13 ส.ค. 2022 เวลา 23:00 • การตลาด
พฤติกรรมการซื้อที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคในแคนาดา
วิกฤตการณ์โควิด-19 ไม่เพียงแต่กระทบการดําเนินการของธุรกิจต่างๆ เพียงชั่วคราว แต่ยังได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคชาวแคนาดาหลังจากนั้นด้วย ซึ่งแม้ว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัว และหลายอย่างในการใช้ชีวิตประจําวันได้กลับมาเป็นเหมือนเดิม โครงสร้างตลาดและระบบเศรษฐกิจยังคงได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่อาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
การเปลี่ยนแปลงเบื้องต้นที่เห็นได้ชัดคือการจับจ่ายใช้สอยที่มากขึ้น จากข้อมูลวิจัยของ Pwc’s Canadian Consumer Insights เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ชาวแคนาดากว่า 53% ใช้จ่ายในสินค้าหมวดอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยหมวดหมู่อื่นๆ ที่มีการเพิ่มขึ้นเช่นกัน ได้แก่ การรับประทานอาหารในร้านอาหารและบาร์ (36%) การเดินทาง (32%) การสั่งอาหารกลับบ้าน (28%) และการซื้อ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (22%) ตามลําดับ
ถึงแม้การเพิ่มขึ้นนี้ส่วนหนึ่งอาจเกี่ยวข้องกับภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบันที่พุ่งสูงขึ้น (อัตราเงินเฟ้อ แคนาดาของเดือนมิถุนายน 2565 เพิ่มขึ้น 8.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในรอบ 39 ปี) แต่การเพิ่มขึ้นในภาพรวมของทุกหมวดแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างที่มากไปกว่านั้น โดยหลังจากการล็อกดาวน์ร่วม 2 ปีผู้บริโภคทั่วโลกรวมถึงแคนาดาต่างกระตือรือร้นที่จะออกไปจับจ่ายใช้สอยข้างนอก ส่งผลให้ความต้องการของผุ้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งหลายๆธุรกิจเห็นผลกระทบในเชิงบวกนี้อย่างชัดเจน
อีกเทรนด์การเปลี่ยนแปลงที่ควรจับตามองคือการซื้อของออนไลน์ที่ลดลง ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ชาวแคนาดาหันมาซื้อของออนไลน์มากขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ อย่างไรก็ดี การเติบโตของการ ช็อปปิ้งออนไลน์เริ่มแผ่วลงหลังจากที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหมวดอุปโภคบริโภคซึ่งคนต่างต้องการกลับไปเลือกซื้อสินค้าอาหาร เช่น ผักและผลไม้สด ด้วยตนเองอีกครั้ง ผู้บริโภคส่วนใหญ่เริ่มกลับมาซื้อของที่ร้านค้ามากขึ้น
ในขณะเดียวกัน มีผู้บริโภคอีกจํานวนไม่น้อยที่ยังนิยมการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะหากสินค้าที่ต้องการนั้นหาได้ยากหรือมีราคาที่แตกต่างกันสูง
การสํารวจชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคมีความสนใจในการสนับสนุน และซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีกในท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดย 34% ของผู้ตอบแบบสํารวจกล่าวว่าการระบาดของโควิด-19 ทําให้พวกเขาซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีกในท้องถิ่นมากขึ้น ชาวแคนาดากว่า 67% ยอมจ่ายสูงขึ้นสําหรับผลิตภัณฑ์ของแคนาดา เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ถึงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของ แคนาดาในตอนนี้จะสูงมากก็ตาม
เรื่องนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทําให้การปลูกผักแบบแนวตั้งหรือ vertical farming เป็นแนวทางธุรกิจที่กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง เกษตรกรรมแนวตั้งนี้เป็นการปลูกพืชในร่ม และใช้ไฟ LED เป็นแหล่งพลังงาน โดยใช้น้ำน้อยกว่าการปลูกแบบ ปกติและอาจเป็นวิธีต่อสู้กับความไม่มั่นคงด้านอาหาร โดยการพัฒนา อุปกรณ์ที่ดีขึ้นและราคาที่ถูกลง เสริมกับความต้องการของผู้บริโภคที่ เพิ่มขึ้นอาจทําให้ vertical farming เป็นอีกทางที่จะทําให้ผู้ผลิตในท้องถิ่นสามารถสู้กับสินค้านําเข้าได้
พฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลกรวมถึงชาวแคนาดามีการเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก โดยพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนี้อาจเป็นผลดีต่อธุรกิจในพื้นที่เนื่องจากผู้บริโภคจะเลือกซื้อ จากร้านค้าในท้องถิ่นมากกว่าแต่ก่อน ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีสําหรับหลายธุรกิจในประเทศที่จะสามารถฟื้นตัวจากอุปสรรคที่เผชิญในช่วงการระบาด
อย่างไรก็ดี พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปนี้สร้างทัศนคติใหม่ต่อสินค้านําเข้าที่แคนาดาสามารถผลิตได้เองแต่อาจยังไม่กระทบกับสินค้าที่แคนาดาไม่สามารถผลิตได้เองอย่างกลุ่มสินค้าอาหารที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออก แต่ผู้ประกอบการไทยก็ควรพัฒนาสินค้าให้มีความแปลกใหม่และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอยู่เสมอ เพื่อสร้างเอกลักษณ์และความแตกต่างเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว
โฆษณา