12 ส.ค. 2022 เวลา 14:48 • ปรัชญา
เราสูงขึ้นได้ (อีก)
ทำในสิ่งที่รัก รักในสิ่งที่ทำ (ตอนสุดท้าย)
สวัสดีท่านผู้อ่านที่ต้องการจะพัฒนาตนเองและหลงเข้ามาอ่านทุกท่านนะครับ สำหรับ EP นี้ จะเป็น EP สุดท้ายของการทำในสิ่งที่รัก และรักในสิ่งที่ทำ ซึ่งก็จะเป็นจุดจบของภาพวงกลมที่ผมได้เอ่ยมาตั้งแต่ตอนแรกจนถึงตอนนี้ก็จะเป็นตอนสุดท้ายของภาพนี้กันแล้ว ไปดูกันเลยครับ
สำหรับภาพที่ท่านผู้อ่านเห็น 3 วงกลมตัดกันนี้ เราจะพูดถึงภาพสุดท้าย ก็คือภาพของงานในฝัน เอาล่ะ งานในฝันคืออะไร ? ก่อนอื่นเราต้องนิยามงานในฝันให้ถูกต้องกันก่อน (Dream Job) งานในฝันหลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นงานสบาย ทำแปปเดียวจบ เสร็จ รับเงินก้อนมหาศาล กลับบ้าน (ไม่ช่ายยยย) จริงๆ แล้ว งานในฝันเป็นอย่างนี้ครับ คืองานที่เราอยากทำ มีความสุขที่จะทำ ทำได้ดี เก่ง (อย่างน้อยก็เก่งกว่าค่าเฉลี่ยอุตสหกรรมหรือมาตราฐาน) และมีคนจ่ายให้เราเมื่อเราลงมือทำ ! นั่นก็คือจุดตัดตรงกลางของทั้ง 3 วง นั่นเอง !!
ที่เราเรียกมันว่างานในฝันก็เพราะว่า เราทำเท่าไหร่ก็ไม่เหนื่อย สนุกกับมันอีกต่างหาก แถมได้เงินเสียด้วย ! เย้ ซึ่งแม้เรารู้ว่ามันไม่ได้ง่าย ไม่ได้สบายแต่ก็ยังอยากทำ และอยากดำเนินชีวิตด้วยงานนี้โดยทำได้จนตาย ไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย (ถึงเหนื่อยแต่ก็มีความสุขครับ) นั่นล่ะครับ
ลองจินตนาการว่าเราทำงานที่เกลียดที่สุดในโลก แต่ได้เงินเยอะสัก 15 ปี และเกษียณได้เลย มีใครเอาไหมครับ (แค่ฟังก็จะแย่) เพราะทุกคนมีประสบการณ์ของงานที่ไม่ชอบนั่นเอง อีกอย่างหนึ่ง เชื่อไหมครับว่า งานที่หลายคนทำ พอเกษียณกลับดีใจมากว่าไม่ต้องทำงานนี้แล้ว เหมือนหลุดออกมาจากนรก แต่พอมาใช้ชีวิตเกษียณกลับกลายเป็นว่าตนเองรู้สึกเวิ้งว้าง พอได้ลองไปใช้ชีวิตพักผ่อนมาจนเต็มที่แล้ว ก็ยังไม่รู้สึกถูกเติมเต็ม ในขณะที่บางท่าน ทำงานที่รักจนวันตาย ไม่อยากเกษียณ มีแต่อยากมีอายุไขยืนนาน เพื่อจะทำงานนี้ต่อไป
แล้วทำไมเราหลายคนถึงยังไปไม่ถึงงานในฝันกันล่ะ ในเมื่อมันดีขนาดนี้ !? อันนี้ต้องบอกว่ามีหลายสาเหตุด้วยกันครับ ถ้าให้ผมใช้เหตุผลของวงกลม 3 วง ผมขอเลือก 1 วงบน ซึ่งก็คือ ‘สิ่งที่เราปรารถนาที่จะทำ ’ มาให้ความสำคัญกับท่านผู้อ่านมากที่สุด
วงกลมบนสุด - 'สิ่งที่เราปรารถนาที่จะทำ'
มันง่ายมากที่จะบอกว่างานอะไรเราไม่ชอบ เพราะแค่ลงมือทำก็รู้แล้วใช่ไหมครับ ว่าเราชอบหรือไม่ชอบ แต่งานที่ทำแล้วชอบน่ะ มันหาไม่ง่ายยยย เพราะอะไรน่ะหรือครับ ? เพราะว่าเวลาที่เราเลือกในสิ่งที่ใช่ และเป็นตัวเรา มันเหมือนเรากำลังเอื้อมหยิบหมายเลขที่ถูกต้องจากสลากล๊อตเตอรี่ คำถามคือมันถูกง่ายนักหรือล๊อตเตอรี่เนี่ยยยย ต้องลองทำกี่อย่างถึงจะเจอ ? หลายคนเวลาก็ล่วงเลยมาจนเข้าสู่วัยกลางคน หรืออาจจะเลยวัยกลางคนมาแล้วด้วยซ้ำ ….. ก็ยังหาไม่เจอ
แต่ก็ยังไม่สายเกินไปครับ หากเราลงมือทำอะไรหลายๆ อย่าง และเริ่มสังเกตตัวเองตั้งแต่วันนี้
ในญี่ปุ่นจะมีคำว่า ‘อิคิไก’ ที่แปลว่า ‘จุดประสงค์ชีวิต’ ส่วนในทางคริสเตียนก็มีคำว่า ‘การทรงเรียก’ (Calling) หมายถึงสิ่งที่พระเจ้าเรียกให้ผู้เชื่อในพระองค์ไปลงมือทำเพื่อประโยชน์ในภาพรวมแก่มวลมนุษย์คนอื่นๆ นั่นเอง และนั่นคืออาชีพที่เราทำเท่าไหร่ก็ไม่เหนื่อย เพราะเรามีความสุขที่ได้ทำ อยากทำอยู่แม้ต้องเกษียณ หรือแม้มีอายุล่วงเลยมาเท่าไหร่ก็ตามก็ยังอยากทำอยู่ ดังนั้นคำว่า ‘อาชีพในฝัน’ เข้าใจให้ถูกต้องนะครับ ! ไม่ใช่รายได้พาสซิฟ (Passive) ที่หยุดทำงานก็ได้ แถมยังได้เงินเข้ากระเป๋าตลอดเวลา (ฮา)
สุดท้าย แต่ไม่ท้ายสุดของงานในฝัน ดีที่สุดคือเราชอบมัน และหมั่นฝึกฝนซ้ำๆ หาทางสร้างสรรค์ตัวงานเยอะๆ บวกกับการทำการตลาดไม่ว่าจะเป็นทางใดก็ตาม สุดท้ายมันจะกลายเป็นรายได้ของเรานั่นเองครับ ขอฝากไว้เพียงเท่านี้
สัปดาห์หน้าจะขอพูดถึงหัวข้อ ‘แวะพักนักอ่าน’ ก่อนจะไปสู่หัวข้อหนักๆ อันต่อไป โดยจะนำหนังสือที่ผมได้อ่านไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา มารีวิวเนื้อหาสั้นๆ ให้อ่านกันครับ
อาชีพในฝัน ไม่ใช่อย่างที่หลายคนคิด (เข้าใจให้ถูกนะเพื่อนๆ)
โฆษณา