8 ส.ค. 2022 เวลา 13:01 • ครอบครัว & เด็ก
จิตบำบัดครอบครัว
จิตบำบัดครอบครัว คือ รูปแบบหนึ่งของการทำจิตบำบัด โดยเน้นการปรับเปลี่ยนดูแลแก้ไขความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล โดยทั่วไปผู้รับการบำบัดมักจะเป็นสมาชิกในครอบครัวหรือคู่สมรส บางครั้งอาจเป็นบุคคลใดก็ตามที่ผู้รับการบำบัดเห็นว่าเป็นคนสำคัญในชีวิตของเขา เป็นคนที่เขาสนิทหรือมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด เช่น เพื่อนที่สนิทมาก ครูแนะแนวที่ผู้รับการบำบัดปรึกษาหารือปัญหาของตัวเองให้ฟังมาโดยตลอด
กระบวนการทำจิตบำบัด
กระบวนการบำบัดใช้การพูดคุยเชิงลึก เน้นค้นหาและทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของแต่ละคน ความต้องการที่แท้จริงของแต่ละคน ปฏิสัมพันธ์และการสื่อสารที่มีต่อกันภายในครอบครัว รวมถึงประสบการณ์ที่สมาชิกแต่ละคนเคยประสบมาในอดีตอาจมีผลต่อการสัมพันธ์กับผู้อื่นในปัจจุบัน
เมื่อสำรวจสิ่งที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวแล้ว เชื้อเชิญให้ครอบครัวตั้งเป้าหมายสำหรับการบำบัดที่ตนเองต้องการและร่วมกันทำงานเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและนำไปสู่เป้าหมายนั้น
การใช้เทคนิคในการทำจิตบำบัดที่หลากหลาย เช่น การวาดแผนภูมิครอบครัว การใช้ท่าทาง การเล่นบทบาทสมมุติ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างขึ้นในชั่วโมงบำบัดเน้นการขยายผลนำการเปลี่ยนแปลงนั้น ลงสู่การใช้ในชีวิตจริง ใช้ในชีวิตประจำวัน
โดยทั่วไปการบำบัดแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 1 – 1.5 ชม. ส่วนต้องใช้การบำบัดจำนวนกี่ครั้ง หรือ ใช้ระยะเวลายาวนานเท่าใด ขึ้นกับความซับซ้อนของปัญหาของแต่ละครอบครัว ส่วนใหญ่มักจะมากกว่า 1 ครั้ง
จิตบำบัดเหมาะกับใครบ้าง
- ผู้ที่มีปัญหาความสัมพันธ์ภายในครอบครัว
- ผู้ที่มีปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส
- ผู้ป่วยโรคทั้งทางกายและทางจิตเวช ที่การเจ็บป่วยส่งผลต่อครอบครัว
- ครอบครัวของเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรม
- ครอบครัวที่ประสบกับความสูญเสีย
- ครอบครัวที่มีการใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว
มุมมองของสมาชิกแต่ละคนมีความหมาย ความสำคัญ การกระทำ ความคิด ความเชื่อ ความรู้สึก ความคาดหวัง และความต้องการของสมาชิกคนหนึ่ง ย่อมส่งผลกระทบต่อสมาชิกอีกคนหนึ่งหรือครอบครัวทั้งครอบครัว ดังนั้นหากเป็นไปได้การที่สมาชิกทุกคนมาเข้าสู่กระบวนการบำบัดพร้อมกันก็จะเป็นประโยชน์สูงสุด แต่หากไม่สามารถเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ การบำบัดก็ยังสามารถดำเนินไปได้แม้จะมีสมาชิกไม่ครบทุกคน
ที่มา : ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
โฆษณา