11 ส.ค. 2022 เวลา 03:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทุนสำรองระหว่างประเทศ มีความสำคัญต่อประเทศอย่างไร
เราคงได้ยินเรื่องราวของหลายประเทศ ที่กำลังเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในตอนนี้ เช่น
- ศรีลังกา ผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศ จนล้มละลาย
- เมียนมา ประกาศระงับการชำระหนี้ต่างประเทศ เพื่อป้องกันเงินทุนไหลออก
- ลาว ไม่มีเงินนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศมาใช้ และมีความเสี่ยงที่ประเทศจะผิดนัดชำระหนี้
รู้ไหมว่า สาเหตุหนึ่งของวิกฤติเหล่านี้ มาจาก การขาดแคลนทุนสำรองระหว่างประเทศ
ทุนสำรองระหว่างประเทศ หรือ International Reserve คือ เงินตราและสินทรัพย์สกุลเงินต่างประเทศ ที่ถือครองโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ ซึ่งในประเทศไทยก็คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย
สำหรับประเทศไทยนั้น ทุนสำรองระหว่างประเทศ ประกอบไปด้วย
- ทองคำ
- สิทธิพิเศษถอนเงิน
- สินทรัพย์ส่งสมทบกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
- สินทรัพย์ในรูปเงินตราต่างประเทศ
การที่ธนาคารกลางต้องถือทุนสำรองระหว่างประเทศ เพื่อวัตถุประสงค์ ดังนี้
- รองรับความเสี่ยงในกรณีที่เกิดการไหลออกของเงินทุนจำนวนมาก
- เพื่อสร้างสภาพคล่องให้แก่ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน
- เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศและนักลงทุน
- ใช้ค้ำประกันการพิมพ์ธนบัตร
แล้วประเทศควรมีทุนสำรองระหว่างประเทศมากน้อยแค่ไหน ?
ปกติแล้ว ตัวชี้วัดที่ใช้ดูเบื้องต้น คือ
1. สัดส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้น
โดยหนี้ต่างประเทศระยะสั้น คือ หนี้ที่จะถึงกำหนดใช้คืนในอีก 1 ปีข้างหน้า
ซึ่งโดยคร่าว ๆ ประเทศควรจะมีสัดส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้น มากกว่า 1 เท่า
แปลว่า ประเทศควรจะมีเงินตราต่างประเทศ มารองรับการชำระคืนหนี้ ได้มากกว่าระยะเวลา 1 ปี
แม้ว่าจะไม่มีรายได้เป็นสกุลเงินต่างประเทศเข้ามาเลยก็ตาม
1
2. สัดส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศต่อมูลค่าการนำเข้า
หากประเทศผลิตสินค้าที่จำเป็นได้ไม่เพียงพอ เช่น น้ำมันและอาหาร ก็คงต้องนำเข้าสินค้าจำเป็นเข้ามา
โดยคร่าว ๆ ประเทศควรจะมีทุนสำรองระหว่างประเทศเพียงพอ ที่จะรองรับการนำเข้าได้มากกว่า 3 เดือน
ทีนี้ เราลองไปดูทุนสำรองระหว่างประเทศของศรีลังกา ที่กำลังเจอกับวิกฤติเศรษฐกิจกันบ้าง
ปี 2018 ทุนสำรองระหว่างประเทศ อยู่ที่ 365,000 ล้านบาท
ปี 2022 ทุนสำรองระหว่างประเทศ อยู่ที่ 69,000 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ศรีลังกามีสัดส่วนของทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้น เพียงแค่ 0.2 เท่า
ขณะที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่สามารถจ่ายค่าสินค้านำเข้า ได้อีกเพียง 1.2 เดือนเท่านั้น
ทำให้ศรีลังกาประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมัน จนกลายเป็นวิกฤติน้ำมันเชื้อเพลิงขาดแคลนเพื่อผลิตไฟฟ้า
และยังมีการผิดนัดชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศ จนนำไปสู่การล้มละลายอีกด้วย
หรือแม้แต่ประเทศเมียนมาเอง
จากข้อมูลของธนาคารโลก ระบุว่าทุนสำรองระหว่างประเทศล่าสุดของเมียนมาในปี 2020 อยู่ที่ 281,000 ล้านบาท
ปัจจุบัน มีการคาดการณ์ว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศของเมียนมา น่าจะลดลงพอสมควร
เนื่องจากการขาดรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ทั้งการท่องเที่ยว และการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจาก ปัญหาความไม่สงบทางการเมือง และวิกฤติโควิด 19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
พอเป็นแบบนี้ จึงทำให้ในเมียนมาต้องประกาศระงับการชำระหนี้ต่างประเทศ งดการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยหลายรายการ เพื่อป้องกันไม่ให้ปริมาณทุนสำรองระหว่างประเทศ ลดลงไปมากกว่านี้
ลาวก็เป็นอีกประเทศหนึ่ง ที่กำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติทุนสำรองระหว่างประเทศเหมือนกัน
โดยเมื่อสิ้นปี 2021 ลาวมีการนำเข้าสินค้า คิดเป็นมูลค่าถึง 232,000 ล้านบาท จนทำให้ลาวมีทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงเหลือเพียง 46,000 ล้านบาท
จึงไม่แปลกที่ลาวจะเริ่มขาดแคลนเงิน ในการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาใช้ โดยเฉพาะสินค้าจำเป็นอย่างน้ำมัน รวมไปถึงยังมีความเสี่ยงที่ประเทศจะผิดนัดชำระหนี้อีกด้วย
โดยในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา เงินกีบอ่อนค่าลงไปแล้วกว่า 57% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ
1
และนี่คือเหตุผลสำคัญที่บอกว่า ทำไมทุนสำรองระหว่างประเทศ ถึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของแต่ละประเทศนั่นเอง..
1
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
ปัจจุบัน ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย อยู่ที่ 8,855,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงสิ้นปี 2540 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ประเทศไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศ เพียง 316,000 ล้านบาท
1
โดยมีสัดส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้น มากถึง 3 เท่า และมีสัดส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศต่อมูลค่าการนำเข้า มากถึง 11 เดือน..
1
โฆษณา