4 ก.ย. 2022 เวลา 10:07 • ข่าวรอบโลก
สุดอั้น! อินโดนีเซียขึ้นราคาน้ำมันรวดเดียว 30%
เบนซินลิตรละ 18.84 พุ่งสู่ 24.63 บาท เสี่ยงเกิดประท้วง
อดีตประเทศในกลุ่ม OPEC สู่ประเทศต้องนำเข้าน้ำมัน
ใครจะไปคาดคิดว่าประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำในรายใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง อินโดนีเซีย จะต้องเห็นภาพผู้คนนำรถยนต์และรถจักรยานยนต์มาจอดต่อแถวยาวเหยียดเพื่อเข้าคิวเติมน้ำมันที่สถานีบริการ หลังจากที่รัฐบาลประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะลดการอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงลง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันจำหน่ายปลีกพุ่งขึ้นรวดเดียวถึง 30%
กระทรวงพลังงานของอินโดนีเซีย แถลงว่านับตั้งแต่เวลา 14.30 น.ของวันเสาร์ที่ 3 กันยายนราคาขายปลีกหน้าปั้มทั้งเบนซินและดีเซลล์จะปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดทันที โดยเบนซินได้ปรับเพิ่มจากลิตรละ 7,650 รูเปียห์ หรือ 18.84 บาท) เป็น 10,000 รูเปียห์ หรือ 24.63 บาท
ส่วนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นจาก 5,150 รูเปียห์ต่อลิตร หรือ 12.68 บาท เป็น 6,800 รูเปียห์ หรือ 16.75 บาท
ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด กล่าวว่าการตัดสินใจขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นทางเลือกสุดท้ายของเขา เนื่องจากรัฐบาลต้องใช้เงินภาษีเพื่อเป็นเงินอุดหนุนด้านพลังงานของประเทศที่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าในปีนี้ถึง 502 ล้านล้านรูเปียห์ หรือ 1.24 ล้านล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และสกุลเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่าลง
1
"รัฐบาลได้พยายามอย่างเต็มที่ เพราะเราต้องการให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงไม่แพง นี่เป็นการตัดสินใจในสถานการณ์ที่ยากลําบาก"
1
นางศรี มุลยานี อินทราวาตี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เจ้าหน้าที่กําลังติดตามผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจจากผลกระทบของราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น
อัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียอาจสูงกว่านี้หลังจากราคาพลังงานในประเทศพุ่งสูง จากที่ก่อนเดือนสิงหาคมเคยแตะระดับ 4.6% เนื่องจากธนาคารอินโดนีเซีย
ทั้งนี้รัฐบาลมีแผนที่จะบรรเทาผลกระทบโดยการเตรียมที่จะแจกเงินสด 150,000 รูเปียห์ หรือ 350 บาท ต่อคน เพื่อบรรเทาผลกระทบของการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงต่อครอบครัวที่ยากจน 20.6 ล้านคนจนถึงสิ้นปี โดยจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีก 12.4 ล้านล้านรูเปียห์ หรือราว 30,000 ล้านบาท ซึ่งจะถูกจัดสรรใหม่จากงบประมาณสำหรับการอุดหนุนพลังงาน
รัฐมนตรีคลังกล่าวว่ารัฐบาลจะใช้เงิน 9.6 ล้านล้านรูเปียห์ หรือ 23,610 ล้านบาท ในความช่วยเหลือด้านรายได้แก่คนงานที่ได้รับค่าตอบแทนต่ำประมาณ 16 ล้านคนและ 2.17 ล้านล้านรูเปียห์ หรือ 5,315 ล้านบาท เพื่ออุดหนุนค่าขนส่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนขับแท็กซี่ รถจักรยานยนต์ และชาวประมง
อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ได้อุดหนุนราคาเชื้อเพลิงมานานหลายทศวรรษ โดยรัฐบาลต้องใช้เงินภาษีถึง 70% ของราคาพลังงานในการอุดหนุน เพื่อให้ชาวอินโดนีเซียมากกว่า 270 ล้านคนได้ใช้น้ำมันราคาถูก
1
และเรื่องของราคาน้ำมันเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนทางการเมืองอย่างยิ่งที่อาจนำไปสู่การปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการอื่นๆ รวมทั้งการปรับขึ้นราคายังเสี่ยงต่อการประท้วงอย่างรุนแรง เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 1998 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันที่นำไปสู่ปัจจัยอื่นๆ ได้จุดประกายให้เกิดการจลาจลกลางเมืองจนโค่นล้มเผด็จการซูฮาร์โตที่ปกครองอินโดนีเซียมาอย่างยาวนาน
สำหรับอินโดนีเซียมีกำลังการผลิตน้ำมันราว 9 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งลดลงจากปี 2013 ที่เคยสูงสุดถึง 1.4 ล้ารบาร์เรลต่อวัน ขณะที่มาเลเซีย หนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของอาเซียนก็มีกำลังการผลิตที่ 6.4 แสนบาร์เรลต่อวัน ทั้งที่ประเทศมีขนาดเล็กกว่าและประชากรน้อยกว่าหลายเท่า
ส่วนปริมาณการใช้น้ำมันในอินโดนีเซียอยู่ที่ 4,700 ล้านลิตรต่อวัน หรือ 3 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่ผลิตได้ในประเทศ ทำให้ต้องมีการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงมหาศาล
ส่วนประเทศไทยในปัจจุบันสามารถผลิตน้ำมันดิบได้บวกลบไม่เกิน 100,000 แสนบาร์เรลต่อวัน และนำเข้ามากลั่นอีกราว 50,000 บาร์เรลต่อวัน แต่ปริมาณการใช้ในประเทศสูงถึงเกือบ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ประเทศต้องนำเข้าน้ำมันสูงถึง 90%
ทั้งนี้อินโดนีเซียเคยเป็นหนึ่งในสมาชิกประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันของโลกอย่างกลุ่ม OPEC ที่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกครั้งแรกในปี 2505 และออกจากกลุ่มไปในปี 2552 เนื่องจากไม่สามารถรักษากำลังการผลิตตามเกณฑ์ของกลุ่มได้ จากปริมาณการใช้ในประเทศที่สูงขึ้น และมีความพยายามจะกลับเข้าร่วมกลุ่มอีกครั้งในปี 2016 แต่สุดท้ายก็ต้องระงับแผนการดังกล่าว เนื่องจากกลุ่มโอเปกมีความพยายามลดกำลังการผลิตน้ำมันลงเพื่อดันราคาให้สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นผลเสียอย่างมากต่อผู้นำเข้าน้ำมันอย่างอินโดนีเซีย
╔═══════════╗
ไม่พลาดบทความสาระดีๆ ที่ Reporter Journey ตั้งใจสร้างสรรเพื่อผู้ติดตามทุกท่าน อย่าลืมกดติดตามเพจ ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
╚═══════════╝
.
ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
Line : @reporterjourney
โฆษณา