14 ส.ค. 2022 เวลา 23:00 • การตลาด
ตลาดสินค้าอาหารแปรรูปในโคลอมเบีย
โคลอมเบียเป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Economy) ที่มี
การเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติโคลอมเบียระบุว่าในปี 2564 เศรษฐกิจมีการขยายตัวที่ร้อยละ 10.6 โดยอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและเครื่องดื่มขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 และประชากรใช้จ่ายร้อยละ 36 ของรายได้เพื่อซื้อสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม
โคลอมเบียเป็นประเทศที่มีสินค้าทางการเกษตร เช่น กาแฟ กล้วย ข้าว ข้าวโพด ปาล์ม อ้อย ฯลฯ อย่างไรก็ดี พืชผลทางการเกษตรที่โคลอมเบียมีอยู่ดังกล่าว มีจำนวนไม่เพียงพอที่จะใช้เป็นวัตถุดิบหรือส่วนผสมในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและเครื่องดื่มเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคภายในประเทศ
ทำให้โคลอมเบียต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศจำนวนมาก โดยเป็นการนำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ทั้งนี้ จากข้อมูลกระทรวงเกษตรของประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่าโคลอมเบียเป็นประเทศที่สหรัฐอเมริกาส่งออกสินค้าทางการเกษตรมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งมูลค่าการส่งออกฯ ประจำปี 2564 อยู่ที่ 3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ
“อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร” เป็นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมที่รัฐบาลโคลอมเบียสนับสนุนให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ เนื่องจากรัฐบาลต้องการส่งเสริมให้มีการผลิตภายในประเทศเพื่อลดการนำเข้าและเน้นการพึ่งพาตนเองให้มากขึ้น
ซึ่งสะท้อนได้จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการส่งออกของโคลอมเบีย หรือ ProColombia ที่ระบุว่า โคลอมเบียเป็นประเทศอันดับ 3 ของภูมิภาคลาตินอเมริกาที่มีการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) ในภาคอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มสูงที่สุดระหว่างปี 2561-2563 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 33 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP)
มูลค่าตลาดและทิศทางในอนาคต
จากข้อมูลของ Statista ระบุว่าตลาดอาหารแปรรูปในประเทศโคลอมเบียในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา (2557 - 2564) มีมูลค่าเฉลี่ย 37.75 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และภายในปี 2565 จะมีมูลค่าประมาณ 39.75 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ Statista คาดการณ์ทิศทางตลาดในอนาคตว่ายังคงมีแนวโน้มเติบโตได้อีก โดยอัตราการขยายตัวในอีก 5 ปี (2565-2570) จะมีอัตราเฉลี่ยร้อยละ 1.73 ซึ่งสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ (แฮม เบคอน ไส้กรอก ซาลามี ฯลฯ) จะครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูงที่สุด
รองลงมา ได้แก่ กลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน (Ready to Eat Food) กลุ่มอาหารที่ผลิตจากนมและไข่ (เนย ชีส โยเกิร์ต ไอศกรีม ฯลฯ) กลุ่มขนมและของทานเล่น (คุกกี้ ช็อกโกแลต ของขบเคี้ยว ฯลฯ) กลุ่มอาหารทะเล (ปลากระป๋อง ฯลฯ) กลุ่มขนมปังและธัญพืช และกลุ่มซอส เครื่องปรุงและเครื่องเทศ ตามลำดับ
จากการที่อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปของประเทศโคลอมเบียมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้อุปสงค์หรือความต้องการส่วนผสมที่ใช้ในการผลิตอาหารแปรรูป เช่น แป้ง สารให้ความหวาน สารปรุงแต่งรส สารปรุงแต่งสี สารกันบูด ยีสต์ เอนไซม์ สารอีมัลซิไฟเบอร์ (Emulsifier) ขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย
ทั้งนี้ โคลอมเบียสามารถผลิตอีมัลซิไฟเบอร์จากน้ำมันปาล์ม กลีเซอรีน และน้ำมันละหุ่งได้เอง แต่ยังคงต้องอาศัยการนำเข้าส่วนผสมอื่น ๆ จากต่างประเทศ โดยมูลค่าการนำเข้าส่วนผสมที่ใช้ในการผลิตอาหารแปรรูปประจำปี 2564 อยู่ที่ 36.95 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.64 ซึ่งเป็นการนำเข้าจากประเทศเกาหลีใต้มากที่สุด รองลงมา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สเปน อินเดีย จีน มาเลเซีย เยอรมนี
พฤติกรรมผู้บริโภค
โคลอมเบียเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ในภูมิภาค
ลาตินอเมริกา (51 ล้านคน) โดย ประชากรร้อยละ 80 อาศัยอยู่ในเขตเมือง (Urban areas) โดยเมืองที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ กรุงโบโกตา (Bogota) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ เมืองเมเดยิน (Medellin) เมืองคาลี (Cali) เมืองบารังกิยา (Barranquilla) และ เมืองคาร์ตาเฮนา (Cartegena) และจากการที่ประชากรโคลอมเบียส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตเมือง
ทำให้พฤติกรรมการบริโภคและการจับจ่ายใช้สอยเน้นความรวดเร็วและสะดวกสบาย อาหารแปรรูปและการเลือกซื้อสินค้าในห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) จึงตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวโคลอมเบียส่วนใหญ่ได้อย่างดี โดยตัวเลขการจับจ่ายใช้สอยในสินค้าอาหารแปรรูปของชาวโคลอมเบีย ในปี 2565 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 337 เหรียญสหรัฐต่อคน และคาดว่าตัวเลขจะเพิ่มสูงขึ้นอีก
นอกจากนี้ จากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติโคลอมเบีย พบว่า ชาวเวเนซูเอลาอพยพเข้ามาอาศัยในประเทศโคลอมเบียจำนวนมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยจำนวนผู้อพยพเข้าประเทศอย่างถูกกฎหมายอยู่ที่ประมาณ 2.3 ล้านคน และส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในกรุงโบโกตา ทำให้การบริโภคข้าว ถั่ว และแป้งข้าวโพด ในกรุงโบโกตามีขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าเมืองอื่น ๆ
ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศโคลอมเบียมีการชะลอตัว อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ผู้บริโภคจำเป็นต้องประหยัดมากขึ้น และพฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไป สรุปได้ ดังนี้
• ผู้บริโภคมีความอ่อนไหวต่อราคาสินค้ามากขึ้น ส่งผลให้สินค้า Private Label หรือ Own Brand ของห้างค้าปลีกต่าง ๆ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในสินค้านม น้ำมันพืช และข้าว
• ผู้บริโภคตระหนักและให้ความสำคัญต่อสินค้าเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้น
• ตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐบาลมีการประกาศใช้มาตรการกักตัว
• ร้านอาหาร ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง มีการเพิ่มการให้บริการจัดส่งสินค้าให้ผู้บริโภค เนื่องจากผู้บริโภคยังคงกังวลในการออกนอกบ้าน
• สินค้าโปรตีนจากพืช หรือ Plant Based Products เป็นที่นิยมมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องการปนเปื้อนของเชื้อโรคในเนื้อสัตว์ ทำให้ผู้ประกอบการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มจำนวนมากมีการเพิ่มเมนูอาหารทางเลือก เช่น อาหารมังสวิรัติ มีการใช้นมจากธัญพืชเป็นส่วนผสมในเครื่องดื่มแทนการใช้นมวัว เป็นต้น
จากการที่อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอาหารแปรรูปในประเทศโคลอมเบียมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น และอาหารแปรรูปเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ให้กับผู้บริโภคชาวโคลอมเบียนั้น ถือเป็นโอกาสที่ดีต่อการส่งออกของไทย โดยขอสรุปดังนี้
โอกาส
• ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิต และส่งออกสินค้าอาหารแปรรูปอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกสามารถรองรับความต้องการอาหารแปรรูปที่เพิ่มขึ้นในโคลอมเบียได้
• ไทยส่งออกส่วนผสมที่ในการผลิตอาหารแปรรูป (สารปรุงแต่งรส สารปรุงแต่งสี สารให้ความหวาน รวมถึงอีมัลซิไฟเบอร์) ไปยังหลายประเทศทั่วโลก
• การได้รับความนิยมของอาหารที่ผลิตจากโปรตีนจากพืช (Plant-Based Food) ที่เพิ่มขึ้นถือเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกวัตถุดิบและสินค้าอาหารในกลุ่มนี้
• จากการที่ผู้บริโภคข้าวในกรุงโบโกตามีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นโอกาสที่ดีของไทยที่จะสามารถส่งออกข้าวไปยังโคลอมเบียได้มากขึ้น โดยในไตรมาสแรกประจำปี 2565 (มกราคม-มีนาคม 2565) ไทยเป็นประเทศอันดับที่ 3 ที่โคลอมเบียนำเข้าข้าวมากที่สุด รองจาก สหรัฐอเมริกา และอิตาลี โดยตัวเลขการนำเข้าจากไทยอยู่ที่ 111,416 เหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 112.73
ความท้าทาย
• ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าจากไทยมายังประเทศ โคลอมเบียมีราคาสูงและใช้เวลาประมาณ 2 เดือน
• เวลาที่แตกต่างกันประมาณ 12 ชั่วโมง ทำให้เกิดข้อจำกัดในการจัดทำนัดหมายการประชุมทางไกล ทางออนไลน์ รวมถึงการจับคู่เจรจาธุรกิจออนไลน์
• ชาวโคลอมเบียใช้ภาษาสเปนในการติดต่อสื่อสารเป็นหลัก
• ขาดข้อมูลเชิงลึกในการศึกษาตลาดโคลอมเบีย
อย่างไรก็ดี โอกาสและความท้าทายดังกล่าว ยังมิได้นำปัจจัยภายนอกอื่นมาร่วมพิจารณา ซึ่งอาจทำให้โอกาส และความท้าทายมีการเปลี่ยนแปลงไป อาทิ
(1) อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการบริโภคสินค้าที่ไม่จำเป็น
(2) ราคาน้ำมันและพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นและส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและค่าขนส่งสินค้า
(3) ราคาปุ๋ยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและส่งผลต่อราคาต้นทุนการผลิตผลผลิตทางการเกษตร
(4) ความกังวลด้านความไม่มั่นคงทางอาหาร (Food Insecurity)
และ (5) ความกังวลด้านเศรษฐกิจโลกถดถอย
ในช่วงสถานการณ์ความไม่แน่นอนดังกล่าว สินค้าไทยบางกลุ่มได้รับผลกระทบทางลบให้เกิดการหดตัว ด้านการส่งออก และบางกลุ่มยังคงมีโอกาสในการส่งออกไปยังต่างประเทศ ได้แก่
• ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เนื่องจากผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ซึ่งบางประเทศมีการนำเข้าชดเชยสินค้าข้าวโพด อาทิ ในตลาดจีน
• ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เนื่องจากกระแสรักสุขภาพและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยเฉพาะ ร้านอาหาร โรงแรมในประเทศต่าง ๆ
• อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ธุรกิจร้านอาหารและโรงแรมในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาเริ่มทยอยฟื้นตัว ทั้งนี้ ความกังวลด้านการขาดแคลนอาหาร ทำให้ความต้องการอาหารกระป๋องมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ
• เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เนื่องจากตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
• สินค้าข้าว เนื่องจากการบริโภคเพื่อทดแทนข้าวสาลีที่กำลังขาดแคลน
• ไขมันและน้ำมัน หลายประเทศมีการให้ความสำคัญในความมั่นคงทางอาหารในประเทศ ทำให้บางประเทศได้ออกมาตรการระงับห้ามส่งออกน้ำมันพืช
• น้ำตาล เนื่องจากน้ำตาลอ้อยสามารถเป็นวัตถุดิบทำน้ำตาลที่เป็นสินค้าพลังงานได้และบางประเทศหันไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นอย่างมาก
• ซอสและสิ่งปรุงรสและซุปอาหารปรุงแต่ง
• ไก่แปรรูป เนื่องจากปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของโรคในสัตว์ปีกในหลายประเทศ อาทิ ในสหภาพ ยุโรป อีกทั้งมาเลเซียมีการประกาศห้ามส่งออกไก่ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2565 จึงเป็นโอกาสอันดีของไทยในการส่งออกไก่ไปยังคู่ค้าของมาเลเซีย
• อาหารสำหรับอนาคต (เช่น อาหารจากพืช) กำลังเติบโตและเป็นที่นิยมในตลาดโลกเนื่องจากตอบโจทย์กระแสสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ซึ่งสินค้าอาหารอนาคตปัจจุบันมีการพัฒนาและ ความหลากหลายมากขึ้น
ซึ่งกลุ่มสินค้าที่กล่าวข้างต้นที่มีโอกาสในการส่งออกได้เพิ่มขึ้นในตลาดโคลอมเบีย ได้แก่ ผลไม้ประป๋อง และแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ซอสและสิ่งปรุงรส และอาหารสำหรับอนาคต โดย สคต. ซันติอาโกจะดำเนินการประสานสอบถามความต้องการสินค้าดังกล่าวจากผู้นำเข้าของโคลอมเบียต่อไป
โฆษณา