6 ส.ค. 2022 เวลา 23:05
พลังงานส่อวิกฤต! ก๊าซสำรองตํ่า-นำเข้าดีเซลผลิตไฟ ส.ค.เสี่ยงดับบางพื้นที่
1
พลังงานวุ่น ส่อวิกฤตขาดแคลนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ชี้เหตุปริมาณสำรองก๊าซต่ำ ดีเซลในประเทศขาดโรงกลั่นหยุดซ่อม เสี่ยงไฟฟ้าดับบางพื้นที่ ต้องรอลุ้นนำเข้าน้ำมันดีเซลจากสิงค์โปร์ และก๊าซแอลเอ็นจี ส่งถึงมือก่อน 17ส.ค.นี้
กำลังส่งสัญญาณให้เห็นถึงประเทศกำลังเข้าสู่ภาวะขาดแคลนพลังงานที่เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า เมื่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สั่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาผลิตไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นมา
เนื่องจากการจัดหาก๊าซธรรมชาติตามแผนที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ต้องดึงก๊าซฯสำรองเพื่อความมั่นคงพลังงานทีมีอยู่ 6,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตออกมาใช้ และกำลังร่อยหรอลงทุกวัน หากไม่มีการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีจากต่างประเทศเข้ามาเติม
1
ขณะที่การใช้น้ำดีเซลตามแผนจะต้องใช้ถึงวันละ 10 ล้านลิตรหรือในเดือนสิงหาคมนี้ต้องใช้ราว 300 ล้านลิตร เพื่อลดการใช้ก๊าซสำรอง และส่วนหนึ่งใช้น้ำมันดีเซลผลิตไฟฟ้าถูกกว่าใช้แอลเอ็นจี
ประสบปัญหาจากการขาดแคลนในประเทศ เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันหลายแห่งในประเทศหยุดซ่อมบำรุง ทำให้มีน้ำมันดีเซลเหลือใช้บางส่วนเพียง 2.5 ล้านลิตรต่อวันเท่านั้น จำเป็นต้องสั่งน้ำมันดีเซลจากสิงคโปรมาเสริม
1
  • ใช้ไฟพุ่งสำรองก๊าซหาย
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ปัญหาการขาดแคลนเชื้อเพิงผลิตไฟฟ้า เนื่องจากที่ผ่านการผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ประกอบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมาสูงขึ้น
1
และโรงไฟฟ้าถ่านหินหยุดฉุกเฉิน ทำให้ต้องใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้าเกินกว่าแผนจัดหาถึง 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต ต้องไปดึงก๊าซสำรองที่มีอยู่มาผลิตไฟฟ้าแทน
กกพ.เห็นปริมาณสำรองก๊าซฯเริ่มต่ำลง จึงได้สั่งให้กฟผ.ไปใช้น้ำมันดีเซลผลิตไฟฟ้าแทน สอดรับกับการสั่งการของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ให้กระทรวงพลังงาน เร่งหาทางลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน
โดยให้โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ เปลี่ยนมาใช้น้ำมันดีเซลในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ให้มากที่สุด เพราะมีราคาที่ถูกกว่าแอลเอ็นจีแทน หรือคิดเป็นต้นทุนผลิตไฟฟ้าประมาณ 4-5 บาทต่อหน่วย เทียบกับนำเข้าแอลเอ็นจีมาผลิตไฟฟ้า 7-8 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้ ในการนำน้ำมันดีเซลมาผลิตไฟฟ้า กับต้องเผชิญปัญหาว่า โรงกลั่นน้ำมันในประเทศหลายแห่งหยุดซ่อมบำรุงประจำปี ทำให้ไม่มีน้ำมันดีเซลเพียงพอ ทาง กกพ.จึงสั่งให้กลับไปใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้า ยิ่งส่งผลต่อปริมาณสำรองก๊าซต่ำมากขึ้น ถือว่าเป็นความเสี่ยงต่อระบบความมั่นคงไฟฟ้าของประเทศ
  • เร่งนำเข้าแอลเอ็นจีมาเสริม
การแก้ปัญหาเวลานี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ได้มีการประชุมหารือ เพื่อแก้วิกฤตที่เกิดขึ้น ซึ่งล่าสุดทาง กกพ.จึงได้อนุมัติให้มีการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้นอีก 1 หมื่นล้านลูกบาศก์ฟุต ขณะที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) รับปากจะไปนำเข้าน้ำมันดีเซลจากสิงคโปร์ช่วงสิงหาคมนี้ราว 100 ล้านลิตร
“ในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน จะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งจัดทำแผนรับมือกับวิกฤตการขาดแคลนและราคาพลังงานที่เกิดขึ้นดังกล่าว รวมทั้งการจัดทำแผนการจัดหาเชื้อเพลิงให้เพียงพอในการผลิตไฟฟ้าช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 โดยเฉพาะการให้ ปตท.จัดทำแผนในการจัดส่งน้ำมันดีเซลให้เพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้า เพื่อลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิง”
  • เร่งสำรองดีเซลให้โรงไฟฟ้า
แหล่งข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กฟผ. ได้ใช้น้ำมันดีเซลสำรองที่มีอยู่ 3 วัน ในแต่ละโรงไฟฟ้าไปเกือบจะหมดแล้ว และไม่มีของใหม่เข้ามาเติม เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันหยุดซ่อม อีกทั้งบริษัท โออาร์ ไม่สามารถจัดส่งน้ำมันได้ตามแผน จากความต้องการราว 300 ล้านลิตรต่อเดือน เพื่อกระจายให้โรงไฟฟ้าก๊าซฯของ กฟผ.และเอกชน 12 แห่ง ที่สามารถเปลี่ยนมาใช้ดีเซลได้
ส่งผลให้ กฟผ. ต้องปรับแผน และนำเสนอทางกระทรวงพลังงานไปว่าในเดือนสิงหาคมนี้จะใช้น้ำมันดีเซลผลิตไฟฟ้าได้ราว 105 ล้านลิตร ตามที่ ปตท. แจ้งมา ซึ่ง ณ วันนี้จัดส่งให้ได้ราว 2.5 ล้านลิตรต่อวัน ให้กับโรงไฟฟ้าที่ศรีราชาของบริษัท บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เท่านั้น
  • เสี่ยงไฟดับบางพื้นที่
ดังนั้น หากน้ำมันดีเซลที่จะนำเข้ามาจากต่างประเทศอีก 100 ล้านลิตร ไม่สามารถนำมาเติมในถังสำรองให้เต็มได้อยู่ตลอดเวลา ประกอบกับก๊าซแอลเอ็นจี ที่อนุมัตินำเข้า 3.5 ลำ หรือราว 1 หมื่นล้านลูกบาศก์ฟุต ไม่สามารถ นำเข้ามาได้ก่อนวันที่ 17 สิงหาคม 2565 ปริมาณก๊าซสำรองจะถึงจุดต่ำสุด
เพราะส่วนหนึ่งต้องนำมาใช้ทดแทนก๊าซจากแหล่งซอติก้า จากเมียนมา ที่เกิดอุบัติเหตุ ส่งก๊าซมาไม่ได้ราว 245 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันด้วย ซึ่งถือเป็นจุดอันตรายที่ปริมาณก๊าซจะไม่พอ และเสี่ยงต่อให้เกิดการดับไฟฟ้าบ้างพื้นที่ได้
  • กฟน.-กฟภ.เตรียมรับมือ
ทั้งนี้ ทางกฟผ.ได้มีการประสานงานไปยังการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เตรียมรับมือไว้แล้ว หากการผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอ ว่าจะต้องดับไฟฟ้าในพื้นที่ใดบ้าง ซึ่งทาง กฟผ. ไม่ต้อง การให้เกิดไฟฟ้าดับ เพราะเป็นเรื่องความเสียหายของประเทศ
ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับว่าก๊าซแอลเอ็นจีที่สั่งนำเข้ามา และน้ำมันดีเซลที่จะนำเข้าจากสิงคโปร์ จะเข้ามาทันตามระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ
“แผนการใช้น้ำมันดีเซลในโรงไฟฟ้าก๊าซฯ 12 แห่ง ที่สามารถเปลี่ยนมาใช้ดีเซลได้นั้น แต่ละเดือนจะต้องจัดหาให้ได้อย่างต่ำ 7.5-10 ล้านลิตรต่อวัน เพื่อกระจายตามโรงไฟฟ้าต่างๆ
ซึ่งจะช่วยผลิตไฟฟ้าต้นทุนต่ำต่อวันได้ 2,100-2,800 เมกะวัตต์ แต่หากจัดหาไม่ได้ กกพ.ก็ต้องอนุมัตินำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มมากขึ้น และประชาชนต้องยอมรับกับค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นตามมาในภายหลัง”
แหล่งข่าวจากวงการพลังงาน ให้ความเห็นว่า ปัญหาที่ประเทศกำลังเข้าสู่ภาวะขาดแคลนพลังงานนั้น เกิดจากรัฐบาล ที่ไม่กล้าตัดสินใจวางแผนการจัดหาก๊าซแอลเอ็นจีระยะยาว ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ที่ให้ยกเลิกหลักเกณฑ์การจัดหา LNG สัญญาระยะยาวของ ปตท.
และเปิดโอกาสให้ Shipper สามารถจัดหาและนำเข้า LNG ทั้งในรูปแบบสัญญาระยะสั้น ระยะกลาง หรือระยะยาว รวมถึงจัดหา Spot LNG ได้ เมื่อเอกชนไม่นำเข้าเนื่องจากราคาแอลเอ็นจแพง จึงส่งผลให้ปริมาณก๊าซในประเทศขาดแคลนในที่สุด
กุลิศ สมบัติศิริ
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน ได้วางแผนในการนำเข้า LNG รวมทั้งใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และบริหารต้นทุนเพื่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด
จึงขอให้มั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดไฟฟ้าดับอย่างแน่นอน และขอความร่วมมือประชาชนในการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหากลดการใช้ไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศลงได้ จะช่วยลดการนำเข้าพลังงาน ส่งผลให้ต้นทุนของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าก็ถูกลง และจะลดผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชนได้
โฆษณา