10 ก.ย. 2022 เวลา 13:47 • ไลฟ์สไตล์
วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 หรือวันบุญข้าวสาก
ตั้งแต่ผมจำความได้ก็เห็นแม่ทำข้าวสากไปวัดตลอดทุกปี แม่บอกว่าวันบุญข้าวสากคือวันที่ผีหรือผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วจะลงมารับบุญ รับอาหารหวานคาว และผลไม้ต่างๆ จากลูก จากหลาน จากญาติพี่น้อง หากมาแล้วไม่มีญาติ ไม่มีลูกหลานมาทำบุญ หรือไม่ได้นำข้าวสาก อาหารมาให้ ก็จะไม่ได้กินเหมือนผีตนอื่นๆ ดังนั้นแม่ก็เลยต้องทำทุกปี เพราะกลัวยายมารับผลบุญและอาหารแล้วไม่มีลูกหลานทำให้จะไม่ได้กิน ซึ่งบุญข้าวสากจะมีทุกปีในวันพระใหญ่ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10
1
ป้าของผมกำลังทำข้าวสาก
ส่วนใหญ่วันนั้นฝนก็มักจะตก อากาศจะชื้นๆแฉะๆ ก่อนจะถึงวันบุญข้าวสากแม่ก็จะไปตัดใบตอง ห่อข้าวต้มมัด และเตรียมใบตองที่จะมาทำห่อข้าวใหญ่ใส่ปลาย่าง พร้อมทั้งเตรียมมันเทศ เตรียมอ้อย ฟักทอง น้อยหน่า กล้วย น้ำอ้อย และปลาช่อนย่างตัวใหญ่ๆที่พ่อไปทอดแหมา แม่ก็จะย่างเก็บไว้
วันบุญข้าวสากแม่จะตื่นแต่เช้ามืดไปหายาสูบ หมากพลู และนำผัก ผลไม้ อาหารต่าง ที่ตัวเองมีไปแลกกับบ้านป้า (พี่สาวแม่)หรือเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกันจะได้มีผัก ผลไม้ อาหารหวานคาว ที่หลายหลากชนิด แล้วก็นำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆเท่าเหรียญบาท แบ่งลงในห่อใบตองที่เย็บเหมือนข้าวต้มมัด หรือกระทง จะมีที่พิเศษหน่อยคือห่อข้าวใหญ่ เป็นข้าวเหนียวปั้นใหญ่ ปลาช่อนย่างตัวโต แล้วก็ผักผลไม้ต่างๆ เหมือนกัน หลังจากถวายภัตราหารเช้าเสร็จ รับศีล รับพร กรวดน้ำ
ห่อข้าวใหญ่นำมาวางหน้าธาตุกระดูกพ่อของผม
แม่ก็จะอุุ้มผมและนำห่อข้าวใหญ่ที่แม่เตรียมมาไปวางข้างๆกำแพงวัด ชาวบ้านคนอื่นๆก็ทำเหมือนกัน ส่วนข้าวสากที่ห่อเหมือนข้าวต้มก็จะแขวนตามกิ่งไม้ ตามรั้ววัด ตามกำแพงวัด ส่วนห่อข้าวใหญ่ก็จะเปิดออก จุดธุป เทียน เรียกให้ญาติที่เสียชีวิตไปแล้วมากิน หรือคนที่เราอยากให้มารับอาหารหวานคาวที่เตรียม ได้มากินให้อิ่มกัน
ข้าวสากที่ห่อเรียบร้อย
พระก็จะสวดทำพิธีจนเสร็จ แล้วมีสัญญาณตีกลอง หรือระฆังเพื่อเป็นสัญญาณให้ชาวบ้านแย่งข้าวสาก ไปใส่นา ใส่ไร่ แม่บอกว่าไร่นาจะได้อุดมสมบูรณ์ ปลูกผัก ปลูกข้าวจะได้งามๆ นี่คือความทรงจำในอดีตที่ผมพอจะจำได้ครับ สำหรับประเพณี บุญข้าวสาก
โฆษณา