10 ส.ค. 2022 เวลา 02:20 • ความคิดเห็น
ทุเรียนปลูกได้แล้วในจีน
โดย
นิติภูมิธณัฐ
มิ่งรุจิราลัย
ไห่หนานตั้งทางตะวันออกของอ่าวตังเกี๋ย ห่างจากปลายคาบสมุทรเหล่ย์โจวของมณฑลกว่างตงลงไปทางใต้ 24 กิโลเมตร
มณฑลไห่หนานประกอบด้วยเกาะไห่หนานและเกาะเล็กๆ อีกประมาณ 200 เกาะ มีเนื้อที่รวมทั้งหมด 34,300 ตารางกิโลเมตร
ไห่หนานมีภูมิอากาศเขตร้อนได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม ทำให้มีฝนตกชุก ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,800 มิลลิเมตรต่อปี ปลูกข้าวได้ปีละ 3 ครั้ง
อุณหภูมิต่ำสุดในฤดูหนาวคือ 18 องศาเซลเซียส อุณหภูมิร้อนสุด 25-29 องศาเซลเซียส เป็นมณฑลที่ปลูกข้าว ยางพารา มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน พริกไทย ชา และกาแฟ
ค.ศ.2014 เกษตรกรจีนจากมณฑลไห่หนานนำทุเรียนจากเวียดนามเข้าไปปลูกในสวนของตน วันเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไป 5 ปี ค.ศ.2019 ทุเรียนเริ่มมีตุ่มเล็กๆ ที่เรียกว่าระยะไข่ปลา พัฒนามาเป็นระยะตาปู ไประยะเหยียดตีนหนู
1
เข้าสู่ระยะกระดุม ระยะมะเขือพวง ระยะหัวกำไล ระยะดอกขาว ระยะดอกบาน ระยะหางแย้ไหม้ ระยะไข่ไก่ ระยะไข่ห่าน
และบั้นปลายท้ายที่สุด ทุเรียนที่ปลูกในมณฑลไห่หนานก็เข้าสู่ระยะผลใหญ่ ซึ่งเป็นระยะเก็บเกี่ยว
เขียนให้เข้าใจง่ายก็คือ ไห่หนานซึ่งเป็นมณฑลทางตอนใต้ของจีนสามารถปลูกทุเรียนได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
1
แต่ก่อนง่อนชะไร ไห่หนานมีฐานะเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลกว่างตง รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประกาศแยกไห่หนานเป็นมณฑลใหม่เมื่อ ค.ศ.1988
1
จากมณฑลไห่หนานขึ้นไปเพียง 24 กิโลเมตรก็ถึงปลายคาบสมุทรเหล่ย์โจวของมณฑลกว่างตง ภูมิอากาศต่างๆ ของไห่หนานและกว่างตงจึงละม้ายคล้ายกันมาก
1
ข่าวการปลูกทุเรียนได้ในไห่หนานแพร่ขยายกระจายไปสู่แผ่นดินใหญ่ ข่าวนี้ทำให้นายเติ้ง ยู่เฉียง เกษตรกรแห่งตำบลกวนจู เมืองม้าวหมิง มณฑลกว่างตงมีความสนใจ จึงเดินทางไปมาเลเซียและนำทุเรียนหลากหลายพันธุ์มาปลูกที่จีน ที่มีมูลค่าสูงในตลาดจีนคือ Mao Shan Wang (จ้าวแห่งแมวภูเขา) ซึ่งต่อมาคนเรียกกันว่าทุเรียนมูซังคิง (D197)
และนำทุเรียนที่มีทรงผลสวย เปลือกบาง เม็ดเล็กและลีบ เนื้อสุกเป็นสีเหลืองอมส้ม เนื้อเนียนละเอียดมาก ไม่เละ รสชาติหวานมันกลมกล่อมและหวานแหลม มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่มีรสขม ที่ประชาชนคนทั่วไปเรียกว่าทุเรียนโอฉี บางคนเรียกว่าทุเรียนหนามดำ (D200) ไปปลูกที่ตำบลกวนจู เมื่อ ค.ศ.2018
1
ค.ศ.2021 สวนทุเรียนของนายเติ้งให้ผลผลิตทุกพันธุ์ เมื่อนายเติ้งแกะทุเรียนมูซังคิงจากสวนตัวเอง พบเนื้อทุเรียนสีเหลืองขมิ้นที่มีลักษณะคล้ายแมวนอนหลับ
1
เมื่อนำใส่ปากพบว่ามีรสชาติหวานมัน หอม มีรสขมนิดๆ ไม่เละ ขนาดผล 2.0-2.5 กิโลกรัม ซึ่งไม่ใหญ่จนเกินไป ส่วนทุเรียนพันธุ์หนามดำที่สวนของนายเติ้งก็มีรสชาติเช่นเดียวกันกับที่ปลูกในมาเลเซียทุกประการ
นายเติ้งเดินทางไปปรึกษาหารือเรื่องการปลูกทุเรียนกับผู้เชิี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย South China Agricultural University (มหาวิทยาลัยเกษตรจีนตอนใต้) ซึ่งตั้งอยู่ที่นครกว่างโจว รวมทั้งเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านทุเรียนจากมาเลเซียให้บินมาดูแปลงทุเรียนในตำบลกวนจูของตนด้วย
ขณะนี้นายเติ้งเตรียมขยายแปลงทุเรียนไปมากมายหลายแห่ง ด้วยความมุ่งหวังตั้งใจที่จะให้แผ่นดินจีนตอนใต้ผลิตทุเรียนมากมายหลากหลายพันธุ์ให้ผู้บริโภคชาวจีนได้ทาน
10 ปีที่ผ่านมา มีการส่งเสริมการปลูกทุเรียนอย่างกว้างขวาง ทั้งในไทย มาเลเซียและประเทศอื่น ที่มาเลเซียมีการข้ึนทะเบียนไว้แล้ว 200 พันธุ์ ที่อินโดนีเซียมีทุเรียนมากมายถึง 103 พันธ์ุ
1
ที่กำลังดังในฟิลิปปินส์ก็คือพันธุ์อะทาบรีน พันธุ์มาเมอร์ พันธุ์ยูมาลี พันธุ์ดูยาย่า ที่เวียดนามก็ปลูกกันบานเบอะเยอะแยะ ประมาณกันว่าน่าจะถึงครึ่งล้านไร่ไปแล้ว
ค.ศ.2021 จีนนำเข้าทุเรียน 4.21 แสนตัน เป็นมูลค่า 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.26 แสนล้านบาท) เป็นทุเรียนจากไทยร้อยละ 90
ปีที่แล้ว ผมบอกรุ่นน้องที่จะโค่นต้นมังคุดไปปลูกทุเรียนว่า อ้า อย่าเพิ่งโค่นมังคุดเลย น้องบอกว่า “อ้า ห้ามทำไม พี่อิจฉาผมหรือ”
ผมตอบด้วยเสียงแผ่วเบาว่า “อ้า เปล่า พี่เปล่าอิจฉา”.
โฆษณา