16 ก.ย. 2022 เวลา 06:52 • ข่าว
#ไกด์การเงิน ขึ้นค่าแรงรอบใหม่ ก็ยังไม่พอกับรายจ่าย?
เป็นเวลากว่า 2 ปี ที่ค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้มีการพิจารณาปรับขึ้น จากประกาศค่าแรงขั้นต่ำฉบับที่ 10 ที่มีผลในวันที่ 1 มกราคม 2563 จากผลกระทบทางเศรษฐกิจในช่วงนั้นที่มีโรคระบาดเข้ามาช่วงปลายปี 2563 แล้วฟื้นตัวตามลำดับทั้งในแง่ในการควบคุมโรคและเศรษฐกิจ
แต่เมื่อสัญญาณโลกกำลังฟื้นตัว สถานการณ์เศรษฐกิจก็มีสัญญาณถดถอยจากฝั่งสหรัฐอเมริกาที่อาจจะส่งผลกระทบต่อไทย ในแง่ของการท่องเที่ยวที่ยังฟื้นตัวยังไม่เต็มที่ รวมไปถึงต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากสงครามรัสเซียยูเครนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่มีผลต่อเนื่องไปถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาหารสด อาหารสำเร็จรูป และก๊าซหุงต้ม
จึงทำให้เป็นที่มาของ การประกาศค่าแรงขั้นต่ำ ที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ตั้งแต่ 8-22 บาท แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ โดยจะบังคับใช้จริงในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป เพื่อรักษาอำนาจซื้อของแรงงานทั่วไปที่เริ่มเข้าทำงานใหม่ให้สามารถอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ โดยคำนึงถึงค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ Gross Domestic Product (GDP)
รวมไปถึงสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลทำให้ค่าแรงขั้นต่ำที่มีการประกาศล่าสุด อยู่ในช่วง 328 - 354 บาทต่อวัน จาก 320 - 336 บาทต่อวัน ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ที่แรงงานอาศัยอยู่
แต่คำถามที่ตามมาคือ หลังจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น รายได้จะเพียงพอต่อรายจ่ายหลังจากนี้ หรือไม่? เรื่องนี้ค่อนข้างเป็นประเด็นปัจเจกบุคคล เพราะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้จ่ายของแต่ละคนที่แตกต่างกัน
ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ได้มีการเปิดเผยเรื่องของเงินเฟ้อเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2565 สูงขึ้น 7.1%
มิถุนายน สูงขึ้น 7.66%
กรกฎาคม 2565 สูงขึ้น 7.61% และล่าสุดตัวเลขเงินเฟ้อสิงหาคม 2565 สูงขึ้น 7.86%
ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงติดต่อกันเป็นระยะเวลาที่นาน จากสงครามรัสเซียยูเครน ที่มีผลต่อเนื่องไปถึงราคาสินค้าที่สูงขึ้น ประกอบกับสถิติข้อมูลรายจ่ายครัวเรือนเดือน สิงหาคม 2565 พบว่า มีค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนรวมที่ 18,069 บาท แบ่งเป็น
🔹ค่าโดยสาร ค่ายานพาหนะ ค่าน้ำมัน ค่ามือถือ รวม 4,276 บาท
🔹ค่าเช่าบ้านและวัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าชหุงต้ม ค่าใช้จ่ายในบ้าน รวม 3,967 บาท
🔹ค่าเนื้อสัตว์ 1,769 บาท
🔹ค่าอาหารเดลิเวอรี่ 1,610 บาท
🔹ค่าอาหารกินนอกบ้าน อาหารตามสั่ง รวม 1,236 บาท
🔹ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริหารส่วนบุคคล รวม 973 บาท
🔹ผักและผลไม้ 993 บาท
🔹ค่าหนังสือ ค่าสันทนาการ ค่าเล่าเรียน ค่าการกุศลต่างๆ รวม 759 บาท
🔹ค่าข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งรวม 667 บาท
🔹ค่าเครื่องปรุงอาหาร 436 บาท
🔹ค่าเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 388 บาท
🔹ค่าเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 375 บาท
🔹ค่าไข่และผลิตภัณฑ์นม 381 บาท
🔹ค่าบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ 240 บาท
จึงเป็นคำถามที่แต่ละคนจะมีคำตอบที่ไม่เหมือนกันว่า เงินที่ได้จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะพอหรือไม่พอ ในยุคที่สินค้าอุปโภคบริโภคมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อไป ไม่ว่าจะเกิดจากปัจจัยใดก็ตาม
แล้วเงินที่คุณได้ เพียงพอต่อรายจ่ายหรือไม่?
ไกด์การเงิน อยากให้รู้เรื่องการเงิน เพื่อนำไปใช้ตามเป้าหมายของชีวิตที่อยากจะเป็น
ไกด์การเงิน โดย ไกด์ รัฐรุจน์ สกุลวัชรอนันต์ และ กราฟฟิกน่ารักๆ จาก น้องจิมมี่ ทินวุฒิ ลิวานัค
╔═══════════╗
ไม่พลาดบทความสาระดีๆ ที่ Reporter Journey ตั้งใจสร้างสรรเพื่อผู้ติดตามทุกท่าน อย่าลืมกดติดตามเพจ ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
╚═══════════╝
.
ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
Line : @reporterjourney
โฆษณา