22 ส.ค. 2022 เวลา 06:50 • ข่าวรอบโลก
คนไต้หวัน ต้องการอะไร
Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
5
ท่ามกลางวิกฤตช่องแคบไต้หวันจากการเยือนไต้หวันของประธานสภาสหรัฐฯ แนนซี เพโลซี ซึ่งตามมาด้วยการซ้อมรบครั้งใหญ่ของจีน เรามักได้ยินได้ฟังการวิเคราะห์จากมุมมองของเกมมหาอำนาจที่ต่างก็ใช้ไต้หวันเป็นไพ่ต่อสู้กัน แต่สิ่งที่ดูจะขาดหายไปจากสมการคือเสียงจากคนไต้หวันจริงๆ ว่าคิดเห็นอย่างไรกับอัตลักษณ์ของตนเอง
4
ผลการสำรวจล่าสุดของ National Chengchi University's Election Study Center (ESC) ของไต้หวัน ซึ่งเพิ่งประกาศเมื่อกรกฎาคม 2022 ยังคงสะท้อนว่า คนไต้หวันส่วนใหญ่ต้องการคงสถานะอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มีเพียงร้อยละ 1.3 เท่านั้นที่ต้องการรวมชาติกับจีนให้เร็วที่สุด ขณะเดียวกัน ก็มีเพียงร้อยละ 5.1 ที่ต้องการประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการ
2
ความหมายของ “ประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการ” คือ แก้ไขชื่อประเทศในปัจจุบันจาก “สาธารณรัฐจีน” ที่แพ้สงครามกลางเมืองมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ให้เป็น “สาธารณรัฐไต้หวัน” ให้ชัดเจน และแก้รัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันให้เหลือเพียงว่าอาณาเขตของประเทศคือเกาะไต้หวันเท่านั้น แยกขาดออกมาจากความเป็น “จีน”
5
ชาวไต้หวันจำนวนร้อยละ 28.6 ต้องการคงสถานะปัจจุบันไปตลอดกาล ร้อยละ 28.3 ต้องการคงสถานะในปัจจุบันและค่อยตัดสินสถานะอย่างเด็ดขาดอีกครั้งในอนาคต ร้อยละ 25.2 ต้องการคงสถานะในปัจจุบันและค่อยๆ เปลี่ยนผ่านสู่การเป็นเอกราชอย่างเป็นทางการ มีเพียงร้อยละ 5.2 ที่ต้องการคงสถานะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและค่อยๆ เปลี่ยนผ่านสู่การรวมชาติกับจีนแผ่นดินใหญ่อย่างสมบูรณ์ในอนาคต
7
กลุ่มคนที่สนับสนุนเอกราชของไต้หวันจะชี้ว่า ถ้าทำโพลโดยให้เงื่อนไขคือไต้หวันสามารถประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการได้ โดยไม่ต้องรบกับจีนแผ่นดินใหญ่ จะพบว่าคนไต้หวันส่วนใหญ่คงจะเลือกประกาศเอกราช แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง จีนมีกฎหมายภายในที่ชัดเจน 100% ที่ระบุว่าจีนจะประกาศสงครามทันที หากไต้หวันเลือกเส้นทางนั้น
2
ปัญหาเรื่องไต้หวันส่วนหนึ่งเป็นปัญหาเรื่อง “ความทรงจำ” ยิ่งเวลาผ่านไป ความผูกพันกับจีนแผ่นดินใหญ่ยิ่งจืดจาง ผมเคยไปเยี่ยมเพื่อนที่ไต้หวัน และได้เจอคุณย่าของเพื่อน เมื่อผมเล่าว่าผมเคยเรียนหนังสือที่ปักกิ่ง คุณย่าท่านน้ำตาซึมและเล่าว่าเธอโตที่ปักกิ่ง ก่อนย้ายหนีมาไต้หวันภายหลังสงครามกลางเมือง และยังหวังจะได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดอีกครั้งก่อนตาย ขณะที่หลานของเธอเกิดและโตที่ไต้หวัน ไม่มีความรู้สึกผูกพันใดๆ กับจีนแผ่นดินใหญ่ และรู้สึกว่าเขาเป็นคนไต้หวัน
3
คนรุ่นอายุ 40 ขึ้นไปของไต้หวัน ยังเติบโตมากับตำราเรียนเรื่องประวัติศาสตร์จีน และโตมากับคำมั่นสัญญาของรัฐบาลเผด็จการพรรคก๊กมินตั๋งที่ประกาศจะกลับไปยึดแผ่นดินใหญ่คืนและปลดแอกเพื่อนร่วมชาติในแผ่นดินใหญ่จากคอมมิวนิสต์ แต่คนหนุ่มสาวไต้หวันและเด็กรุ่นใหม่เติบโตมากับคำสอนประวัติศาสตร์ที่อธิบายว่า ไต้หวันเป็นเกาะของไต้หวันอยู่อย่างนี้มาแต่อดีต
2
ต่อมาถูกโปรตุเกสมายึดเป็นอาณานิคม ต่อมาก็ตกเป็นอาณานิคมของราชวงศ์ชิง ญี่ปุ่น และจีนพรรคก๊กมินตั๋งที่หนีสงครามกลางเมืองมายึดและปกครองเกาะ แต่วันนี้ไต้หวันได้เป็นประชาธิปไตยและคนท้องถิ่นของไต้หวันได้กลายมาเป็นผู้ปกครอง (ไม่ใช่ชนชั้นนำในไทเปที่เคยหนีมาจากจีนแผ่นดินใหญ่อย่างในอดีต)
2
ในการสำรวจความเห็นของคนไต้หวันในวันนี้ พบว่า มีเพียงร้อยละ 2.4 ที่เรียกตนเองว่าคนจีน แม้ชื่อประเทศที่ยังใช้อย่างเป็นทางการของไต้หวันคือ “สาธารณรัฐจีน” (ซึ่งแตกต่างจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่ใช้ “สาธารณรัฐประชาชนจีน”) ขณะที่ร้อยละ 30.4 เรียกตนเองว่าเป็นทั้งคนไต้หวันและคนจีน แต่เสียงส่วนใหญ่คือร้อยละ 63.7 เรียกตนเองว่าเป็นคนไต้หวันเท่านั้น
5
มีผู้สื่อข่าวต่างประเทศเคยถามหม่ายิงจิ่ว อดีตผู้นำไต้หวันและผู้นำพรรคก๊กมินตั๋ง เกี่ยวกับผลสำรวจที่ว่าคนไต้หวันส่วนใหญ่ไม่รู้สึกว่าตนเป็นคนจีนอีกต่อไป หม่ายิงจิ่วตอบว่า อยู่ที่การตั้งคำถามของโพล เมื่อตอนนี้ความหมายของจีนคือประเทศจีนคอมมิวนิสต์ คนไต้หวันส่วนใหญ่ย่อมตอบว่าเขาไม่ใช่คนจีน แต่หากถามว่าคุณเป็นคนเชื้อชาติจีนหรือไหม เขาเชื่อว่ามากกว่าร้อยละ 80 จะตอบว่าเป็นลูกหลานจีน
6
ก่อนหน้านี้ หลายคนเคยหวังว่าเศรษฐกิจจะเชื่อมใจคนทั้งสองฝั่งของคาบสมุทรได้ แต่ผลคือล้มเหลวไม่ต่างจากที่เศรษฐกิจไม่สามารถเชื่อมใจคนสหรัฐฯ กับคนจีนได้ ในอดีต เคยมีความหวังจากฝั่งสหรัฐฯ ว่า ยิ่งสหรัฐฯ เชื่อมโยงกับจีนทางการค้าและการลงทุน จีนก็ยิ่งเปลี่ยนมาเหมือนสหรัฐฯ และเปลี่ยนผ่านสู่เสรีนิยมประชาธิปไตย แต่วันนี้ความหวังดังกล่าวกลายเป็นฝันสลายเรียบร้อย
4
คล้ายคลึงกัน จีนเคยฝันหวานว่ายิ่งไต้หวันเชื่อมโยงกับจีนในทางเศรษฐกิจการค้า ไต้หวันจะยิ่งผูกพันกับจีนแผ่นดินใหญ่จนถึงจุดที่รวมชาติได้อย่างสันติ แต่อนิจจาในรัฐบาลของหม่ายิงจิ่วแห่งพรรคก๊กหมินตั๋งในช่วงปี 2008 – 2016
ซึ่งเป็นช่วงฮันนีมูนระหว่างจีนกับไต้หวัน เคยถึงจุดที่ทั้งสองฝั่งมีข้อตกลงการค้าเสรีต่อกัน แต่สุดท้ายกลับจบลงด้วยกระแสต่อต้านจีนภายในไต้หวันที่รุนแรงขึ้น คนรุ่นใหม่กังวลว่าถูกอิทธิพลจีนครอบงำมากขึ้นทุกที ไต้หวันกำลังจะถูกจีนกลืน จนส่งผลให้คะแนนนิยมของพรรค DPP ที่ดุดันกับจีนแผ่นดินใหญ่กลับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ภายในไต้หวัน จึงมีระเบิดเวลาสองลูกใหญ่ ลูกแรกคือ พรรค DPP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลปัจจุบัน มีระบุในธรรมนูญพรรคชัดเจนว่าจะเดินไปสู่เอกราช และนับวันพรรค DPP ก็ดูเหมือนจะผูกขาดชนะการเลือกตั้งในไต้หวัน ส่วนลูกที่สองคือ หากแยกผลสำรวจความเห็นตามอายุ จะเห็นชัดว่ามุมมองคนรุ่นใหม่ของไต้หวันรู้สึกถึงอัตลักษณ์ไต้หวันที่แยกจากจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ความทรงจำและความผูกพันกับจีนแผ่นดินใหญ่ดูจะจืดจางลงตามกาลเวลา
ในกฎหมายต่อต้านการแยกชาติของจีน มีเงื่อนไขว่าจีนจะใช้กำลังในการรวมชาติ หากไต้หวันประกาศเอกราชแยกจากจีนอย่างเป็นทางการ หรือหากโอกาสที่จะรวมชาติอย่างสันติสูญสิ้น ในสมุดปกขาวล่าสุดเกี่ยวกับปัญหาไต้หวันของรัฐบาลจีนที่ประกาศออกมาหลังจากการเยือนไต้หวันของแนนซี่ เพโลซี รัฐบาลจีนยังคงยืนยันความมั่นใจและความตั้งใจที่จะรวมชาติอย่างสันติ แต่คำถามทั้งภายในจีน ไต้หวัน และสหรัฐฯ นั้นเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ว่าโอกาสในการรวมชาติอย่างสันติยังมีอยู่จริงหรือไม่ในวันนี้?
โฆษณา