13 ก.ย. 2022 เวลา 10:25 • หุ้น & เศรษฐกิจ
หาหุ้น "คุณภาพ" ลงทุน ไม่ยาก !!!
ด้วย 6 อัตราส่วนทางการเงิน
ตราส่วนทางการเงิน ดูจะเป็นเรื่องน่าปวดหัวสำหรับนักลงทุน โดยเฉพาะมือใหม่ ๆ ที่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร อีกทั้งอาจจะมีความเข้าใจผิดคิดว่า ไม่ได้จบ ไม่ได้เรียนมาทางด้านการเงินหรือบัญชี คงยากที่จะทำความเข้าใจ
.
แต่ขอบอกไว้เลยว่า จากประสบการณ์ส่วนตัว แอดก็ไม่ได้จบมาทางด้านการเงิน แต่ด้วยความที่สนใจลงทุน จึงลองศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเอง และก็พบว่า มันไม่ได้ยากอย่างที่คิด และทำไปทำมากลับทำให้เรารู้สึกสนุกกับการวิเคราะห์งบ
.
การวิเคราะห์งบการเงิน เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับนักลงทุน โดยเฉพาะที่เน้นในเรื่องของปัจจัยพื้นฐานเพราะการวิเคราะห์งบมันเหมือนเป็นภาษาทางธุรกิจ ที่จะช่วยสะท้อนภาพบริษัท ทั้งในเรื่องกลยุทธ์ธุรกิจ ความเป็นมาของบริษัท และที่สำคัญยังบอกถึงคุณภาพของบริษัทที่เราจะลงทุนได้เป็นอย่างดี
.
แล้วเราจะเริ่มวิเคราะห์งบการเงินกันอย่างไรดี ?
.
สำหรับนักลงทุนมือใหม่ หรือผู้ที่สนใจเริ่มต้นลงทุนในการหาหุ้นคุณภาพ ขอแนะนำอัตราส่วนทางการเงินทั้ง 6 ที่แยกออกมาเป็น 3 กลุ่มสำคัญ คือ
.
กลุ่มที่ 1 ความสามารถในการทำกำไร
กลุ่มที่ 2 ความสามารถในการบริหารสินทรัพย์
กลุ่มที่ 3 โครงสร้างเงินทุน
.
โดยอัตราส่วนทั้ง 6 ที่จะกล่าวมานี้ เราสามารถหาได้ง่าย ๆ ผ่านงบการเงินของบริษัทที่ประกาศ ทั้งงบกำไรขาดทุน และงบดุล ซึ่งความสัมพันธ์ของ 6 อัตราส่วนที่เกิดจากทั้งสองงบนี้ จะสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพบริษัทได้เป็นอย่างดี
.
6 อัตราส่วนทางการเงิน
🎯 กลุ่มที่ 1 ความสามารถในการทำกำไร
.
จะประกอบไปด้วย 4 อัตราส่วนทางเงิน คือ
.
1⃣ อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin : GPM)
เป็นอัตราส่วนที่คำนวนได้จากงบกำไรขาดทุน โดยสูตรคือ [กำไรขั้นต้น / รายได้]
อัตราส่วนนี้จะบอกถึงกลยุทธ์ที่บริษัทเลือกใช้ หรือที่เรียกว่า Competitive Advantage (ต้นทุนต่ำ, ความแตกต่าง, เฉพาะกลุ่ม) และยังบ่งบอกถึงอำนาจต่อรองของบริษัทที่มีต่อลูกค้าได้
ซึ่งอัตรากำไรขั้นต้นเวลาเราพิจารณา ควรจะดูย้อนหลังอย่างน้อย 5 ปี และที่สำคัญต้องมีทรงว่าจะเพิ่มขึ้นด้วยจะดีมาก
สิ่งที่ขอฝากไว้สำหรับการดูอัตราส่วนนี้ก็คือ ที่มาของสูตร ทั้งตัวรายได้และกำไรขั้นต้น ควรคำนวนมาจากรายได้ที่เกิดจากการประกอบธุรกิจหลักเท่านั้น เพื่อสะท้อนภาพกำไรขั้นต้นจากดำเนินธุรกิจที่แท้จริง (ไม่ควรใช้รายได้รวมที่อยู่ในหน้างบมาคำนวน)
.
2⃣ อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin : NPM)
เป็นอัตราส่วนที่คำนวนได้จากงบกำไรขาดทุน โดยสูตรคือ [กำไรสุทธิ / รายได้รวม]
อัตราส่วนนี้จะบอกถึงความสามารถในการจัดการและการบริหายภายในของบริษัท ทั้งในเรื่องค่าใช้จ่ายทางธุรกิจ (การขาย การตลาด และคน) รวมทั้ง ภาระรายจ่ายจากดอกเบี้ย (จากเงินกู้ยืม)
ซึ่งอัตรากำไรสุทธิ ควรจะดูย้อนหลังอย่างน้อย 5 ปี และที่สำคัญต้องมีทรงว่าจะเพิ่มขึ้นด้วยจะดีมาก เพราะจะยิ่งสะท้อนถึงบริษัทมีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง (เป็นผู้นำในตลาด)
สิ่งที่ขอฝากไว้สำหรับการดูอัตราส่วนนี้ ก็คือ ถ้าอัตราส่วนนี้ มีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงผิดปกติ ให้ตั้งข้อสังเกตุไว้ว่าอาจเกิดจากรายการพิเศษเพียงชั่วคราว เช่น รายได้หรือรายจ่ายพิเศษที่เกิดขึ้นครั้งเดียวในรอบบัญชีนั้น ๆ
.
[📌 สำหรับ 2 อัตราส่วนดังกล่าวในข้างต้น ที่มีที่มาจาก งบกำไรขาดทุน เพียงงบประเภทเดียว ซึ่งถ้าใครสนใจฟังการวิเคราะห์งบกำไรขาดทุนแบบละเอียด สามารถตามไปฟังได้ใน
มือใหม่หัดวิเคราะห์งบ จาก 4 ค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุน > https://youtu.be/zCiVQ_2Pdw0 ]
.
3⃣ อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return on Assets : ROA)
เป็นอัตราส่วนที่คำนวนได้จากงบกำไรขาดทุนและงบดุล โดยสูตรคือ [กำไรสุทธิ/สินทรัพย์]
อัตราส่วนนี้จะบอกถึงความสามารถของบริษัท ที่จะนำสินทรัพย์ที่มีไปใช้ประโยชน์ในดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ หากมีสินทรัพย์ 100 บาท สามารถนำไปสร้างกำไรได้กี่บาท
ซึ่ง ROA ควรจะดูย้อนหลังอย่างน้อย 5 ปี และควรมีค่าที่สูงเข้าไว้ เพราะนอกจากจะบอกถึงความสามารถของบริษัท ในการทำกำไรจากสินทรัพย์ที่มีได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังจะแสดงให้เห็นว่า บริษัทไม่จำเป็นต้องลงทุนมาก สินทรัพย์น้อยก็สามารถทำกำไรได้
แต่มีสิ่งที่ต้องระวังหากบริษัทมี ROA สูงเกินไป อาจนำมาซึ่งคู่แข่งหน้าใหม่ที่มีศักยภาพที่แข็งแกร่งกว่าเพราะการที่ ROA สูงหมายถึง การง่ายในการมาทำธุรกิจนี้ (ลงทุนสินทรัพย์ไม่เท่าไหร่ ได้ผลตอบแทนสูง)
.
4⃣ อัตราผลตอบแทนส่วนผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE)
เป็นอัตราส่วนที่คำนวนได้จากงบกำไรขาดทุนและงบดุล โดยสูตรคือ [กำไรสุทธิ/ส่วนของผู้ถือหุ้น]
อัตราส่วนนี้จะบอกถึงความสามารถของบริษัท ในการวัดประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ ที่ตอบแทนกลับคืนมาให้กับส่วนของผู้ถือหุ้น หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ หากเราลงทุนไป 100 บาท สามารถนำไปสร้างกำไรได้กี่บาท
ซึ่ง ROE ควรจะดูย้อนหลังอย่างน้อย 5 ปี และควรมีค่าที่สูงกว่า 15% เพราะนั่นจะเป็นบริษัทที่ทำให้เรารวยได้ในระยะยาว และควรหลีกเลี่ยงบริษัทที่มี ROE ผันผวน
.
แต่มีสิ่งที่ต้องระวังในการพิจารณาอัตราส่วน ROE นั่นคือเรื่อง โครงสร้างการเงิน ที่มีหนี้สินมากๆ เพราะการมีหนี้สินถือว่าเป็นการ Leverage ธุรกิจที่ทำให้ ROE ยังสูงได้ แม้กำไรธุรกิจจะลดลง (สามารถดูการวิเคราะห์ ROE อย่างละเอียดได้ที่ > https://youtu.be/_HbX2Yinego)
.
.
☕☕ เหนื่อยกันหรือยังครับ ถ้าใครงง พักไว้ก่อน ปักหมุดหรือแชร์ไว้ แล้วค่อยมาอ่านทำความเข้าใจ แต่ถ้าใครยังไหวมาต่ออีก 2 กลุ่มที่เหลือในอีก 2 อัตราส่วนเท่านั้น
.
.
🎯 กลุ่มที่ 2 ความสามารถในการบริหารสินทรัพย์
.
5⃣ อัตราส่วนหมุนเวียนทรัพย์สิน (Assets Turnover : ATO)
.
เป็นอัตราส่วนที่คำนวนได้จากงบกำไรขาดทุนและงบดุล โดยสูตรคือ [รายได้ / สินทรัพย์]
อัตราส่วนนี้ จะบ่งบอกถึงบริษัทสามารถใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่ทั้งหมด สร้างยอดขายได้กี่เท่า แสดงถึงความสามารถในการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ เช่น หากบริษัทมีสินทรัพย์ 100 บาท สามารถนำไปสร้างรายได้ ได้กี่บาท ?
ซึ่ง ATO ควรจะดูย้อนหลังอย่างน้อย 5 ปี เช่นเดียวกัน เพราะจะเป็นสิ่งที่แสดงว่า บริษัทมีพัฒนาการที่ดีขึ้นหรือไม่ เพราะการที่บริษัทจะมีรายได้เพิ่มขึ้นได้นั้น ขึ้นกับการลงทุนในสินทรัพย์เพิ่ม (เช่น ขยายกำลังการผลิต, เปิดสาขา เปิดร้านเพิ่ม เป็นต้น) และเกิดการบริหารจัดการสินทรัพย์ที่มีอยู่ ให้สร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น ซึ่งค่าที่คำนวนได้ ถ้ามากกว่าหนึ่งเท่าจะดีมาก
สิ่งที่ต้องระวังคือ การเปรียบเทียบข้ามอุตสาหกรรม หรือประเภทธุรกิจ เพราะแต่ละอุตสาหกรรมจะมีลักษณะการถือครองสินทรัพย์ที่แตกต่างกัน (บางบริษัทอาจจะซื้อขาด แต่บางบริษัทก็เป็นเช่า)
และสิ่งที่ต้องพิจาราณาเพิ่มเติมในช่วงภาวะวิกฤต บางบริษัทอาจจะมีการนำสินทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น เครื่องจักร นำไปขายให้กับสถาบันการเงินและเช่ากลับ (Sale and Lease Back) เพื่อบริหารสภาพคล่อง เอาเงินสดเข้าธุรกิจ ซึ่งจะทำให้สินทรัพย์ลดลง และส่งผลให้ ATO สูงขึ้นได้
.
🎯 กลุ่มที่ 3 โครงสร้างเงินทุน
.
6⃣ อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity :DE)
เป็นอัตราส่วนที่คำนวนได้จากงบดุล โดยสูตร คือ [หนี้สิน / ส่วนของผู้ถือหุ้น]
อัตราส่วนนี้จะสะท้อนถึง แหล่งที่มาของเงินทุนของบริษัทว่า สินทรัพย์ที่บริษัทลงทุน เพื่อใช้ในการสร้างรายได้ มีแหล่งที่มามากจากหนี้สินหรือทุน (ส่วนของผู้ถือหุ้น) มากกว่ากัน
ซึ่งโดยปกติควรเลือกบริษัทที่มีหนี้สินต่ำไว้ก่อน (น้อยกว่า 1 ยิ่งดี) เพราะหมายถึง ความมั่นคงระยะยาวที่จะสามารถผ่านช่วงเศรษฐกิจตกต่ำได้ และหลีกเลี่ยงบริษัทที่โตด้วยการสร้างหนี้ เพราะการที่ DE มากกว่า 1 เท่า แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีการกู้ยืมเงิน มากกว่าใช้เงินทุนจากส่วนของเจ้าของ ซึ่งนั่นจะก่อให้เกิดความเสี่ยง
และถ้ายิ่งมีค่าสูง ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับบริษัท ในกรณีที่ต้องใช้เงินทุนฉุกเฉิน หรือแม้กระทั่งจะใช้เงินทุนในการขยายธุรกิจ เพราะสถาบันการเงินจะใช้ DE ในการพิจารณาอนุมัติเงินทุน
แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการใช้อัตราส่วน DE คือ หนี้สินที่มาใช้ในการคำนวน อาจจะใช้เฉพาะประเภทหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่าย แทนที่จะใช้หนี้สินทั้งหมด เพราะรายการหนี้สินบางอุตสาหกรรมจะรวมถึงเจ้าหนี้การค้า และรายได้รับล่วงหน้า ซึ่งถือเป็นหนี้สินจากการดำเนินงาน ซึ่งไม่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายแต่อย่างใด
.
🕵‍♂ การเปรียบเทียบ
ในส่วนการเปรียบเทียบอัตราส่วนทางการเงินทั้ง 6 นั้น ต้อง
1. เปรียบเทียบงบย้อนหลัง 3-5 ปี
2. เปรียบเทียบกับบริษัทที่อยู่ในธุรกิจหรือเซกเมนต์เดียวกัน
3. แต่ละธุรกิจจะมีอัตราส่วนทางการเงินแตกต่างกัน ฉะนั้น ธุรกิจ A ที่มี GPM สูง ๆ ไม่ได้แปลดีกว่า ธุรกิจ B ที่มี GPM ต่ำ (แต่ในกรณีของ ROE สามารถดูวิเคราะห์เพื่อเปรียบเทียบในแง่ของการลงทุนได้)
.
📣 ขอย้ำอีกครั้งว่า การลงทุนแม้จะเป็นเรื่องไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากที่จะเริ่มต้นลงทุน ลองเอาหุ้นที่คนสนใจ มาแกะคุณภาพของธุรกิจด้วย 6 อัตราส่วนทางการเงินเหล่านี้ดู ไม่แน่คุณอาจจะพบความสนุกในการลงทุนเพิ่มก็ได้นะครับ
.
❗หมายเหตุ
1. งบกำไรขาดทุน ในความเป็นจริงจะมีรายการย่อยอื่น ๆ อีก เช่น รายได้อื่น ๆ กำไรอื่น ๆ ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจหลักโดยตรง ซึ่งอาจส่งผลให้อัตรากำไรเปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้น นักลงทุนจำเป็นที่จะต้องลงไปตรวจสอบลงลึกในรายละเอียดด้วย
2. การใช้สูตรคำนวนอัตราส่วนทางการเงิน ที่นำตัวเลขมาจากงบดุล โดยปกติจะต้องใช้เป็นค่าเฉลี่ย เช่น สินทรัพย์เฉลี่ย (ปี 2564 – ปี 2563) เป็นต้น
3. อัตราส่วนทางการเงินทั้ง 6 ส่วนใหญ่ในเว็ปข้อมูลหุ้นทั่วไป มักจะคำนวนมาให้อยู่แล้ว เราเแค่เพียงแต่เข้าใจที่มาที่ไปของแต่ละอัตราส่วน
4. การวิเคราะห์งบและการอธิบายในโพสนี้ เกิดจากการศึกษาและประสบการณ์ส่วนตัวจากการวิเคราะห์หุ้นที่แอดได้ใช้ในการลงทุน จึงอาจจะไม่ตรงตามทฤษฎีเป๊ะ (แต่รับรองว่าใช้งานได้จริง)
.
#วิเคราะห์หุ้น #งบการเงิน #อัตราส่วนการเงิน #การลงทุน #iYomBizInspiration
สนใจข้อมูลธุรกิจ การเงิน การลงทุน เล่าให้ฟังเข้าใจง่ายๆ พร้อมทั้งแรงบันดาลใจดีๆ ในการสร้างฝัน ติดตาม iYom Biz+Inspiration ได้ที่
โฆษณา