20 ส.ค. 2022 เวลา 05:00 • การตลาด
ยูเออีเตรียมเปิดตัวนวัตกรรมใหม่เครื่องปรัอากาศ
บริษัท Strata ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ทำสัญญาร่วมกับด้วยเทคโนโลยีของเยอรมัน 2 บริษัทจาก เยอรมนี ได้แก่ บริษัท Hyperganic และบริษัท EOS ในการผลิตเครื่องปรับอากาศสำหรับใช้ในบ้านด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและประหยัดพลังงาน สามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้กว่า 10 เท่าของเครื่องปรับอากาศในปัจจุบัน
โดยอาศัยความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจากทั้ง 2 บริษัท ได้แก่ ด้าน algorithmic engineering ของบริษัท Hyperganic และด้าน industrial metal 3D printing ของบริษัท EOS ในการพัฒนาระบบอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน (Heat Exchange) ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยระบบทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ตามสถานการณ์ปัจจุบันที่ เครื่อง ปรับอากาศเป็นสินค้าที่ต้องการมากขึ้นในตลาดโลก
การร่วมมือของทั้ง 3 บริษัท นี้ มีจุดประสงค์ที่จะแสดงศักยภาพของสินค้า ภายใต้นโยบาย 'Made in the Emirates’ ด้วยการปรับกระบวนการผลิตให้ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมต่าง ต้องทบทวนกลยุทธ์และปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายมากมาย ในขณะเดียวกันก็ถือ เป็นโอกาสที่ทำให้ธุรกิจได้หันมาพิจารณา กลยุทธ์การทำ Digital Transformation อย่างจริงจังมากขึ้น
โดยทั้ง 3 บริษัทวางแผนไว้ว่าจะเปิดตัวเครื่องปรับอากาศที่ได้รับการพัฒนาร่วมกันนี้ในช่วงการประชุม COP28 ซึ่งยูเออีจะเป็นเจ้าภาพในเดือนพฤศจิกายน 2023 ซึ่งรัฐบาลยูเออีคาดว่าเครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่ที่ได้รับการพัฒนานี้ นอกจากจะช่วยส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังจะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของยูเออีด้วย
สำหรับความร่วมมือของทั้ง 3 บริษัทข้างต้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ “Projects of the 50” ของยูเออีที่ออกแผนแม่บทยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม "Operation 300bn" เพื่อกำหนดทิศทางการก้าวย่างใหม่ของอุตสาหกรรมการผลิตของยูเออี โดยมุ่งเน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง รัฐบาลยูเออีให้การสนับสนุนและส่งเสริมความสามารถในการผลิตสินค้าในประเทศ
ส่งเสริมให้ผู้ผลิตยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์และประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต การปรับใช้โซลูชั่นพลังงานสะอาด ผลักดันนวัตกรรมอุตสาหกรรม ส่งเสริมการบริโภคและการผลิตอย่างรับผิดชอบเพื่อเพิ่ม ความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน อีกทั้งความพยายามที่จะวางตําแหน่งของประเทศ ให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่สำคัญของโลกภายในปี 2574 โดยตั้งเป้าจะเพิ่ม GDP ของภาคอุตสาหกรรมจากมูลค่า 36 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปัจจุบัน ให้เป็น 81.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2574
แนวโน้มความต้องการเครื่องปรับอากาศ
จากรายงานของสำนักงานพลังงานสากลของประเทศฝรั่งเศส หรือ International Energy Agency (IEA) คาด ว่าความต้องการใช้เครื่องปรับอากาศที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกทั้งแบบชนิดใช้ในบ้านและใช้ในสํานักงานจะเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั่วโลกในอีก 3 ทศวรรษข้างหน้า
โดยการใช้ไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3 เท่าภายในปี 2593 โดยคาดว่าจำนวนสต็อกเครื่องปรับอากาศทั่วโลกจะเติบโตเป็น 5.6 พันล้านเครื่องภายในปี 2593 เทียบกับจำนวน 1.6 พันล้านเครื่องในปี 2561 ทั้งนี้ ประมาณการว่าในช่วง 30 ปีข้างหน้านี้ จะมีเครื่องปรับอากาศ 10 เครื่องที่ขายได้ในทุก 1 วินาที
ภูมิอากาศตะวันออกกลางมีความแตกต่างกันมากระหว่างฤดูหนาวและฤดูร้อน กล่าวคือฤดูหนาวอากาศลดต่ำลง เหลือ 10 องศาเซลเซียส ในขณะที่ฤดูร้อนมีอากาศร้อนจัดอุณหภูมิสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส จึงเป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่ม สินค้าเครื่องปรับอากาศที่สามารถเติบโตสวนทางสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ตะวันออกกลางนับเป็นตลาดสำคัญในการส่งออกเครื่องปรับอากาศและอุปกรณ์ของไทย
โดยเฉพาะยูเออีที่มีแนวโน้มการใช้เครื่องปรับอากาศขยายตัวขึ้น ที่ผ่านมา ปัจจัยหนุนที่สำคัญ คือ ภาคการก่อสร้างที่ขยายตัวจากการพัฒนาเศรษฐกิจทำให้มีอาคารพาณิชย์ใหม่จำนวนมาก รวมถึงการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่พักอาศัย อีกทั้งยูเออีเป็นศูนย์กระจายสินค้าไปประเทศอื่นๆในภูมิภาค ตะวันออกกลางและแอฟริกา โดยปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ความต้องการเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
จากข้อมูลสถิตินำเข้าล่าสุดปี 2563 ระบุยูเออีนำเข้าสินค้ากลุ่มเครื่องปรับอากาศ คอมเพรสเซอร์ทำความเย็น รวมมูลค่า 2,253 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.5 เทียบกับปีก่อนหน้า โดยนำเข้าจากประเทศจีน สหรัฐอเมริกา ไทย เกาหลีใต้ มาเลเซีย ซาอุดีอาระเบีย เยอรมัน เบลเยี่ยม และอังกฤษ เป็นต้น
ในขณะที่การส่งออกเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบของไทยไปยูเออีล่าสุดปี 2565 (ม.ค.-พ.ค.) มูลค่ารวม 4,040 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.5 ประเภทสินค้าที่ส่งออก ได้แก่ เครื่องปรับอากาศแบบติดหน้าต่างหรือฝาผนัง (สัดส่วนร้อยละ 93) ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ (สัดส่วนร้อยละ 6.4)
ด้วยสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจที่มีความซับซ้อนและอ่อนไหว ตลอดจนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการผลิตมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สร้างความท้าทายให้กับอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศที่จะต้องยกระดับความสามารถในการแข่งขัน จากการเพิ่มศักยภาพของผู้ผลิต ตามแนวโน้มเทคโนโลยี เครื่องปรับอากาศในอนาคต และสภาวะการแข่งขันทางการค้าโลกที่สูงขึ้น
โดยเน้นในเรื่องการพัฒนาประสิทธิภาพ ผลิตภาพในการบริหาร การผลิตและเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวัตกรรมที่ เครื่องปรับอากาศทุกยี่ห้อให้ความสำคัญคงหนีไม่พ้นในเรื่องของการประหยัดพลังงาน ที่ผู้ผลิตจะต้องปรับทิศทางเพื่อ การเจริญเติบโตแบบยั่งยืนของอุตสาหกรรมนี้ต่อไป
โฆษณา