7 ส.ค. 2022 เวลา 11:09 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
หลอดไฟแอลอีดี มีกี่ประเภท
หลอดไฟแอลอีดี มีกี่ประเภท และกี่ชนิดกันนะ? วันนี้ “แสงไฟดอทคอม” ขอนำเสนอบทความเกี่ยวกับประเภทของหลอดไฟแอลอีดี ว่ามีกี่แบบ อะไรบ้างมาดูกันครับ
ก่อนอื่นเรามาว่ากันด้วยเรื่องของ ไฟ LED หรือ ไดโอดเปล่งแสง ซึ่งเป็นส่วนที่เปล่งแสงทำให้เรามองเห็นได้เมื่อกระแสไฟฟ้าไหลผ่านไดโอดเปล่งแสง เช่นเดียวกับ หลอดไฟฟ้าทั่วไป ที่เราสามารถนำมาใช้เพื่อให้ความสว่างในที่ต่างๆ เช่น อาคาร บ้านเรือน ที่อยู่อาศัย หรือ พื้นที่ต่างๆ ที่เราต้องการแสงสว่างในบริเวณนั้นๆ
และหลอดไฟฟ้า ยังถูกนำมาใช้ในหลากหลายสถานการณ์มาก เพราะสามารถใช้งานได้ทั้งในร่ม และกลางแจ้ง เรียกได้ว่าถ้าโลกนี้ไม่มี หลอดไฟ ในยามค่ำคืนเราคงจะลำบากน่าดู คงต้องอาศัย เทียน หรือ ตะเกียง แบบสมัยโบราณ กันเลยทีเดียว
ทั้งนี้ต้องขอบคุณท่านผู้นี้ ทอมัส แอลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) ซึ่งจริงๆ แล้ว “เอดิสัน” ไม่ได้เป็นผู้คิดค้น “หลอดไฟ” แต่เพียงผู้เดียว ยังมีนักวิทยาศาสตร์อีก 20 คน ที่คิดค้นหลอดไฟขึ้นมา เพียงแต่ ทอมัส เอดิสัน เป็นบุคคลแรกที่จดสิทธิบัตรในการประดิษฐ์หลอดไฟ จนนำมาทำเป็นธุรกิจได้
และปัจจุบัน หลอดไฟแอลอีดี ได้เข้ามาแทนที่ หลอดไฟฟ้าแบบเดิม เช่น หลอดไส้ หลอดนีออน (ฟลูออเรสเซนต์) หรือแม้กระทั่งหลอดที่มีกำลังวัตต์สูง เช่น หลอดเมทัลฮาไลด์ หรือ หลอดฮาโลเจน โดยมาในรูปแบบของ โคม LED เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า หลอด LED สามารถนำมาใช้แทนหลอดไฟแบบเดิมได้เป็นอย่างดี
ชนิดของไฟแอลอีดี
แอลอีดี (LED) ไดโอดเปล่งแสง ถือเป็นเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์อีกแบบหนึ่ง เพราะมันยอมให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านได้ แล้วเปล่งแสงสว่างออกมา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบมานานแล้ว แต่เนื่องจากแสงที่เปล่งออกมาน้อยมาก จึงทำให้ LED ในยุคนั้นไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร
แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีได้พัฒนาแอลอีดี LED ให้มีประสิทธภาพสูงขึ้นมาก จนสามารถนำมาใช้แทนหลอดไฟส่องสว่างแบบเดิมได้เป็นอย่างดี แล้วไฟแอลอีดีที่ว่ามันเป็นอย่างไร มีรูปแบบใดบ้าง
LED ขนาดเล็ก
LED ขนาดเล็ก หรือ เรียกกันว่าเม็ดแอลอีดี เจ้าสิ่งนี้เราจะพบเห็นได้เป็นประจำในอุปกรณ์ต่างๆ เช่น รีโมทโทรทัศน์ ไฟแสดงสถานะของทีวี จอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือ แม้กระทั้ง ไม้ตียุง ซึ่งจะสังเกตได้จากอุปกรณ์ใด หรือ เครื่องใช้ไฟฟ้าใด ที่มีไฟแสดงสถานะ ล้วนแล้วแต่ใช้เจ้า LED ขนาดเล็กนี้ในการทำงานทั้งสิ้น เพราะคุณสมบัติในการเปล่งแสงของมันนี้เอง รวมถึงยังมีขนาดเล็ก และกินไฟน้อยอีกด้วย
LED พลังงานสูง (High Power LED)
LED พลังงานสูง (High Power LED) แอลอีดีชนิดนี้ เป็นผลมาจากความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ ที่มีความสามารถในการเปล่งแสงที่มีความเข้ม และความสว่างสูงขึ้นมาก ลักษณะของ LED ชนิดนี้จะเป็นแผ่นชิป โดยทั่วไปมักจะมีสีเหลือง มีรูปทรง และขนาดที่แตกต่างกัน และเจ้า “LED พลังงานสูง” นี้หละครับ ที่ในปัจจุบันได้ถูกนำมาผลิตเป็น หลอดไฟ LED และ โคมไฟ LED ที่มีมากมายหลากหลายแบบให้เราเลือกใช้
ซึ่งปัจจุบันไฟแอลอีดี มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาก แถมยังราคาถูกลงด้วย ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าลงได้เป็นอย่างดี แต่เราควรเลือกใช้แอลอีดีที่ได้ มาตรฐาน มอก. นะครับ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โอกาสหน้าจะมาแนะนำวิธีการเลือกซื้อไฟแอลอีดีกันครับ
ชนิดของแอลอีดี (LED) หลักๆ แล้วจะมีอยู่ 2 ประเภทข้างต้นที่เราสามารถนำมาใช้แทนหลอดไฟแบบเดิมได้ นอกนั้นจะเป็นไฟแอลอีดี ที่ใช้กับเครื่องจักร และ ใช้ในงานอุตสาหกรรมต่างๆ ใช้ในการเพาะปลูกพืชต่างๆ ซึ่งเป็นแอลอีดีชนิดพิเศษที่ผลิตขึ้นมาเฉพาะงานเท่านั้น
ประเภทของ หลอดไฟแอลอีดี
หลอดไฟ LED BULB: หลอดแอลอีดี BULB (กระเปาะ) ได้ถูกนำมาใช้แทนหลอดไส้ (Incandescent) หรือหลอดตะเกียบ (ฟลูออเรสเซนต์) เป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากหลอดแอลอีดีทรง BULB ปัจจุบันราคาถูกลงมาก และมีให้เลือกได้หลากหลายขนาดวัตต์ รูปทรงหลอดสวยงาม และที่สำคัญยังช่วยลดความร้อนที่มาจากตัวหลอดได้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่าประหยัดทั้งค่าไฟ และอุณหภูมิภายในบ้านก็ลดลงด้วย
หลอดไฟ LED BULB
หลอดไฟ LED TUBE
หลอดไฟ LED TUBE: สำหรับหลอดแอลอีดี TUBE (ทรงยาว) ได้ถูกนำมาใช้แทนหลอดนีออน หรือ หลอดฟลูออเรสเซนต์ T5 และ T8 ซึ่งปัจจุบันได้รับความสนใจอย่างมากเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ องค์กร ห้างสรรพสินค้า หรือ โรงงานอุตสาหกรรม ต่างๆ ที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายลง จากการที่ของเดิมใช้เป็นหลอดนีออน 18w หรือ 36w โดยใช้เป็นจำนวนมาก ซึ่งหากเปลี่ยนมาใช้ หลอดไฟ LED TUBE ทั้งหมดจะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าลงได้อย่างมากเลยทีเดียว เป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจได้เป็นอย่างดี
จากประเภทของหลอดแอลดีข้างต้น ปัจจุบัน ไฟแอลอีดี ยังพัฒนาไปเป็นรูปทรงต่างๆ ตามหลอดไฟแบบเดิม และได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้สามารถทดแทนหลอดไฟฟ้าดั่งเดิมได้ทั้งหมด อาทิเช่น หลอดทรงปิงปอง หลอดทรงจำปา หลอดทรงพาร์ หลอดทรงตะเกียบ เป็นต้น
ขั้วหลอดไฟมีกี่แบบ
ขั้วหลอดไฟ มีอะไรบ้างลองมาดูกันครับ โดยหลักๆ แล้วขั้วหลอดไฟจะมีที่ใช้กันโดยทั่วไปไม่กี่ประเภทเท่านั้น แต่ยังมีขั้วหลอดไฟ ที่ใช้สำหรับหลอดพิเศษต่างๆ เช่น หลอดในเครื่องจักรกล หลอดเครื่องมือแพทย์ หลอดสำหรับฆ่าเชื้อ เป็นต้น แต่ในที่นี้เราจะมาแนะนำในส่วนของ ขั้วหลอดไฟ ที่เราใช้กันทั่วไป และพบเห็นได้บ่อยๆ กันครับ
ขั้วแบบเกลียว
ขั้ว E14 : หรือที่เรียกกันว่า “ขั้วเล็ก” แต่ยังมีอีกขนาดคือ ขั้ว E12 ซึ่งพบไม่มากนัก โดยมากเป็นหลอดเฉพาะรุ่นเท่านั้น สำหรับขั้วหลอดไฟ E14 นั้นนิยมใช้กับหลอดรูปทรงจำปา หรือ ทรงกระบอกเล็ก โดยแต่เดิมหลอดทรงจำปานั้นจะเป็นแบบหลอดไส้ เวลาเปิดใช้งานไปสักพัก ตัวหลอดจะมีความร้อนสูงมาก ประมาณว่าหากเผลอไปจับเข้า อาจจะมือพองได้เลยครับ
ข่าวดีก็คือ ปัจจุบันหลอดแอลอีดีได้พัฒนาจนมีหลอดสำหรับ ขั้ว E14 ได้แล้ว โดยมีรูปทรงเหมือนกับหลอดไส้เดิม เช่น ทรงจำปา หรือ ทรงเปลวเทียน ซึ่งเมื่อเปิดไฟแล้วหลอดจะไม่ร้อน ช่วยลดความร้อนลงไปได้เยอะเลยทีเดียว
ขั้ว E27 : เป็นขั้วหลอดไฟ ที่พบเห็นกันได้มากที่สุด เพราะนิยมใช้กับหลอดไฟแบบต่างๆ ได้หลากหลาย เริ่มแรกเดิมที ขั้ว E27 จะนำมาใช้กับหลอดไส้ทรงน้ำเต้า หรือ ทรงอินแคน ซึ่งย่อมาจาก Incandescent และ ทรงปิงปอง ต่อมาได้พัฒนามาใช้ในหลอดประหยัดไฟแบบแท่ง หรือ เรียกอีกอย่างนึงว่า หลอดตะเกียบ และในปัจจุบันนี้หลอดแอลอีดี ก็ได้ผลิตออกมาตอบสนองผู้ใช้อย่างครบถ้วน โดยทรงที่นิยม คือ ทรงน้ำเต้า หรือ LED BULB นั้นเอง
ขั้ว E40 : ขั้วหลอดไฟ E40 เป็นขั้วหลอดเกลียวเหมือนกันกับ ขั้ว E27 แต่มีขนาดใหญ่กว่า สำหรับขั้วหลอดไฟ E40 นั้น นิยมใช้กับหลอดที่มีกำลังวัตต์สูงๆ เพื่อรองรับขนาดของหลอดที่ใหญ่ขึ้น โดยทั่วไปจะใช้กับหลอด “High Watt” ที่มีกำลังวัตต์มากกว่า 40w ขึ้นไป
ซึ่งเราจะพบเห็นได้มากใน โคมฟลัดไลท์ หรือ โคมสปอร์ตไลท์ หลอดเมทัลฮาไลด์ และ หลอดไฮเพรสเชอร์โซเดียม ทรงกระบอก ส่วนหลอดทรงโบว์ลิ่งจะใช้สำหรับโคมฝาชี หรือ เรียกกันว่า โคมไฮเบย์ หรือ โคมโลว์เบย์ ทั้งนี้หลอดดังกล่าวจะต้องใช้ควบคู่กับ บัลลาสต์ และ อิกไนเตอร์ ในการทำให้หลอดติด
ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองอย่างมาก อีกทั้งหลอดยังมีความร้อนสูงมาก จนอู่ซ่อมสีรถนำมาใช้ในการอบสีให้แห้งเร็วขึ้น ปัจจุบันเทคโนโลยี LED ได้พัฒนามาเป็น โคมไฟสปอร์ตไลท์ LED (โคมฟลัดไลท์) ซึ่งมีคุณภาพเทียบเท่ากับโคมวัตต์สูงแบบเดิม ติดตั้งง่าย น้ำหนักเบา และไม่ต้องใช้อุปกรณ์ต่อพ่วงใดๆ เลย
ขั้วแบบเขี้ยว
ขั้ว G13 : ก็คือขั้วหลอดไฟนีออนนั้นเอง โดยจะนำมาใช้กับหลอดนีออน T8 (ฟลูออเรสเซนต์) ขนาดวัตต์ 18w (หลอดสั้น) และ 36w (หลอดยาว) ซึ่งหลอดนีออนเดิมนั้นต้องใช้ควบคู่กับ บัลลาสต์ และ สตาร์ทเตอร์ เพื่อทำให้หลอดติด หรือ ใช้กับ บัลลาสต์อิเล็คทรอนิกส์อย่างเดียวก็ได้เหมือนกัน และปัจจุบันหลอดแอลอีดีได้มีการผลิตขึ้นเพื่อใช้แทนหลอดนีออนเดิมแล้ว โดยมีชื่อเรียกว่าหลอด LED TUBE ซึ่งช่วยให้ประหยัดไฟลงได้มากเลยทีเดียว ติดตั้งก็ง่าย ไม่ต้องใช้ บัลลาสต์ และ สตาร์ทเตอร์ ให้ความสว่างมากกว่า และความร้อนต่ำกว่าอีกด้วย
ขั้ว GU10 : หรือเรียกอีกชื่อนึงว่า ขั้วขาสตาร์ทเตอร์ ลักษณะจะเหมือนกับขั้วสตาร์ทเตอร์ คือ มีขาบิดล็อคได้ ซึ่งขั้ว GU10 เรามักจะพบเห็นในหลอดฮาโลเจนแบบถ้วย MR16 ซึ่งหลอดดังกล่าวนิยมนำมาใช้กับโคมไฟติดราง ซึ่งต้องติดตั้งในลักษณะส่องลง ทำให้มีโอกาสที่หลอดจะหลุดออกจากตัวโคมได้ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงต้องใช้ขั้ว GU10 กับหลอดไฟบางประเภทนั้นเองครับ ปัจจุบันหลอดแอลอีดีก็ได้มีการผลิตมาในขั้วหลอด GU10 นี้ด้วยเหมือนกัน เพื่อตอบสนองผู้ใช้ที่ยังมีโคมไฟขั้ว GU10 อยู่ด้วย
ขั้ว GU5.3 : สำหรับขั้ว GU5.3 นั้น นิยมนำมาใช้กับหลอดฮาโลเจนแบบถ้วย และ ฮาโลเจนแบบแคปซูล ซึ่งลักษณะขั้วจะเป็นเหล็กแหลมสั้นๆ 2 แท่งที่ตัวขั้วหลอด โดยตัวเลข 5.3 คือ ระยะห่างของแท่งเหล็กทั้ง 2 แท่ง นั้งเองครับ (หน่วยเป็นมิลลิเมตร) และยังมีขั้ว GU4 ซึ่งระยะห่างระหว่างแท่งเหล็กจะแคบกว่าขั้ว GU5.3 เล็กน้อยครับ
จากข้างต้นจะเป็นขั้วหลอดไฟ ที่พบเห็นกันได้บ่อยๆ และมีใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน นอกเหนือจากนี้จะเป็นขั้วสำหรับหลอดประเภทต่างๆ ซึ่งเราไม่ค่อยได้ใช้กันสักเท่าไรครับ ดังนั้นจึงขอนำเสนอชนิดของ ขั้วหลอดไฟ ไว้เพียงเท่านี้ก่อนครับ
พื้นฐานของหลอดไฟแอลอีดี
อายุการใช้งานของหลอดไฟแอลอีดี มีการกำหนดที่แตกต่างกว่าหลอดไฟแบบเดิม เช่น หลอดไส้ หรือ หลอดฟลูออเรสเซนต์ คือ หลอดแอลอีดี จะมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่ามาก สูงสุดถึง 50,000 ชั่วโมงเลยทีเดียว นั้นเป็นเพราะ หลอดไฟ LED มีความร้อนน้อยกว่า จึงทำให้หลอดแอลอีดีมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมาตรฐานการผลิตของแต่ละแบรนด์ด้วยว่าเลือกใช้แอลอีดีที่มีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน แต่แอลอีดีก็ยังคงเหมือนหลอดไฟแบบเดิมตรงที่ เมื่อเราเปิดใช้ไปนานๆ ค่าของลูเมน หรือ ค่าความสว่างจะค่อยๆ ลดลงไปตามอายุการใช้งาน ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างไปจากหลอดไฟแบบเดิม ที่มีการเสื่อมค่าของลูเมนลงตามอายุการใช้งานเช่นเดียวกัน ตรงนี้เป็นเรื่องของวัตถุที่มีการเสื่อมไปตามกาลเวลา ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติมากๆ ครับ
ความร้อนของไฟแอลอีดี
ไฟแอลอีดีจะไม่แผ่ความร้อน เหมือนหลอดไส้เดิมที่แผ่ความร้อนออกมาทางไส้หลอดโดยตรง เช่นเดียวกันกับหลอดไฟฮาโลเจนซึ่งมีความร้อนสูง โดยระบบของหลอดแอลอีดีที่มีคุณภาพ จะมีการระบายความร้อนออกจากตัวหลอด ผ่านทางช่องระบายความร้อนที่ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยในการดูดซับความร้อนจากตัวหลอด โดยมากมักจะผลิตจากอลูมิเนียม
ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีแอลอีดี สามารถจัดการกับความร้อนของแอลอีดีได้เป็นอย่างดี ทำให้หลอดแอลอีดี และ โคมไฟแอลอีดี มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้นกว่าเดิม ให้ความสว่างมากขึ้น แต่กินไฟน้อยลง จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าวันนี้เราควรใส่ใจหันมาช่วยกัน เปลี่ยนมาใช้ไฟแอลอีดีกันให้มากขึ้้น ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อช่วยลดความร้อนโดยรวม และช่วยลดขยะที่เกิดจากการทิ้งหลอดไฟแบบเดิมซึ่งมีปริมาณมากในแต่ละวัน และยังเป็นขยะมีพิษอีกต่างหาก
บทสรุป
หลอดไฟแอลอีดี (LED) ถือเป็นเทคโนโลยีการส่องสว่างที่มีประสิทธิภาพและมีศักยภาพสูงสุดในปัจจุบัน ซึ่งอนาคตหากทุกท่านร่วมกันเปลี่ยนจากหลอดไฟเดิม มาใช้หลอดไฟแอลอีดี กันทุกบ้าน ทุกภาคส่วน ลองคิดดูสิครับว่าประเทศเรา จะลดการใช้พลังงานไฟฟ้าลงได้อย่างมหาศาลเลยทีเดียว
ซึ่งช่วยชาติประหยัดงบประมาณในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างมากมายมหาศาล ซึ่งปัจจุบัน การไฟฟ้านครหลวง และ กระทรวงพลังงาน รวมถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ก็ได้รณรงค์เชิญชวนผู้คนให้เปลี่ยนมาใช้แอลอีดี กันอย่างต่อเนื่อง จึงไม่มีเหตุผลใดเลยที่เราจะยังคงใช้หลอดไฟแบบเก่าอยู่อีก เปลี่ยนเถอะครับ หากหลอดไฟดวงเดิมของท่านเสีย หวังว่าท่านจะเลือกซื้อหลอดไฟแอลอีดีมาเปลี่ยนใช้แทนหลอดเดิมกันนะครับ
โฆษณา