10 ส.ค. 2022 เวลา 01:18 • ปรัชญา
"ความเพียรชอบ” กับ “ความพยายาม” ในการภาวนานั้น ต่างกันอย่างไร
"ความเพียรชอบ" ที่เป็นหนึ่งในอริยมรรค มีองค์แปด ในข้อสัมมาวายามะ และ บารมี 6 (วิริยะบารมี) หมายถึง เมื่อมีความเมตตากรุณาเป็นธรรมชาติของการกระทำ การศึกษาปฏิบัติธรรม ภาวนานั่งสมาธิเดินจงกรมก็ตั้งใจให้เป็นไปเพื่อสรรพชีวิต เธอจึง "ไม่ย่อท้อ" ที่จะช่วยเหลือทุกชีวิตให้พ้นทุกข์ เช่นเดียวกับโพธิสัตว์ทั้งหลาย
“ความพยายาม" ในความหมายนี้คือ มีตัวตนแฝงในการกระทำเนื่องด้วยผลสำเร็จต่อตนเอง การปฏิบัติธรรมที่ล่าช้า เพราะยังขาดแรงบันดาลใจยิ่งใหญ่ในการขับเคลื่อน การที่มีมุมมองให้แต่ตัวเองมีความสุข ตัวเองพ้นทุกข์ ตัวตนนั้นเองคืออุปสรรค เป็นเสมือนกับดัก หลุมพรางของความหวังและความกลัว ( hope and fear)
โพธิจิต จะก่อเกิดความพยายามในรูปแบบใหม่ วิริยะอย่างไม่ท้อถอย ด้วยกรุณาเต็มหัวใจที่จะช่วยผู้คนทั้งหลายซึ่งยังจมทุกข์อยู่ จึงพร้อมทุ่มเทเต็มกำลัง ทุกวันเวลาไม่ยอมให้เสียไปเปล่าๆ ความเพียรเช่นนี้จึงเป็น สัมมาวายามะ และ วิริยะบารมี
เปรียบกับนักศึกษาแพทย์ที่ตั้งใจเรียน ขยันอ่านหนังสือ ให้สอบไล่ได้คะแนนดีและได้เกียรตินิยม กับ นักศึกษาแพทย์อีกคนที่มุ่งศึกษาตำราไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อเอาความรู้ไปช่วยคนไข้ให้หายป่วย คุณค่าและความหมายในการกระทำจึงแตกต่างกัน
คุรุอาจารย์เบื้องบนท่านย่อมจะเล็งเห็นปณิธานนี้ในหัวใจเธอและอำนวยพร
ซึ่งโพธิจิต ถือเป็นเสาหลักอันสำคัญยิ่ง ของวิถีมหายาน และวัชรยาน
#คำสอนของครู
รศ.นพ.ธวัชชัย กฤษณะประกรกิจ
โฆษณา