17 ส.ค. 2022 เวลา 23:00 • การตลาด
ช่องว่างการเป็นศูนย์กลางทางการเงินระหว่างสิงคโปร์กับฮ่องกงเริ่มแคบลง
3
ฮ่องกงคงสถานะการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของเอเชียมาเป็นเวลานาน และในปัจจุบันก็ยังคงเป็นตลาดการเงินที่ใหญ่กว่าและคึกคักกว่าสิงคโปร์ เนื่องจากความเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจมาเป็นเวลานาน จากดัชนีศูนย์กลางทางการเงินโลกปี 2565 (Global Financial Centres Index) ฮ่องกงครองอันดับสาม รองจากนิวยอร์กและลอนดอน ในขณะที่สิงคโปร์อยู่อันดับหก โดยถึงแม้จะมีปัจจัยท้าทายต่างๆ แต่ฮ่องกงก็ยังคงติดสี่อันดับแรกในด้านสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ โครงสร้างพื้นฐานด้านทุนมนุษย์ (Human Capital) และชื่อเสียงทั่วไป
2
หลังจากการประกาศบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฮ่องกง (National Security Law) ในปี 2563 จำนวนประชากรฮ่องกงลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปีที่ 1.2% โดยสูญเสียผู้อยู่อาศัยถาวร 93,000 คน ในเดือนกุมภาพันธ์ และ 129,000 คน ในเดือนมีนาคม 2563 วีซ่าใหม่สำหรับคนทำงานต่างชาติในภาคการเงินลดลง 49% ในช่วงระหว่างปี 2561-2564
4
โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบเกิดจากกฎข้อบังคับที่เข้มงวดภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เสรีภาพทางการเมืองที่ลดลง ประกอบกับความตึงเครียดทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นระหว่างประเทศจีนกับประเทศตะวันตก ส่งผลให้นักการเงินการธนาคารเริ่มเสาะแสวงหาการย้ายถิ่นฐาน
ในเดือนมีนาคม 2565 ผู้บริหารและพนักงานระดับสูงของบริษัท JPMorgan ย้ายจากฮ่องกงไปยังเซี่ยงไฮ้ เนื่องจากข้อจำกัดในการเดินทางไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท CitiGroup ได้ย้ายมายังสิงคโปร์ ด้วยเหตุผลทางครอบครัวและความครอบคลุมของตลาดลูกค้า ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่สิงคโปร์ปรับมาตรการการเดินทางและข้อจำกัดทางสังคมภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
1
ในขณะที่ บริษัทข้ามชาติอย่าง Bank of America และ Wells Fargo เริ่มพิจารณาเกี่ยวกับธุรกิจในฮ่องกงและมีความต้องการย้ายพนักงานไปสิงคโปร์เช่นเดียวกัน เพราะเมื่อพิจารณาประเทศอื่นๆ ที่นอกเหนือจากฮ่องกงแล้ว สิงคโปร์มักจะเป็นตัวเลือกแรกในการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ในเอเชีย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบริษัทใหญ่ๆ สองสามแห่งเริ่มดำเนินการแล้วก็จะส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายของบริษัทอื่นๆ ตามมาเช่นกัน ถึงแม้ว่าสิงคโปร์จะปรับเงินเดือนขั้นต่ำสำหรับกลุ่มอาชีพผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินใหม่จาก 5,000 เหรียญสิงคโปร์ เป็น 5,500 เหรียญสิงคโปร์ในเดือนกันยายน 2565 แต่ด้วยการจ้างงานใหม่ด้านการเงินมากกว่า 9,400 ตำแหน่งในปีนี้ ส่งผลให้สิงคโปร์ยังน่าดึงดูดในการย้ายถิ่นฐานขณะนี้
3
ปัจจัยที่ส่งผลให้ช่องว่างของการเป็นศูนย์กลางทางการเงินระหว่างฮ่องกงและสิงคโปร์นั้นแคบลงประกอบด้วยการไหลออกของเงินทุนและบุคลากรที่มีความสามารถจากฮ่องกง ค่าเงินเหรียญฮ่องกงอยู่ในระดับที่อ่อนค่าที่สุดในรอบกว่าสามปี โดยได้แรงหนุนจากที่ Traders ที่ขายเงินฮ่องกงเพื่อซื้อเงินเหรียญสหรัฐฯ เพื่อรับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นของสหรัฐฯ
2
ทั้งนี้ ธนาคารกลางฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority) ได้เข้ามาแทรกแซงในเดือนพฤษภาคม 2565 โดยการซื้อเงินเหรียญฮ่องกงกลับมาในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราเพื่อรักษาค่าเงินฮ่องกงต่อเงินเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ ฮ่องกงได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตลดลงเหลือ 1-2% ในปี 2565 จากเดิม 2-3.5%
2
ในขณะเดียวกัน สิงคโปร์อยู่ระหว่างเสริมความแข็งแกร่งเพื่อเป็นศูนย์กลางทางการเงินด้านต่างๆ เนื่องจากนักลงทุนจำนวนมากจัดตั้งบริษัทในสิงคโปร์ เช่น เจ้าของ James Dyson และผู้ก่อตั้งร้านอาหาร Haidilao นาย Shu Ping ที่ต่างจัดตั้งสำนักงานธุรกิจครอบครัว (Family Office) ในสิงคโปร์ โดยมีแรงจูงใจจากอัตราภาษีและสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่ชัดเจน
1
ทั้งนี้ ธนาคารกลางสิงคโปร์อนุมัติใบสมัครการจัดตั้งสำนักงานธุรกิจครอบครัวในสิงคโปร์มากกว่า 100 รายการในช่วงสี่เดือนแรกของปีนี้ นอกจากการจัดตั้งสำนักงานธุรกิจครอบครัวในสิงคโปร์แล้ว นักลงทุนเหล่านี้มักต้องการบริการทางการเงินที่ซับซ้อน ก่อให้เกิดการว่าจ้างงานผู้จัดการความมั่งคั่ง การสะสมทุนทางการเงินและทุนมนุษย์จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางทางการเงิน
2
การพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมสิงคโปร์ นโยบาย Zero-Covid ของจีนได้กระตุ้นให้บริษัทผู้ผลิตได้ย้ายห่วงโซ่อุปทานไปยังประเทศต่างๆ เช่น เวียดนาม โดยการส่งออกของเวียดนามเพิ่มขึ้น 13.4% ในไตรมาสแรกของปี 2565 เมื่อเทียบกับปี 2564
1
นอกจากนี้ สิงคโปร์อาจจะช่วยการย้ายฐานการผลิตได้สะดวกสบายขึ้น เนื่องจากสิงคโปร์มีธุรกิจกระจายอยู่ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สถาบันทางการเงินสามารถเชื่อมต่อกับนักลงทุน บริษัทกฎหมายสามารถสนับสนุนการจัดตั้งเปิดสาขาใหม่ และที่ปรึกษาสามารถให้คำแนะนำในการจัดหาซัพพลายเออร์ในภูมิภาคและรวมไปถึงการฝึกอบรมพนักงานด้วย
ท่ามกลางปัจจัยแวดล้อมเชิงลบที่ส่งผลกระทบต่อการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของฮ่องกง อาจทำให้นักลงทุนที่ต้องการจัดตั้งบริษัทเพื่อใช้เป็นประตูสู่การลงทุนในตลาดเอเชียเลือกลงทุนในประเทศอื่นแทน รวมถึงธุรกิจด้านการเงินที่ตั้งในฮ่องกง ก็มองหาทำเลที่ตั้งอื่นที่มีสถานการณ์เอื้ออำนวยและตอบสนองต่อการดำเนินธุรกิจในระยะยาว
สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีนโยบายสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางทางการเงินโลกอย่างชัดเจน และเป็นคู่แข่งฮ่องกงมาโดยตลอด สิงคโปร์ได้ประโยชน์จากทำเลที่ตั้งและการเป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งเศรษฐกิจของหลายประเทศยังเติบโตในเกณฑ์ดีและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐาน สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจการเงิน ความพร้อมของบุคลากรทางการเงิน ล้วนส่งผลให้สิงคโปร์สามารถดึงดูดการลงทุนสถาบันการเงินต่างๆ ได้มากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศคู่แข่งสำคัญอย่างฮ่องกง อยู่ในสภาวะถูกรุมเร้าด้วยปัจจัยต่างๆ การย้ายฐานของภาคการเงินมายังสิงคโปร์น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนโดยรวม รวมทั้งไทย โดยเฉพาะช่วง Post Covid-19 ที่แต่ละประเทศพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจของตนเอง
โฆษณา