19 ก.ย. 2022 เวลา 01:17 • ข่าวรอบโลก
๑๐ เกร็ดน่ารู้…เกี่ยวกับเอเปค ๒๐๒๒
8
๑. ไทยเคยจัดการประชุมเอเปคมาแล้ว ๒ ครั้ง คือ ปี ๒๕๓๕ เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี ต่อมาครั้งที่ ๒ คือในปี ๒๕๔๖ ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคที่มีผู้นำจากหลายประเทศมหาอำนาจเข้าร่วม ทำให้ไทยมีบทบาทและผลักดันประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ของไทยในเวทีโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ ในปี ๒๕๔๖ ที่ไทยเคยเป็นเจ้าภาพมาแล้วนั้น ได้ใช้หอประชุมกองทัพเรือในการจัดเลี้ยง ซึ่งสามารถมองเห็นพระบรมมหาราชวังได้และมีการจัดแสดงกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคจำลอง
4
หอประชุมกองทัพเรือเคยใช้เป็นสถานที่จัดเลี้ยงในการเป็นเจ้าภาพเอเปค ปี ๒๕๔๖ (ที่มา: เว็บไซต์หอประชุมกองทัพเรือ)
ในปีนี้ ไทยจะต้อนรับผู้นำเอเปคในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๕ โดยจะเผยแพร่คุณค่าและเอกลักษณ์ของศิลปวัฒนธรรมไทยอย่างงดงามเช่นกัน
1
๒. เอเปค ๒๕๖๕ มี “ชะลอม” เป็นโลโก้ โดยเป็นผลงานของนายชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง นิสิตชั้นปีที่ ๒ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ชนะเลิศการประกวดจัดโดยมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นสัญลักษณ์ของการค้าขายของไทยในสมัยโบราณ สื่อถึงการค้าที่เปิดกว้างร่วมกันของสมาชิกเอเปค และเส้นไม้ไผ่สาน ๒๑ ช่องก็เป็นตัวแทนสมาชิกทั้งหมด ๒๑ เขตเศรษฐกิจด้วย
9
โลโก้ชะลอม มีสีน้ำเงิน สื่อถึง Open การเปิดกว้าง ชมพู สื่อถึง Connect การสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยง สีเขียว สื่อถึง Balance ความสมดุล ตามธีมหลักของเอเปคปีนี้ “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล”
4
โลโก้เอเปค ๒๐๒๒ ผลงานการออกแบบโดยนายชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง นิสิตชั้นปีที่ ๒ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ที่มา: เว็บไซต์เอเปค ๒๐๒๒)
๓. เอเปคจะเป็นเวทีการประชุมเพื่อส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้าและความร่วมมือในด้านต่าง ๆ การประชุมเอเปคจะเรียกสมาชิกว่า “เขตเศรษฐกิจ (economy)” โดยให้ความสำคัญกับความเป็นเขตเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ฮ่องกงและจีนไทเปมีความสำคัญทางเศรษฐกิจสูงจึงเป็นสมาชิกเอเปคด้วย
2
๔. นอกจากกระทรวงการต่างประเทศแล้ว ยังมีหน่วยงานอื่น ๆ ที่จัดประชุมเอเปคในกรอบที่เกี่ยวข้องในปีนี้ด้วย เช่น กระทรวงพานิชย์จัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค กระทรวงสาธารณสุขจัด APEC Health Week กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัดประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารและป่าไม้เอเปค
3
รวมทั้ง กิจกรรมอบรมทักษะและเสวนาระดับต่างๆ เช่น การประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการพัฒนาอาชีพดอกไม้ประดับ (International Workshop on Development of Ornamental Plant and Flower Clusters for Sustainable Careers and Competitiveness of SMEs in APEC) จัดโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
4
และยังมีการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างเสริมศักยภาพความเป็นผู้นำแก่บุคลากรวิจัยรุ่นใหม่ในภูมิภาคเอเปค (Inclusive Science Leadership Program for Early-to Mid-Career Researchers in APEC) จัดโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นกิจกรรมที่กลุ่มผู้ประกอบการ และผู้ปฏิบัติการวิจัย ได้ประโยชน์อย่างรูปธรรม
3
การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๓ (SOM3) ณ จังหวัดเชียงใหม่ (ที่มา: เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ)
๕. การจัดการประชุมเอเปคในระดับต่างๆ กระจายไปจัดในต่างจังหวัด เช่น การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสคลัง (SFOM) และการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (SOM) ครั้งที่ ๒ จัดขึ้นที่ จ.ขอนแก่น การประชุมระดับรัฐมนตรีป่าไม้เอเปค และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส (SOM) ครั้งที่ ๓ จัดขึ้นที่ จ.เชียงใหม่ เป็นต้น โดยมีผู้แทนเดินทางมาเข้าร่วมในแต่ละประชุมหลายพันคน และยังมีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ OTOP สินค้าพื้นเมือง งานหัตกรรมท้องถิ่น และอัตลักษณ์ของชาวล้านนา เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่นของไทยในช่วงดังกล่าวด้วย
3
๖. ประเทศไทยมีแนวคิดพัฒนาเศรษฐกิจโดยตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อมุ่งสู่การเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับทิศทางของโลก แนวคิดนั้นคือ โมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy Model ซึ่งกำลังผลักดันให้สำเร็จเป็นรูปธรรมในเวทีเอเปคเป็นครั้งแรกด้วย
3
การประชุมเอเปคจึงจะผลักดันให้มี “Bangkok Goals” หรือเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นำแนวคิด BCG มาสานต่อโดยวางเป้าหมายให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ การค้า การลงทุน การจัดการทรัพยากรมีความยั่งยืน การจัดการของเสียมีประสิทธิภาพ และเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
๗. เอเปคยังเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์หนึ่งเดียวในระดับภูมิภาค ที่ไทยและประเทศปาปัวนิวกีนีร่วมเป็นสมาชิก โดยมีการเจรจาทวิภาคีระหว่างกันในช่วงประชุมเอเปค เช่น ช่วงเอเปค ๒๕๕๕ หารือกันที่เมืองวลาดิวอสต็อก รัสเซีย หรือช่วงเอเปค ๒๕๕๖ หารือกันที่เมืองบาหลี อินโดนีเซีย เป็นต้น และปาปัวนิวกีนีได้เป็นเจ้าภาพเอเปคเมื่อปี ๒๕๖๑ มาก่อนหน้านี้
๘. การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีนี้ นอกจากจะเป็นการประชุมระหว่างประเทศระดับใหญ่ครั้งแรกๆ ที่จัดแบบกายภาพ (physical) หลังจากการประชุมในรูปแบบออนไลน์มาหลายปี ยังจะเป็นการประชุมแนวสีเขียว (Green Meeting) คือ การนำทรัพยากรมา reuse reduce และ recycle เช่น ตกแต่งบริเวณงานด้วยกระดาษรีไซเคิล หรือนำกระดาษที่ใช้ในงานมาผลิตเป็นชั้นวางหนังสือ เป็นต้น
3
สอดคล้องกับโมเดล BCG ที่เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน และจะมีการนับการประหยัดคาร์บอนและไม่ผลิตอาหารเหลือ โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) บริษัท SCG ปตท. OR และบางจาก และพันธมิตรอื่นๆ ร่วมดำเนินโครงการนี้
1
นวัตกรรมกระดาษจากเอสซีจี ตามแนวทางโมเดล BCG (ที่มา: เว็บไซต์ BCG)
๙. ภาคเอกชน โดยสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council) มีบทบาทสำคัญในการให้ข้อเสนอแนะต่อผู้นำและภาครัฐในประเด็นที่มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจ โดยมีกรอบการประชุมภาคเอกชนที่สำคัญจัดคู่ขนาน และยังมีบริษัทเอกชนกว่า ๓๐ บริษัท ร่วมเป็นพันธมิตรในด้านต่างๆ เช่น APEC Communication Partners สนับสนุนการรับรู้เอเปคในวงกว้าง และ APEC Mobility Partners
นอกจากนี้ กว่า ๒๐ มหาวิทยาลัย และโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานครหลายแห่ง ได้ดำเนินโครงการสัมมนาหรือกิจกรรมสร้างการรับรู้ให้แก่นักเรียนนักศึกษาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปีนี้
๑๐. เยาวชนเป็นกลุ่มที่สำคัญในกรอบเอเปค โดยมีการสนับสนุนการสร้างการรับรู้และความเข้มแข็งของเยาวชน ในระบบเศรษฐกิจ การสนับสนุน start ups และจะมีโครงการที่เยาวชนมีส่วนร่วม เช่น โครงการ APEC Voices of the Future โครงการอาสาสมัคร และกิจกรรมเช่นการประกวดภาพถ่าย (APEC Photo Contest) โครงการประกวด “เมนูอาหารอนาคต” รับผู้นำเอเปค ชิงรางวัลชนะเลิศ ๑ ล้านบาท จัดโดยกรมประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สถานที่จัดการประชุมเอเปค ๒๐๒๒ (ที่มา: Facebook  ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์)
โดย นายณัฐภาณุ นพคุณ
รองอธิบดีกรมสารนิเทศ
และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ
Twitter @NatapanuN
โฆษณา