10 ส.ค. 2022 เวลา 02:09 • ความคิดเห็น
คำต่างกันนิด ชีวิตเปลี่ยน
“แกร่ง กับ กร่าง”
เมื่อวานผมได้มีโอกาสไปทานข้าวกับผู้อาวุโสในบ้านเมืองหลายท่าน มีคำสอนและเรื่องราวดีๆอยู่ในบทสนทนามากมาย ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเล่าถึงคำเตือนที่มีต่อคนหนุ่มที่เก่งกล้า มีความเชื่อมั่นตัวเองสูง ไม่กลัวหน้าอินทร์หน้าพรหมว่า ดีแล้วที่ “แกร่ง” แต่ต้องระวังว่าอย่า “กร่าง” เพราะสังคมไทยไม่ชอบ จะเป็นภัยแก่ตัวเอง ผู้ใหญ่ท่านนั้นเคยแนะนำนักการเมืองหนุ่มที่กร้าวแกร่งคนหนึ่งให้เดินสายไปพบปะพูดคุย รับฟังผู้อาวุโสในบ้านเมืองบ้าง
เป็นการให้เกียรติและลดอีโก้ตัวเองลงมาด้วย ซึ่งทำให้ผู้อาวุโสในบ้านเมืองได้เข้าใจนักการเมืองหนุ่มคนนั้นมากขึ้น ตัวเขาเองก็ลดความห้าวลงมาด้วยเช่นกัน
ผมนึกถึงคนหนุ่ม คนสาวที่เก่งๆหลายคนที่เก่งจนความเชื่อมั่นล้นปรี่ ใครพูดอะไรไม่ทันจบถ้าไม่เห็นด้วยก็จะสวนทันที พอเริ่มรวย เริ่มใหญ่โตก็จะเริ่มเบ่ง พวกแนวมึงรู้มั้ยกูคือใครก็เริ่มมา รวมถึงคำพูดคำจาที่ทำให้คนหมั่นไส้ไปทั่ว และก็เห็นหลายคนที่ “แกร่ง” ในหลักการ เบื้องนอกสุภาพ ถ่อมตน แต่แม่นประเด็น เอาชนะผู้คนได้ด้วยเหตุผลพร้อมชนะใจคนไปด้วย
ในที่สุดแล้วอนาคตของคนสองคนก็จะห่างไปเรื่อยๆจากคนหนึ่งที่มีแต่คนสนับสนุนกับอีกคนหนึ่งที่มีแต่คนอยากเหยียบจมดินด้วยความหมั่นไส้นั่นเอง
1
“เดี๋ยวกับเดี๋ยวนี้”
พี่จิก ประภาส ชลศรานนท์ เคยเขียนไว้ในหนังสือว่า…
1
สองคำ “เดี๋ยว” กับ “ เดี๋ยวนี้” คำหลังยาวกว่าคำหน้านิดเดียว แต่อนาคตยาวไกลกว่ากันเยอะ
ประภาส ชลศรานนท์
3
คนที่ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง เดี๋ยวค่อยทำก็ได้ แต่มุ่งมั่นตั้งใจทำงานตรงหน้าให้สำเร็จนั้น นอกจากจะทำให้มีโอกาสทำอะไรได้ดี เป็นที่รักของเจ้านายและคนที่ได้ทำงานด้วยแล้ว ยังเป็นการเอาชนะใจตัวเองที่เป็นการสร้าง “วินัย” อันสำคัญในเรื่องอื่นที่ควรจะทำอีกหลายเรื่อง
อะไรที่ต้องทำแล้วทำเดี๋ยวนี้ จะนำมาสู่อิสระในชีวิตในหลายๆเรื่องทั้งเรื่องการออมเงิน ออกกำลังกาย หรือการบริหารเวลาให้เรื่องที่สำคัญมาก่อน ซึ่งพอสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ อนาคตก็จะต่างกับคนที่ชอบใช้แต่คำแรกมากที่เดี๋ยวก่อนค่อยทำ อย่างที่พี่จิก ประภาสว่าไว้จริงๆ
1
“รู้กับไม่รู้”
พี่จิ๋ม สุวภา เจริญยิ่ง ตั้งข้อสังเกตกับความคิดที่ว่าเรารู้กับเราไม่รู้ไว้อย่างน่าสนใจ เพราะเป็นคำสองคำที่ใกล้และย้อนแย้งกันมาก ยิ่งถ้าเราคิดว่าเรารู้มากเท่าไหร่เราก็จะยิ่งไม่รู้ เพราะการที่คิดว่าตัวเองรู้ทุกอย่างในโลกแห่ง VUCA นี้ที่โลกเปลี่ยนเร็วจนความรู้เดิมแทบใช้ไม่ค่อยได้ ก็ยิ่งทำให้เราไม่เปิดรับความรู้ใหม่ๆ ไม่กล้ายอมรับว่าตัวเองไม่รู้ และในที่สุดก็จะตกยุคไปได้ง่ายๆ
ในขณะที่คนที่ยอมรับว่าตัวเองไม่รู้ จะพาตัวเองเข้าสู่สถานะที่เรียกว่า beginner’s mind ที่พร้อมจะเปิดรับความรู้ใหม่ๆด้วยความตื่นเต้น ไม่มีอีโก้ ไม่ปิดกั้นตัวเอง และเปิดรับความคิดใหม่ๆเข้ามาได้ตลอดเวลา
ความรู้ที่สำคัญที่สุดที่อาจจะเปลี่ยนทั้งตัวเองและองค์กรโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นผู้นำองค์กรด้วยนั้น ก็คือรู้ว่าตัวเองไม่รู้อะไร (known unknown) และยอมรับว่าเราอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราไม่รู้อะไร (unknown unknown) เพราะถ้าเรายอมรับถึงความไม่รู้นั้นได้ ก็จะทำให้เราโหยหาที่จะรู้ หรือยอมปล่อยให้คนที่รู้มากกว่าเราได้มีโอกาสทำงาน
ทั้งเราทั้งองค์กรก็จะกลายเป็น คนเก่งหรือองค์กรที่เก่ง อย่างที่คุณบุญคลี ปลั่งศิริเคยบอกไว้ว่า ความเก่งสมัยนี้นั้นวัดกันที่ “ability to learn “ นั่นเอง
2
ถ้าคิดว่ารู้ก็จะไม่รู้ ถ้าคิดว่าไม่รู้ก็จะรู้ อนาคตที่ต่างกันของคำสองคำก็อยู่แถวๆนี้เช่นกันครับ
1
โฆษณา