13 ก.ย. 2022 เวลา 01:45 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ยืนขาเดียวได้ไม่ถึง 10 วินาที
สัญญาณความเสี่ยงสุขภาพ
(เรียบเรียงโดย สัมโมทิก สวิชญาน)
ไม่กี่สัปดาห์ก่อน มีงานวิจัยในวารสาร British Journal of Sports Medicine ที่สรุปผลออกมาได้ว่า การที่ผู้ใหญ่วัยกลางคนขึ้นไปไม่สามารถยืนขาเดียวได้เป็นเวลานานอย่างน้อย 10 วินาที มี “สหสัมพันธ์” กับการที่เขาเหล่านั้นจะมีโอกาสตายมากขึ้นในช่วง 10 ปีข้างหน้าถึงเกือบสองเท่า
ฟังแล้วอาจจะสงสัยว่า แล้วการยืนขาเดียวได้นั้นเกี่ยวอะไรกับการตายเร็วตายช้า
การทำนายทางการแพทย์นั้น (prognosis) จะว่าไปก็เป็นเหมือนศิลปะอย่างหนึ่งที่ต้องใช้วิจารณญาณในการพิจารณาปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบกัน เช่น ค่าต่างๆ ของร่างกายที่วัดได้จากภายนอก พวกน้ำหนัก ส่วนสูง ความดันเลือด ฯลฯ ค่าต่างๆ ที่ต้องสอดใส่อุปกรณ์เข้าไปวัด, อาการของโรคต่างๆ ที่เป็นอยู่ และปัจจัยเสี่ยงต่างต่างนานา เช่น พฤติกรรมการใช้ชีวิต สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย ฯลฯ
แน่นอนว่าปัจจัยบางอย่างก็ชัดเจนว่าเป็นเหตุเป็นผลกัน เช่น ถ้ามีพฤติกรรมสูบบุหรี่จัด ก็ทำนายได้เลยว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากขึ้น เพราะควันบุหรี่มีผลทำลายเซลล์ปอดได้โดยตรง ส่วนปัจจัยอีกจำพวกหนึ่งก็คือพวกที่เกี่ยวแบบอ้อมๆ หรือเกี่ยวเนื่องร่วมกับปัจจัยอื่น
ที่มา : Reserchgate
เวลานักวิจัยจะศึกษาว่าปัจจัยใดเป็นตัวพยากรณ์โรค นักวิจัยก็จะไปดูข้อมูลที่ผ่านๆ มาว่า กลุ่มประชากรที่เป็นโรคหรืออาการนั้นๆ มักพบปัจจัยที่กำลังศึกษาหรือไม่ เมื่อเทียบกับกลุ่มประชากรที่ไม่เป็น
ถ้าพบ นักวิจัยก็จะพูดว่า ปัจจัยนั้นมี “สหสัมพันธ์” กับโรคหรืออาการนั้นๆ โดยนี่ไม่ได้หมายความว่าปัจจัยนั้น “ทำให้” เกิดโรคหรืออาการที่พยากรณ์ เพียงแค่มีสถิติจากคนจำนวนมากชี้นำว่าเหมือนจะเกี่ยวอย่างไรสักอย่าง ซึ่งจะทางตรงหรือทางอ้อมอย่างไรนั้น ต้องไปศึกษาวิจัยกลไกกันต่อไป
ในงานวิจัยฉบับนี้ คณะนักวิจัยจากประเทศบราซิล ฟินแลนด์ ออสเตรเลีย อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ได้อาศัยข้อมูลการศึกษากลุ่มประชากรกว่า 1,700 คนระหว่างปี 2009 ถึง 2020 ซึ่งมีการตรวจ “ความฟิต” ของร่างกายวัย 51–75 ปี ด้วยวิธีทดสอบแบบต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ ให้ทดลองยืนขาเดียวเป็นเวลา 10 วินาที โดยให้ยืนตัวตรง มองไปข้างหน้า เอามือแนบลำตัว และเอาหลังเท้าข้างที่ยกขึ้นแปะน่องอีกข้างเอาไว้
1
หลังจากตรวจความฟิตแล้วก็มีการติดตามในภายหลังด้วยว่าผู้เข้าร่วมการศึกษามีสุขภาพร่างกายเป็นอย่างไรแล้วบ้าง โดยส่วนใหญ่จะติดตามหลังจากผ่านไปแล้วประมาณ 7 ปี แต่เนื่องจากผู้เข้าร่วมทั้งหมดอายุเยอะกันหมดแล้ว ฉะนั้น บางส่วนก็เสียชีวิตไปแล้ว
ที่มา : Reserchgate
เมื่อคณะวิจัยมาวิเคราะห์ข้อมูล ก็พบผลอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ กลุ่มคนที่ยืนขาเดียวไม่ได้ เสียชีวิตมากกว่ากลุ่มคนที่ยืนขาเดียวได้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และประเมินเป็นตัวเลขออกมาได้ว่า คนกลุ่มอายุนี้ที่ยืนขาเดียวไม่ได้ มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากสาเหตุใดๆ ก็ตามในช่วง 10 ปีข้างหน้า เพิ่มมากขึ้นอีก 84% หรือเกือบสองเท่า
ดังนั้น เป็นไปได้ว่า การยืนขาเดียว เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่หมอควรคำนึงถึงเวลาทำ prognosis และเป็นแบบทดสอบที่หมอให้ผู้ป่วยทำได้ง่ายๆ เมื่อมาตรวจสุขภาพ เช่น สมมุติว่าผู้ป่วยมีไขมันสะสมมากเกินไป แล้วหมอพบว่ายืนขาเดียวไม่ได้ด้วย หมอก็อาจจะยิ่งประเมินว่า ความเสี่ยงสูงไปแล้วนะ ก็จะแนะนำให้ต้องใส่ใจดูแลสุขภาพให้เป็นพิเศษกว่าเดิม และใช้ความระมัดระวังมากขึ้นกว่าเดิมในการดำรงชีวิต เป็นต้น
การยืนขาเดียวนั้น เกี่ยวข้องโดยตรงกับความสามารถในการรักษาสมดุลในการทรงตัวของร่างกาย ซึ่งแน่นอนว่าความสามารถนี้ก็จะค่อยๆ ลดน้อยลงไปเมื่อเราแก่ตัวลง อาจจะเพราะกล้ามเนื้ออ่อนแรงลง หรือเพราะอ้วนขึ้นมาก หรือเพราะไม่ค่อยได้เดินเหิน หรือเพราะว่าเจ็บข้อ ฯลฯ
1
ฉะนั้นคำถามต่อไปที่น่าสนใจคือ ถ้าผู้ป่วยที่ยืนขาเดียวไม่ได้ ไปทำกายภาพ หรือไปฟื้นฟูความสามารถในการทรงตัวจนกลับมายืนขาเดียวได้ จะลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตลงได้หรือเปล่า หรือจริงๆ แล้วการยืนขาเดียวไม่ได้เป็นสัญญาณว่าอะไรบางอย่างในร่างกายเสียหายไปจนเกินกว่าที่จะรักษาได้แล้ว ทั้งนี้ นักวิจัยก็จะต้องศึกษาวิจัยกันต่อไปในอนาคต
อ้างอิง
บทความวิชาการ: doi.org/10.1136/bjsports-2021-105360
โฆษณา