9 ก.ย. 2022 เวลา 14:53 • ประวัติศาสตร์
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1954 ระหว่างที่เสด็จเยือนประเทศเคนยา “เจ้าหญิงเอลิซาเบธ” ได้เสด็จขึ้นบ้านต้นไม้บนต้นฟิก เพื่อทอดพระเนตรวิวและสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติอาเบอร์แดร์ แต่ขณะที่ลงจากต้นไม้ พระองค์กลับลงมาในฐานะ “สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร”
นั่นเป็นชั่วโมงยามที่ราชบัลลังก์เปลี่ยนผ่านจากสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 สู่พระราชธิดา ซึ่งจะกลายเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษต่อไป ด้วยเวลา 70 ปี 214 วัน เป็นสัญลักษณ์แห่งความ ‘มั่นคง’ ที่ยืนหยัดพาราชวงศ์อังกฤษผ่านช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านสังคม วัฒนธรรม และการเมือง กว่า 7 ทศวรรษ โดยที่ยังรักษาความนิยม และความเคารพจากประชาชนไว้ได้จวบจนสิ้นรัชสมัย
ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงอันเชี่ยวกราก สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงทำอย่างไรจึงยังรักษาบทบาทของสถาบันกษัตริย์อังกฤษไว้ได้ แม้ในศตวรรษที่ 21 ที่มุมมองทางการเมืองสมัยใหม่ทำให้ความนิยมในระบอบกษัตริย์ลดลง
ในบทความนี้ ทีมข่าว Spotlight จึงอยากพาทุกคนมาย้อนรอยดู 5 เรื่องของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กันว่า พระองค์ทรง ‘เปลี่ยนโฉมหน้า’ ราชวงศ์อังกฤษอย่างไรให้ ‘ทันสมัย’ และ ‘เอาตัวรอด’ ได้อย่างสง่างาม ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงมากมายที่เกิดขึ้นตลอดรัชสมัยของพระองค์
  • ทรงเป็นกษัตริย์อังกฤษพระองค์แรกที่ถ่ายทอดพระราชพิธีราชาภิเษก และเปิดเผยชีวิตส่วนพระองค์ให้ประชาชนเห็น
ถึงแม้ราชวงศ์อังกฤษในปัจจุบันจะเป็นราชวงศ์หนึ่งที่เรียกได้ว่ามีสมาชิกปรากฎตัวในสื่อ และเป็นที่รู้จักมากที่สุดราชวงศ์หนึ่งของโลก แต่ครั้งหนึ่งราชวงศ์วินเซอร์ก็เคยเป็นสถาบันกษัตริย์ที่วางตัวห่างเหิน และแทบจะไม่เคยปรากฎตัว หรือเปิดเผยวิถีชีวิตส่วนตัวให้ประชาชนเห็นมาก่อน เฉกเช่นราชวงศ์ในประเทศอื่นๆ
แต่ในปี 1953 ที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงขึ้นครองราชย์ ธรรมเนียมปฏิบัตินั้นก็เปลี่ยนไปเมื่อพระองค์ทรงตัดสินพระทัย ให้มีการถ่ายทอดสดพระราชพิธีราชาภิเษก และทำให้ภาพลักษณ์ของราชวงศ์เปลี่ยนจาก ‘ผู้ปกครอง’ ไปเป็น ‘สัญลักษณ์’ ของความยิ่งใหญ่และร่ำรวยของวัฒนธรรมอังกฤษที่น่าภาคภูมิใจ อีกทั้งยังทำให้ประชาชนรู้สึกว่าสมาชิกในราชวงศ์ก็เป็นมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือดเนื้อและมีความใกล้ชิดกับประชาชน
และในปี 1969 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก็ทรงอนุญาตให้สำนักข่าว BBC เข้าไปถ่ายทำชีวิตส่วนพระองค์ที่พระตำหนักบัลมอรัล ทำให้ประชาชนได้เห็นเป็นครั้งแรกว่าพระราชินีและสมาชิกในพระราชวงศ์ใช้ชีวิตประจำวันอย่างไร มีกิจวัตรอะไรบ้าง ซึ่งก็นับว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องเพราะมันยิ่งไปตอกย้ำภาพลักษณ์ของราชวงศ์สมัยใหม่ที่ ‘เข้าถึงได้แต่ยังคงสง่างาม’ และทำให้ความนิยมของพระองค์ในหมู่ประชาชนสูงขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ การเปิดเผยชีวิตส่วนพระองค์แบบนี้ยังทำให้ ‘สื่อ’ เข้าถึงราชวงศ์ได้ในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน การปรากฎตัวในหน้าสื่อแบบนี้ทำให้ทุกเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของสมาชิกในราชวงศ์ ไม่ว่าจะเป็นการประสูติ หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งพิธีอภิเษกสมรส กลายเป็น ‘เหตุการณ์สาธารณะ’ ที่ใครๆ ก็เข้าไปมีส่วนร่วมชื่นชมได้
อีกทั้งยังกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนเห็นความสำคัญของสถาบันกษัตริย์ในฐานะ ‘ผู้สืบทอดอารยธรรมอังกฤษ’ ที่มีความเป็นมายาวนาน เพราะหากขาดการมีอยู่ของกษัตริย์ พิธีการที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของอังกฤษเหล่านี้ก็คงจะเลือนหายไปตามกาลเวลาอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ
  • ทรงเป็นกษัตริย์อังกฤษพระองค์แรกที่ลงไปทรงพระดำเนินทักทายประชาชน
นอกจากการถ่ายทอดชีวิตของราชวงศ์ผ่านสื่อแล้ว อีกวิธีหนึ่งที่สมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงใช้ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของราชวงศ์ให้ดูทันสมัยเข้าถึงง่ายอีกวิธีก็คือ การลงไปทรงพระดำเนินทักทาย จับมือกับประชาชนอย่างใกล้ชิด เมื่อครั้งเสด็จเยือนประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ในปี 1970 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สมาชิกระดับสูงของราชวงศ์ลงไปทรงพระดำเนิน พูดคุยคลุกคลีใกล้ชิดกับประชาชน
เหตุการณ์ในครั้งนั้นนอกจากจะสร้างความประทับให้กับประชาชนที่ไปรอรับเสด็จแล้ว ยังกลายเป็นต้นแบบให้กับสมาชิกในราชวงศ์ทุกพระองค์ต่อจากนั้นด้วย จนภาพสมาชิกราชวงศ์อังกฤษลงไปทรงพระดำเนินจับมือ พูดคุย ยิ้มแย้มให้กับประชาชนอย่างใกล้ชิดกลายเป็นภาพจำของคนทั้งโลก และกลายเป็นไฮไลต์ที่คนที่ไปรอรับเสด็จเฝ้ารอคอย
  • ทรงเป็นกษัตริย์อังกฤษพระองค์แรกที่อาสาจ่ายภาษีรายได้ และภาษีกำไรจากเงินลงทุน
นอกจากการปรับ ‘ภาพลักษณ์’ ให้ดูเข้าถึงง่ายเหมือนประชาชนทั่วไปแล้ว พระองค์ยังทรงยอมปรับ ‘ลดอภิสิทธิ์’ ที่พระองค์มี ให้มีสิทธิและหน้าที่ทัดเทียมกับประชาชนในระบอบประชาธิปไตยด้วย โดยการทรงอาสาจ่าย ภาษีรายได้ (income tax) และภาษีกำไรจากเงินลงทุน (capital gains tax) ตั้งแต่ปี 1992
นอกจากนี้ ยังทรงเปลี่ยนรูปแบบการรับรายได้จากรัฐบาลจากระบบ Civil List ที่ใช้มายาวนานตั้งแต่ปี 1760 เป็นระบบ Sovereign Grant เมื่อปี 2012
ทำให้จากที่ในแต่ละปี พระองค์จะทรงได้รับเงินปี 3 ส่วนคือ เงินปีสำหรับการเดินทาง เงินปีสำหรับการติดต่อสื่อสาร และเงินปีสำหรับการทำนุบำรุงพระราชวังและพระตำหนัก แต่ภายใต้ระบบใหม่พระองค์จะทรงได้รับเงินปีในภาพรวมเป็นก้อนเดียวที่พระองค์จะใช้ไปกับ
  • การปฏิบัติพระราชกรณียกิจทางการต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ
  • การบำรุงรักษาพระราชวังต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่ประทับของสมาชิกราชวงศ์
  • ค่าจ้างพนักงานที่ทำงานสนับสนุนพระองค์
การถวายเงินปีขึ้นอยู่กับผลกำไรของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (Crown Estate) ซึ่งเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่พระมหากษัตริย์อังกฤษทรงเป็นเจ้าของ แต่มีคณะผู้บริหารที่แยกเป็นอิสระ โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อยู่ใต้การควบคุมของ คณะกรรมการบริหารชุดหนึ่งซึ่งมีหน้าที่หลักคือ รักษาและเพิ่มมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลาย "เพื่อประโยชน์ทางการเงินของชาติ"
  • ทรงเป็นกษัตริย์อังกฤษพระองค์แรกที่แสดงความเศร้าโศกต่อสาธารณชน
ก่อนรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 การแสดงอารมณ์ในเหตุการณ์เศร้าโศกถือเป็น ‘สิ่งต้องห้าม’ จากแนวคิดที่ว่าพระมหากษัตริย์จะต้องมีภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่ง ไม่อ่อนไหวต่อทุกเหตุการณ์ และสมเด็จพระราชาชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก็ทรงยึดถือแนวทางนี้มาเป็นอย่างดี ดังที่เห็นได้จากการที่พระองค์ไม่เคยทรงพระกันแสงต่อหน้าสาธารณชนในตอนที่พระบิดาเสด็จสวรรคต
แต่ในปี 1997 แนวปฏิบัตินี้ก็เปลี่ยนไปเมื่อสาธารณชนเรียกร้องให้สมเด็จพระราชินีนาถออกมาแสดงความเศร้าเสียพระทัยร่วมกับประชาชน ต่อการจากไปของ ‘เจ้าหญิงไดอาน่า’ ซึ่งเป็นที่รักของคนอังกฤษทั้งประเทศ
จากเหตุการณ์นี้ ถึงแม้พระองค์มีสิทธิที่จะยึดมั่นกับธรรมเนียมเก่าแก่ต่อไปได้ พระองค์ก็ยอมปรับเปลี่ยน โอนอ่อนผ่อนปรนไปตามความต้องการประชาชน และนำธงสหภาพ หรือ ธงยูเนียนแจ็ก (Union Jack) ไปแขวนไว้ตรงกลางเสาที่พระราชวังบักกิงแฮมเพื่อไว้อาลัยให้แก่เจ้าหญิงแห่งเวลส์ผู้ล่วงลับ ถึงแม้ในเวลานั้นไดอาน่าจะไม่ใช่สมาชิกราชวงศ์แล้วก็ตาม รวมไปถึงยังค้อมพระเศียรให้กับขบวนศพต่อหน้ากล้องถ่ายทอดสด
นับต่อจากนั้น การแขวนธงยูเนียนแจ็กครึ่งเสาที่พระราชวังบักกิงแฮมเพื่อแสดงความเสียใจเมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้น ก็กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติใหม่ของราชวงศ์อังกฤษ เพราะทางพระราชวังก็ได้นำธงขึ้นมาแขวนอีกครั้งตอนเกิดเหตุวินาศกรรม 9/11 เมื่อปี 2001 และเมื่อพระสวามี เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2021
และทำให้ภาพลักษณ์ของราชวงศ์ที่เคยเย็นชา เข้มแข็ง ไม่หวั่นไหวต่อเหตุการณ์ใด ‘มีอารมณ์และความรู้สึกเหมือนปุถุชน’ มากยิ่งขึ้น
  • ทรงเป็นกษัตริย์อังกฤษพระองค์แรกที่ปรากฏตัวร่วมกับตัวละครในสื่อบันเทิง
ในช่วงปลายรัชสมัยของพระองค์ การปรับภาพลักษณ์ราชวงศ์ให้ทันสมัยและเข้าถึงได้อย่างสุดท้ายที่พระองค์ทรงทำก็คือ การปรากฎตัวร่วมกับตัวละครในสื่อบันเทิง อย่าง ‘เจมส์ บอนด์’ (James Bond) ตัวละครสายลับอังกฤษ MI6 ชื่อดังจากเรื่องพยัคฆ์ร้าย 007 ในงานเปิดตัว ลอนดอนโอลิมปิกเกสม์ เมื่อปี 2012 และตัวละคร ‘แพดดิงตัน’ (Paddington) หมีใส่โค้ทน้ำเงินหมวกแดง จากหนังสือเรื่อง ‘A Bear Called Paddington’ เมื่อครั้งฉลองครบรอบการครองราชย์ 70 ปี เมื่อต้นปี 2022 ที่ผ่านมา
ในปี 1953 ที่พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ การปรากฎตัวกับตัวละครที่เป็นของ ‘สามัญชน’ เพื่อความบันเทิงของ ‘สามัญชน’ แบบนี้คงเป็นเรื่องไม่สมควรอย่างยิ่ง และน่าจะเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์หนาหูในหมู่ประชาชนส่วนมากที่ยังคงมีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม
แต่ในเมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไปและประชาชนต้องการเห็นราชวงศ์ในมุมที่เข้าถึงได้มากขึ้น การปรากฎพระองค์กับตัวละครที่มีชื่อเสียงเป็นขวัญใจประชาชนแบบนี้ก็ทำให้ราชวงศ์ดู ‘ขี้เล่น’ และ ‘มีอารมณ์ขัน’ จับต้องได้มากขึ้น ซึ่งเป็นภาพลักษณ์หนึ่งที่จะช่วยให้ราชวงศ์ยังเป็นที่รักของประชาชนทั่วไป และยังคงรักษาสถานะความสำคัญของตัวเองในฐานะสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของอังกฤษได้อย่างยั่งยืน
ซึ่งจากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นได้ว่าสิ่งที่ทำให้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการคงบทบาทของราชวงศ์ในสังคมอังกฤษไว้ ก็คือ ‘ความยืดหยุ่น’ และ ‘ความกล้าหาญ’ ที่จะเปิดเผย ปรับเปลี่ยน และละทิ้งบางอย่างที่ไม่เข้ากับยุคสมัย
และกระทำตามพระปณิธานที่เคยตั้งไว้เมื่อครั้งยังเป็นเจ้าหญิงเอลิซาเบธ พระชนมมายุเพียง 21 พรรษาว่าจะ “อุทิศทั้งชีวิต ไม่ว่าจะแสนสั้นหรือยืนยาว เพื่อรับใช้ [ประชาชน] และ พระราชวงศ์จักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่แห่งอังกฤษ”
ติดตามข้อมูล ด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจการเงิน ของ #Spotlight เพิ่มเติมได้ที่
เว็บไซต์ https://www.amarintv.com/spotlight
ยูทูป : https://bit.ly/31rtDUM
อินสตาแกรม : https://www.instagram.com/spotlight_biz
โฆษณา