไม่นับวิกฤตต้มยำกุ้งกับวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ตอนนี้เงินเฟ้อไทยและเงินเฟ้อโลก ขึ้นสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1982 แล้ว ก่อนหน้านี้เพราะโลกเป็นโลกแห่งเงินเฟ้อต่ำมาหลายปี หลายประเทศกลัวเงินเฟ้อจะต่ำไป จนต้องลดดอกเบี้ยลงมาเรื่อยๆ จนดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมาต่ำที่สุดในรอบ 5 พันปี
แต่ตอนนี้โลกกลับมามีเงินเฟ้อสูงอีกครั้ง จนทำให้ธนาคารกลางจำเป็นต้องแตะเบรกเศรษฐกิจ ขยับขึ้นดอกเบี้ย จนโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่สี่ คือ ดอกเบี้ยต่ำ สู่ ดอกเบี้ยสูง
จากทั้ง 4 ความเปลี่ยนแปลง ทำให้โลกเหมือนหลุดเข้ามาอยู่ในจักรวาลใหม่ จักรวาลคู่ขนานที่ไม่เหมือนโลกก่อนโควิดอีกแล้ว
คำถาม คือ แล้วมันส่งผลยังไงกับประเทศไทยของเราบ้าง
ตอนนี้ ‘เศรษฐกิจไทย’ เรียกว่า “ฟื้นตัวจากฐานต่ำ” แต่ “ยังไม่กลับไปที่เดิมก่อนโควิด”
เพราะว่าภาคการท่องเที่ยว ส่งออก และการบริโภคในประเทศเริ่มฟื้นตัวตามการเปิดเมืองแล้ว แต่ยังไม่เต็มที่ ส่วนภาคการเกษตรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากวิกฤตขาดแคลนอาหารที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ก็มีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากค่าปุ๋ย
ถ้ามาดู GDP ปี 2022 เทียบกับปี 2019 จะเห็นว่า ไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ GDP ยังไม่กลับไปที่ระดับก่อนโควิด-19 ทั้งๆ ที่หลายประเทศที่ได้รับผลกระทบหนัก สามารถฟื้นตัวได้ดี และกลับไปที่ระดับก่อนโควิดกันหมดแล้ว
เป็นเพราะ ‘หลุม’ จากการหยุดชะงักของเศรษฐกิจไทยนั้นลึกกว่าคนอื่นๆ แต่นั่นก็แปลว่า ตอนนี้รายได้ของคนไทยยังไม่กลับไปเท่าเดิม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่รายได้น้อยและชาวนา
ในระยะสั้น ประเทศไทยจะต้องเจอกับ ‘เงินเฟ้อสูง’ ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเปราะบาง ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน และส่งผ่านต้นทุนสู่ภาคธุรกิจ รวมถึงดอกเบี้ยจะเป็น ‘ดอกเบี้ยขาขึ้น’ ซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนและธุรกิจรายย่อย กระทบต่อไปถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
นอกจากนั้น อาจจะต้องเจอความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกถดถอยที่จะกระทบไทยอย่างแน่นอน เพราะเราพึ่งพาการท่องเที่ยวและการส่องออก อีกอย่างคือ ผลของ ‘สงคราม’ ที่จะทำให้ต้นทุนพลังงานและปุ๋ยแพง อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องให้ภาคเกษตรแย่ลงอีก
สิ่งที่น่าห่วงกว่า คือ ‘ระยะยาว’ เพราะหลังจาก 1-2 ปีข้างหน้าที่ GDP จะเติบโต 3-4% แล้ว GDP จะเริ่มเติบโตช้าลง จากปัญหา ‘กับดักฉุดรั้ง’ ของประเทศไทยอย่าง
- กับดักรายได้ปานกลาง เศรษฐกิจโตช้าลง เสียความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่สำคัญ
- กับดักการพึ่งพาต่างประเทศ
- กับดักหนี้
- กับดักความเหลื่อมล้ำ
และ ‘เครื่องยนต์อ่อนแรง’ อย่าง
.
- โครงสร้างประชากร ที่มีเข้าสู่สังคมสูงอายุและมีประชากรวัยหนุ่มสาวน้อยลง
- การส่งออก
- ภาครัฐ
- ทรัพยากรธรรมชาติและความมั่นคงทางพลังงาน
จากทั้งสองปัจจัยเสี่ยงอย่าง ‘กัดักฉุดรั้ง’ และ ‘เครื่องยนต์อ่อนแรง’ ทำให้ไทยอาจต้องเจอกับความท้าทายอย่างสถานการณ์ ‘แก่ก่อนรวย’ หนักขึ้นอีก
โดยปัญหาแก่ก่อนรวยจะทำให้เศรษฐกิจโตช้าลงด้วย ไทยจึงต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน
‘ดร. พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย อธิบายว่า ไทยต้องปรับตัวเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
โดยมีหลายๆ อย่างประกอบกัน อย่างเช่น
- เพิ่มการแข่งขันลดการผูกขาด
- เพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐ
- ลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพ
- ยกระดับการศึกษาและทักษะ
- ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา
- เพิ่มคุณภาพสถาบันเศรษฐกิจ
- เปิดเสรีแรงงานและบริการ
- ลดความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส
- ลดคอร์รัปชัน
- กระจายอำนาจการคลัง
- ส่งเสริมประชาธิปไตย
1
เพื่อให้ประเทศไทยที่เครื่องยนต์เศรษฐกิจอ่อนแรงและกับดักฉุดรั้งเยอะ สามารถเอาตัวรอด หลังโลกเข้าสู่จักรวาลใหม่ที่มีสงคราม ความขัดแย้ง เงินเฟ้อ และดอกเบี้ยสูงนี้
โฆษณา