5 ส.ค. 2022 เวลา 08:46 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
นับเป็นระยะเวลา 36 กว่าปีมาแล้วที่ยานอวกาศวอยเอเจอร์ 2 ได้ได้ไปเยี่ยมเยือนดาวยูเรนัสด้วยภารกิจบินโฉบในปี 1986 ซึ่งถือว่าเป็นยานอวกาศลำแรกและยานอวกาศเพียงลำเดียวที่เท่านั้นที่ได้ไปสำรวจดาวยูเรนัสในระยะใกล้
ก่อนที่ต่อมาในช่วงต้นปีนี้เอง กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์กับนักชีวดาราศาสตร์ (ผู้ศึกษาเรื่องความเป็นไปได้ของสิ่งมีชีวิตต่างดาว) ระดับหัวกะทิก็ได้ออกมาเปิดเผยถึงรายการลำดับความสำคัญของภารกิจอวกาศ ที่นาซาและองค์กรพันธมิตรควรเร่งให้เกิดขึ้นให้เร็วสุดที่สุด ซึ่งเป็นรายงานที่จะออกมาเพียงทุก ๆ 10 ปีเท่านั้น
โดยประเด็นแรกที่นักวิทย์กลุ่มนี้เล็งเห็นตรงกันคือการนำตัวอย่างดินดาวอังคารกลับมายังโลก เพื่อค้นหาร่องรอยฟอสซิลของจุลชีพขนาดเล็กที่อาจเคยอาศัยอยู่บนดาวอังคารในอดีต เมื่อครั้งที่ดาวอังคารยังมีมหาสมุทรกว้างใหญ่ไม่ต่างจากโลกของเรามากนัก ซึ่งทางนาซาก็ได้มีการประกาศรายละเอียดของภารกิจไปอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนที่แล้ว - สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://spaceth.co/tag/mars-sample-return/
ส่วนประเด็นที่สองก็คือการส่งยานอวกาศกลับไปสำรวจดาวยูเรนัส ซึ่งได้สร้างความตื่นตกใจไปทั่วกลุ่มนักวิทย์ฯที่ไม่ได้ไปร่วมประชุมเป็นอย่างมาก จนอาจทำให้เราทุกคนสงสัยกันว่าทำไมดาวยูเรนัสถึงสำคัญจนขึ้นมาติดเป็นอันดับ 2 ของรายการนี้ได้
โดยเหล่านักวิทยาศาสตร์ในที่ประชุมก็ได้ให้เหตุผลประมาณว่า ดาวยูเรนัสเป็นประเภทดาวเคราะห์ที่เราพบเจอได้ค่อนข้างบ่อยในระบบดาวอื่น ซึ่งเป็นประเภทที่เรียกว่า "ดาวเคราะห์ยักษ์น้ำแข็ง" ที่มีคุณสมบัติแตกต่างจากดาวเคราะห์แก๊สยักษ์ อย่าง ดาวพฤหัสฯและดาวเสาร์โดยสิ้นเชิง
อีกทั้งดวงจันทร์หลายสิบดวงของดาวยูเรนัสเองก็ยังมีลักษณะพื้นผิวที่โดดเด่น ต่างจากดาวบริวารดวงอื่นในระบบสุริยะของเราด้วย ซึ่งอาจมีความเป็นได้ที่หนึ่งในนั้นอาจมีมหาสมุทรอยู่ใต้พื้นผิวอยู่ด้วย
นอกจากนี้รายงานจากที่ประชุมก็ยังมีการเสนอเรื่องรูปแบบของยานอวกาศที่จะส่งไปยังดาวยูเรนัสเพิ่มเติม ว่าจะให้ตัวยานประจำการอยู่บนวงโคจรเป็นหลัก พร้อมกับติดตั้งยานลูกขนาดเล็กไปด้วย เพื่อทำการดำดิ่งลงไปในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์แก๊สในระดับที่ลึกมาก ๆ เป็นครั้งแรก โดยช่วงเวลาการปล่อยตัวยานที่ดีที่สุดจะอยู่ในช่วงปี 2031 ถึง 2032 และใช้เวลาประมาณ 15 ปีในการเดินทางไปยังดาวยูเรนัส
แต่ถึงกระนั้นเราก็ยังต้องมาลุ้นกันอีกทีว่าทางนาซาจะอนุมัติภารกิจนี้หรือไม่ เพราะธรรมชาติการขอนุมัติโครงการกับนาซานั้นมีการแข่งขันที่สูงมากจากหลากหลายสถาบัน เนื่องจากนาซามีงบประมาณจำกัดอยู่พอสมควรนั่นเอง
*ข้อมูลเพิ่มเติม* ดาวยูเรนัสเป็นดาวเคราะห์ลำดับ 7 ในระบบสุริยะ ซึ่งอยู่ห่างไกลจากดวงอาทิตย์ราว 18 AU ( 1 AU คือระยะห่างเฉลี่ยของโลกจากดวงอาทิตย์ที่ประมาณ 150 ล้านกิโลเมตร) และมีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ -195 องศาเซลเซียส
*ภาพถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทรา https://chandra.harvard.edu/photo/2021/uranus/
1
โฆษณา