7 ก.ย. 2022 เวลา 09:13 • ประวัติศาสตร์
วันคล้ายวันสวรรคต #พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช #รัชกาลที่๑
วันพฤหัศบดี ที่ ๗ เดือนกันยายนพ.ศ. ๒๓๕๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จสวรรคต ที่พระที่นั่งสิบเอ็ดห้อง (พระที่นั่งไพศาลทักษิณ)
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงครองราชย์ ได้ทรงอภิบาลแผ่นดินสยามในทุกทาง ทั้งการศึก การเมือง และการเพื่อประโยชน์ของประชาราษฎร์ ดังปรากฎในพระราชพงศาวดาร อาทิ
โปรดเกล้าให้กรมนานำข้าวออกแจกจ่ายให้ราษฎรเป็นจำนวนมากเนื่องจากเกิดความเสียหายจากน้ำมากทำให้ข้าวเสียหาย ข้าวมีราคาสูงถึงเกวียนละชั่ง ประชาราษฎรก็ขัดสนด้วยอาหาร จึงได้พระราชทานข้าวให้โดยทั่วถึงกัน
ในเวลานั้น รอบกรุงสยามต้องเผชิญศึกรอบด้าน จากพวกพม่า ที่เข้ามาทั้งเหนือใต้ ไม่เพียงแต่สยามต้องรบรากับพม่า แต่ยังต้องรับมือกับพวกมลายูด้วยอีกทาง
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงงานพระราชานุกิจไม่ได้ขาด จะทรงเสด็จออกท้องพระโรงตั้งแต่เช้าหลังจากเสด็จทรงบาตรแล้ว จะทรงประภาษราชการแผ่นดินจนถึงเวลาเสวยพระกระยาหารกลางวัน จากนั้นจะเสด็จออกประภาษราชการฝ่ายในจนถึงเวลาพระกระยาหารค่ำ
ทรงพระราชวินิจฉัยด้วยราชการแผ่นดินจนเวลาประมาณยามเศษ ๔ ทุ่มจึงเสด็จขึ้น ถ้าคราวปรึกษาการทัพศึกหรือเวลามีราชการสำคัญก็เสด็จขึ้นถึง ๗ ทุ่ม ๘ ทุ่ม ทรงปฏิบัติพระราชานุกิจดังนี้เสมอมา จนทรงพระชราลงมีพระโรคชราเบียดเบียน ไม่สามารถจะเสด็จออกท้องพระโรงได้ จึงเสด็จลงมาประทับอยู่ในพระที่นั่งหลัง ๑๑ ห้อง ซึ่งมีนามในภายหลังมาว่า พระที่นั่งไพศาลทักษิณ
ปีที่ ๒๘ ของการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้มีการสมโภชพระแก้วมรกต การครั้งนั้นโปรดใหตั้งโรงฉ้อทาน ที่หน้าวัดมหาธาตุ ที่ท่าพระ ที่โรงรองงาน ที่สะพานช้างโรงสี ที่สะพานตรงวังหน้า ที่หอกลอง รวมหกโรง เลี้ยงพระสงฆ์สามเณร ข้าทูลละอองธุลีพระบาทและราษฎรชายหญิง และยังพระราชทานเงินผู้ที่ทำสำรับเลี้ยงพระสงฆ์สำรับละบาทด้วย
ในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ข้าพระพุทธเจ้าขอน้อมรฤกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
โฆษณา