31 ส.ค. 2022 เวลา 10:00 • ธุรกิจ
UBE ร่วมวงเสวนากับ สวทช. เรื่องแป้งๆ
ชูฟลาวมันสำปะหลัง แก้วิกฤตนำเข้าวัตถุดิบ ทางเลือกสำหรับธุรกิจอาหารแห่งอนาคต
1
UBE โดย นางสาวสุรียส โควสุรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ร่วมเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในงานเสวนา “วิกฤติข้าวสาลีและผลกระทบต่อประเทศไทย : โอกาสและความท้าทายของผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพื่อทดแทนธัญพืช” ชูฟลาวมันสำปะหลังออร์แกนิค วัตถุดิบทางเลือกที่สามารถนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารหลากหลายรูปแบบ
ทดแทนแป้งสาลีในช่วงที่ราคามีความผันผวน ช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุน พร้อมตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพและกลุ่มผู้แพ้กลูเตน งานเสวนาดังกล่าวร่วมด้วยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ดร. วีรวัฒน์ เลิศวนวัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามมอดิฟายด์ สตาร์ช จำกัด และ ผศ.ดร. ณัฐธิญา เบือนสันเทียะ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จัดโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เมื่อวันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม 2565
นางสาวสุรียส โควสุรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) หรือ UBE ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันสำปะหลังรายใหญ่ของประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทฯ มองเห็นโอกาสจากแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องของตลาดฟลาวมันสำปะหลังในต่างประเทศ รวมถึงกระแสการตื่นตัวในการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ปลอดสารเคมีหรือสารพิษที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆ
ประกอบกับความเชี่ยวชาญในการใช้วัตถุดิบมันสำปะหลังที่บริษัทฯ มีเป็นทุนเดิม มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ฟลาวมันสำปะหลังที่มีคุณภาพ โดยให้ความสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำ คือ วัตถุดิบที่มีคุณภาพ ด้วยการเข้าไปส่งเสริมเกษตรกรผ่านการดำเนินการแบบบูรณาการอุบลโมเดลร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อช่วยเกษตรกรลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต การปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล
ปัจจุบันอุบลโมเดลได้ขยายไปสู่ “อีสานตอนล่าง 2 พลัสนวัตกรรม (จ.อุบลราชธานี จ. ยโสธร จ. อำนาจเจริญ และ จ. ศรีสะเกษ) โดยร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กรมส่งเสริมการเกษตร และ กรมวิชาการเกษตร ในการนำนวัตกรรมการผลิต อาทิ สารชีวภัณฑ์ ปัจจัยการผลิต และเครื่องจักรกล เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์
และในอนาคตจะมีการสร้างเครือข่ายนวัตกรรมเกษตรเข้ามาบูรณาการเพิ่มเติม เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลัง
นอกจากนี้ UBE ยังได้นำวัตถุดิบที่แปรรูปจากมันสำปะหลังอินทรีย์ มาพัฒนาต่อยอดผ่านการดำเนินโครงการวิจัยต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตจากมันสำปะหลัง อาทิ โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตฟลาวมันสำปะหลังออร์แกนิค (Organic Cassava Flour) ร่วมกับ สวทช. เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์เบเกอรี่
ซึ่งหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของบริษัทฯ จะนำฟลาวมันสำปะหลังดังกล่าว มาพัฒนาต่อยอดเป็นเบเกอรี่ สูตรต่างๆ และโครงการวิจัยนำฟลาวจากมันสำปะหลังไปประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น เนื้อสัตว์อาหารแช่แข็ง อาหารเด็ก และขนมขบเคี้ยว กับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
บริษัท อุบลซันฟลาวเวอร์ จำกัด (UBS) บริษัทในเครือ UBE ถือเป็นผู้ผลิตแป้งมันสําปะหลังออร์แกนิครายใหญ่ของโลก และผู้ผลิตฟลาวมันสําปะหลังออร์แกนิครายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย UBS จะยังคงพัฒนาเรื่องแป้งๆ จากมันสำปะหลังของเกษตรกร ให้เป็นคาร์โบไฮเดรตแห่งอนาคต ที่ตอบโจทย์ลูกค้าทั้ง B2B / B2C ในการนำไปเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้หลากหลายมากขึ้น สามารถเพิ่มมูลค่าให้เป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่ปราศจากสารกลูเตน ให้กับคนรักสุขภาพ อีกทั้งจากข้อจำกัดการนำเข้าสินค้าที่ผ่านมา
1
นางสาวสุรียส กล่าวว่า ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ต้องใช้วัตถุดิบนำเข้าได้รับผลกระทบ ฟลาวมันสำปะหลังจึงเข้ามามีบทบาทที่สามารถทดแทนเป็นส่วนผสมของเบเกอรี่ หรืออาหารที่ต้องการใช้คุณสมบัติของแป้งที่มีความเหนียว ขึ้นรูป ฯลฯ และเพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น UBS ได้ลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพและขยายกำลังการผลิตฟลาว ไลน์ 2 จากเดิม 100 ตัน เป็น 300 ตันต่อวัน หรือ 90,000 ตันต่อปี เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศมากยิ่งขึ้น
นอกเหนือจากการมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ กลุ่มบริษัท UBE ยังให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจในการบริหารความยั่งยืนตามแนวทาง BCG Model และการสร้างคุณค่าร่วมให้เกิดขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจ (Profit) สังคม (People) และ สิ่งแวดล้อม (Planet) ซึ่งเป็นแนวนโยบายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในทุกมิติ
โดยใช้เทคโนโลยีกระบวนการผลิตแบบชีวภาพ มีการหมุนเวียนพลังงานจากของเหลือใช้มาทดแทนการใช้พลังงานจากภายนอก และมีความมุ่งมั่นในการประหยัดพลังงาน โดยมุ่งเป้าในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงมีการบริหารจัดการองค์กรภายใต้หลักบรรษัทภิบาล และการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้การพัฒนาองค์กรดำรงควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม และสิ่งแวดล้อมต่อไป
ติดตามข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับ UBE ได้ที่ :
โฆษณา