6 ต.ค. 2022 เวลา 02:39 • ไลฟ์สไตล์
🏝 ภาพที่เราเห็น ขึ้นกับจุดที่เรายืน...🧍‍♂️
What we see depends on where we stand.
🙎ปกติผมจะเดินทางมาที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประมาณเดือนละครั้ง
ในการมาแต่ละครั้ง จะได้รับความสุขทางกาย ความเพลิดเพลินทางใจ และความคิดบางแง่บางมุม
ติดไม้ ติดมือ กลับไปเกือบทุกครั้ง
และเมื่อคราวเดินทางมาเยือนประจวบช่วงปลายเดือน สิงหาคม 2565
ก็เช่นเดียวกันครับ
ที่ได้ความคิดบางมุมติดตัวกลับไปด้วย
👉 ที่ว่า..."ได้ความคิดบางมุมติดตัวกลับไป"...มีที่มาอย่างนี้ครับ
เริ่มจากช่วงเช้าของวันอังคารที่ 30 สิงหาคม 2565 เวลาประมาณ 10 โมงเศษ...
หลังจากที่กราบไหว้สักการะศาลหลักเมือง ประจำจังหวัด เรียบร้อยแล้ว
ศาลหลักเมืองประจวบ
ผมถือโอกาสเดินเท้าไปอีก 200 - 300 เมตร
เพื่อชมทิวทัศน์ ริมฝั่งทะเล บริเวณอ่าวประจวบ
พร้อมกับใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพไปด้วย
และได้ไอเดียที่เรียกว่า "แว้บ" โดยบังเอิญ ระหว่างที่ถ่ายภาพวิวทะเล บริเวณอ่าวประจวบ ในหลาย ๆ มุม จากจุดยืนถ่ายต่าง ๆ กัน
พอถ่ายภาพเป็นที่พอใจแล้ว ก็มานั่งพักใต้ต้นไม้ใหญ่ริมทะเล
เพื่อใช้เวลาคิดหาถ้อยคำเหมาะ ๆ แทนความคิดช่วงที่ "แว้บ" ใส่ลงไปในภาพเพื่อสื่อความหมาย
โดยลงตัวในข้อความภาษาไทยและอังกฤษว่า
"ภาพที่เราเห็น ขึ้นกับจุดที่เรายืน"
What we see depends on where we stand.
ทั้งนี้ มีประโยคภาษาอังกฤษอื่น ๆ ที่มีการนำมาใช้ในความหมายใกล้เคียงกัน เช่น
What you see and what you hear depens a great deal on where you are standing.
Where you stand determine what you see.
ขณะเดียวกันถ้อยคำในภาษาไทย ก็มีผู้ถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก นึกคิดในแนวที่คล้ายคลึงกัน อาทิ
"เพราะยืนคนละจุด เลยรู้สึกคนละอย่าง" (จากเว็บไซต์ คำคมอ่อย.com)
"เรามองสิ่งเดียวกัน หากแต่ยืนอยู่คนละมุม สิ่งที่เห็นย่อมแตกต่าง"
(facebook : Thanyavuddho Story)
หลังจากใส่ถ้อยคำลงไปในภาพเสร็จเรียบร้อย
ผมก็ส่งภาพเป็นคำทักทายประจำวันอังคาร(30 ส.ค.65)ผ่านทางไลน์ไปยังผู้ที่เคารพนับถือ เพื่อนฝูงและคนคุ้นเคยกัน
ห้องเรียนร่มรื่นริมทะเลกว้าง (สถานที่คิดหาถ้อยคำ)
🌈 จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ผมลองมานั่งขยายความคิดที่เกิดขึ้นจากภาพและถ้อยคำดังกล่าวอีกครั้ง
พบว่า สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา ทั้งใกล้ตัวและไกลตัว
มีหลายกรณีที่เราและคนแวดล้อมเรา รวมทั้งคนโดยทั่วไปในระดับสากล
มีความคิด ความรู้สึก รวมถึงการแสดงออก และกระทำในแต่ละสิ่งที่แตกต่างกัน
ซึ่งเป็นผลมาจากการยืนกันคนละจุด และมีเหตุผลรองรับกันคนละแบบในหลาย ๆ เรื่อง 🕴🧍‍♀️
🌏 เริ่มจากเรื่องไกลตัว ที่ส่งผลกระทบถึงคนทั่วโลก
ดังเช่น กรณีการสู้รบของรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อมาหลายเดือน
ซึ่ง เคธี เคลลี่ นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน และสันติภาพ ที่เคยได้รับการเสนอชื่อให้รับรางวัลโนเบล เคยยืนยันถึงประโยคนี้...
"What we see depends on where we stand."
โดยนำตัวอย่างคราวเกิดความขัดแย้งในอาฟกานิสถานมาประกอบการอธิบาย
ต่อกรณีที่บางคนอาจจะมีทรรศนะต่อเรื่องดังกล่าวอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในสถานะใด
ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ในฐานะเป็นผู้กำหนดนโยบายจากสหรัฐอเมริกา และทหารชาวอเมริกัน หรือทหารชาวอาฟกัน และเด็กในอาฟกานิสถาน
ย่อมจะมีมุมมองที่แตกต่างกัน แม้จะเป็นสถานการณ์เดียวกัน
และอีกตัวอย่างที่อาจสะท้อนถึงการมีความเห็นที่ต่างกัน
กรณีปฏิกิริยาของจีนที่มีต่อใต้หวันและสหรัฐอเมริกา
หลังการเยือนไต้หวันของผู้นำระดับสูงจากรัฐสภาอเมริกา
👩‍💻 ต่อจากนั้น เมื่อลองมองแคบเข้ามาดูภายในประเทศของเรา
มีหลายเรื่องที่เป็นตัวอย่างเสริมถึงความเห็นต่างที่อาจเกิดขึ้นได้จากการยืนอยู่กันคนละจุด
ทั้งจากประเด็นทางการเมือง กรณีการนับอายุของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560
ที่กำหนดระยะเวลาไว้ 8 ปี จะเริ่มต้นนับจากช่วงเวลาใด
ประเด็นทางเศรษฐกิจกรณีการแก้ปัญหาค่าเงินบาทอ่อนตัว
ประเด็นทางสังคมกรณีการปลดล็อคกัญชาจากยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย
ประเด็นทางการศึกษา จากกรณีเหตุทะเลาะวิวาท การแต่งกายและทรงผมของนักเรียน
ประเด็นการบริหารจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล
🚙 ตลอดจนเรื่องใกล้ตัวในการใช้ชีวิตประจำวันของเรา 🛵
ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับผมเอง
ในวันที่ขับรถยนต์ แล้วเจอคนขับรถจักรยานยนต์ขับสวนเลนมา จะรู้สึกว่า ทำไมถึงไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร
แต่พอถัดมาอีก 2-3 วัน ด้วยความเร่งรีบจะไปทำธุระ เลยอาศัยบริการรถจักรยานยนต์มาต่อรถไฟฟ้า
ปรากฏว่า คนขับวินก็วิ่งขับสวนเลนในลักษณะเดียวกัน โดยที่ผมเองไม่ได้แสดงท่าทีคัดค้านอย่างเอาจริงเอาจัง
ได้แต่เพียงบอกไปว่า "วิ่งสวนทางแบบนี้ ระมัดระวังหน่อยนะ"
กลายเป็นว่า...พอจุดนั่งเปลี่ยน ความคิดก็ผันแปร (ฮา) 🙂🙃
ท้องถนนในกรุงพนมเปญ
จากตัวอย่างทั้งหมดที่ยกมา สะท้อนให้เห็นว่า แม้จะเป็นเรื่องเดียวกัน
โอกาสที่เราจะมีมุมมองหรือทรรศนะ ความคิดไปในทิศทางเดียวกัน เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก
หากมีภูมิหลังจาก เพศ อายุ บทบาท หน้าที่ความรับผิดชอบ ทัศนคติ ความชอบ ความเชื่อ
ประสบการณ์ที่แตกต่างกัน และการรับรู้ข้อมูลที่ไม่เท่ากัน
รวมทั้ง ประเด็นหรือเรื่องนั้น ๆ มีแนวโน้มที่จะเห็นแตกต่างกันได้ง่าย
🤏 แต่ก็มิใช่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้ที่จะทำให้ผู้มีความเห็นต่างเกิดความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน
หากเรื่องนั้น ๆ ค่อนข้างมีความชัดเจน ไม่คลุมเครือ และมีข้อมูลประกอบการพิจารณาที่สมบูรณ์ครบถ้วน
มีการให้ความรู้ ความเข้าใจอย่างตรงไป ตรงมา ปราศจากอคติ
ตลอดจนมีวิธีการบริหารจัดการความต่างให้ลงตัว ผ่านกลไกที่นำมาใช้ตามลักษณะปัญหาที่เกิดขึ้น
อาทิ การเจรจาตามแนวทางสันติวิธี การประนีประนอม
การปรองดอง การไกล่เกลี่ย การประชุมหารือ
และการใช้เทคนิคการสื่อสาร พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในบรรยากาศที่ลดความเป็นทางการ
เช่น ในร้านอาหารหรูชั้นนำ ยันร้านลาบส้มตำ ข้าวราดแกง หรือร้านกาแฟหลากหลายสไตล์
เพื่อหาข้อสรุปที่ลงตัว
ร่วมกัน หรือนำมุมมองที่ต่างจากการยืนกันคนละจุด มาสร้างให้เกิดพลังหรือทางเลือกใหม่
ด้วยท่าทีที่ตั้งใจรับฟัง และเคารพความเห็นกันและกัน
บางเรื่องได้ข้อสรุปเลาๆ @บรรยากาศที่ผ่อนคลาย
✍ เรียบเรียงเนื้อหามาถึงตรงนี้ แม้ว่าประเด็นปัญหาโดยส่วนใหญ่ตามตัวอย่างข้างต้น จะเป็นกรณีการมีมุมมองที่ต่างกัน
1
แต่ก็มีประเด็นสาธารณะบางประเด็นที่คนในสังคมเริ่มมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันจากพัฒนาการของ "ปัญหา" และ "โอกาส" ที่เกิดขึ้น
1
อาทิ ในประเด็นด้านการกีฬา ที่เริ่มเห็นพ้องตรงกันว่า ถึงเวลาแล้ว
ที่จะต้องหาแนวทางแก้ "ปัญหา" และพัฒนาวงการฟุตบอลไทยให้เป็นรูปธรรมเพื่อฟื้นศรัทธากลับมาโดยเร็ว
เพราะผลการแข่งขันในระยะหลังสร้างความผิดหวังให้กับแฟนบอลชาวไทยมาอย่างต่อเนื่อง
1
ฟุตบอลกีฬายอดนิยมของชาวไทย
ซึ่งแตกต่างไปจากกีฬาวอลเลย์บอลที่มีการปฏิรูปพลิกโฉมไปจากอดีตค่อนข้างเห็นได้ชัด
รวมทั้งกีฬาอื่น ๆ ที่ก้าวเข้าสู่ระดับโลก ตัวอย่างเช่น แบดมินตัน กอล์ฟ และฟุตซอล
1
และประเด็นที่เห็นเป็น "โอกาส" ตรงกันว่า เมืองไทยมีพลัง soft power ที่หลากหลายจาก
1
ต้นทุนทางอาหาร ศิลปะวัฒนธรรม และกีฬา
ไม่น้อยไปกว่าชาติอื่นใด
ซึ่งสามารถนำไปบูรณาการ ต่อยอด สร้างรายได้และความภาคภูมิใจให้กับชาวไทยโดยรวมได้ไม่ยาก
วิถีแบบไทย เสน่ห์ดึงดูดชาวต่างชาติ
ขอเพียงแต่ละคน แต่ละฝ่าย ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเริ่มต้นชักชวนผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมหารือ และลงมือทำ
คนละไม้ คนละมือ "อย่างถ้อยที ถ้อยอาศัย" อันเป็นคุณลักษณะที่ดีของสังคมไทยมาช้านาน
จะช่วยให้เมืองไทยอันเป็นที่รักของเราทุกคนกลายเป็น..
เมืองของคนทั้งโลก
หรือ
เมืองที่คนทั้งโลกเป็นเจ้าของร่วมกัน
โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่อง เพศ วัย เชื้อชาติ ศาสนา และถิ่นพำนัก อีกต่อไป
🙏ขอบคุณมากครับ
มุมชัย นัยสอิ้ง
การเปิดพรมแดนทางความคิดของกันและกัน ช่วยให้เข้าใจมุมมองที่แตกต่างกันเพิ่มขึ้น
โฆษณา