20 ก.ย. 2022 เวลา 00:29 • หุ้น & เศรษฐกิจ
สรุป!! ยื่นภาษีเงินหันผลหุ้นและกองทุนรวม
มาอ่านกันว่าในการยื่นภาษีเงินปันผลหุ้นและกองทุนรวม มีการแนวคิดในการยื่นหรือไม่ยื่นอย่างไร มาอ่านกัน....
1. เงินปันผลหุ้นและกองทุนรวมเป็น 40(4)(ข) ถือเป็นรายได้ลักษณะเดียวกัน แต่เงินปันผลกองทุนรวมไม่สามารถคิดเครดิตภาษีเงินปันผลได้ ในการยื่นถ้ายื่นเงินปันผลต้องยื่นทั้งเงินปันผลหุ้นและกองทุนรวมด้วยนะ ซึ่งในแบบยื่นภาษีออนไลน์ จะเป็นเงินได้ที่อยู่ในช่องเดียวกัน ในหัวข้อ “รายได้จากการลงทุน” หัวข้อย่อย “เงินปันผลส่วนแบ่งกำไรจากหุ้น/กองทุน (มาตรา 40(4) (ข))”
2. เงินปันผลหุ้นที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% และมีการหักภาษีในขั้นกำไรของภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนั้นเงินปันผลจากหุ้นจึงสามารถนำมาคิดเครดิตภาษีเงินปันผลได้ ซึ่งในการยื่นแนะนำให้โหลดเอกสารจาก TSD investor portal เพื่อความสะดวก และถ้าพี่สรรพากรต้องการเอกสารเพิ่มเติมแต่เราไม่ได้เก็บไว้ เราสามารถเข้าไปโหลดเอกสารจาก TSD investor portal ซึ่งให้พี่สรรพากรได้ด้วย
ข้อสังเกตเพิ่มเติม จะโหลดเอกสารจาก TSD ได้ ต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นนะ
ต้องการอ่านเพิ่มเติม “Update วิธีการยื่นเครดิตภาษีเงินปันผล (หุ้น)” อ่านเพิ่มเติมขั้นตอนแต่ละขั้นในการยื่นภาษีเงินปันผลจากหุ้นได้จากลิงค์นี้นะคะ
3. เงินปันผลของกองทุนรวม จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ซึ่งเราสามารถเลือกนำมายื่นรวมเป็นรายได้เพื่อยื่นภาษี ถ้าจะนำมารายได้เงินปันผลมารวมยื่นต้องนำทุกกองที่ได้ปันผลมาคิดนะ หรือเราจะเลือกไม่นำมายื่นภาษีก็ได้ (final tax) แล้วแต่เรา
มีข้อแนะนำแบบนี้ ถ้ามีเงินปันผลเฉพาะกองทุนรวม ไม่มีเงินปันผลหุ้น ให้ลองดูฐานอัตราภาษีที่เราเสีย ถ้าเสียตั้งแต่ฐานอัตราภาษี 10% ขึ้นไป แนะนำไม่ต้องนำเงินปันผลของกองทุนรวมมายื่น เพราะอาจทำให้เสียภาษีมากขึ้น
ถ้าต้องการนำมารวมยื่นก็เข้าไปในหัวข้อ “รายได้จากการลงทุน” หัวข้อย่อย “เงินปันผลส่วนแบ่งกำไรจากหุ้น/กองทุน (มาตรา 40(4) (ข))” และเลือก เงินปันผลกองทุนรวม
ถ้าเป็นกอง REIT ETF จะสามารถกดโหลดจากที่ TSD ได้ หรือให้คีย์ชื่อกองทุนใส่ในตรง “ชื่อบริษัท” แต่ถ้าเป็นกองทุนรวมอื่นๆ ให้คีย์เลขที่ผู้เสียภาษีของกองทุนรวมที่จ่ายเงินปันผลให้เรา ซึ่งในในรับรองหักภาษี ณ ที่จ่ายเงินปันผลของกองทุนรวม จะมีเลขที่ผู้เสียภาษี ยอดเงินปันผล เขียนไว้ เราก็เอาตรงนั้นมากรอกและบันทึกไปทีละกองทุนที่ได้รับเงินปันผลมา
สนใจอ่านวิธีการยื่นแบบละเอียดทีละขั้น เข้าไปอ่านได้จาก “How to…ยื่นภาษีเงินปันผลกองทุนรวม” จากลิงค์นี้นะคะ
4. ส่วนถ้าเราต้องการนำรายได้จากเงินปันผลจากหุ้นหรือกองทุนรวมมารวมเพื่อเป็นฐานในการคำนวณการซื้อ SSF, RMF แต่ไม่อยากให้มีผลกับภาษีที่เรายื่น เราสามารถเลือกหัวข้อในส่วนของ“รายได้จากการลงทุน” >> “เงินได้พึงประเมินที่ได้ใช้สิทธิเลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่น” ได้
เช่น ถ้ามีเงินได้เงินเดือน 600,000 บ.ต่อปี และมีเงินปันผลจากกองทุนรวมอีก 40,000 บ. ต่อปี ต้องการนำยอดเงินปันผลมารวมคิดเพื่อคำนวณซื้อ SSF ซึ่งถ้าไม่นำมารวมจะซื้อ SSF ได้สูงสุด 180,000 บ. (30% ของเงินได้) แต่ถ้านำเงินปันผลกองทุนมารวม จะซื้อได้สูงสุด 192,000 บ.
ถ้าไม่แน่ใจว่าจะนำเงินปันผลเหล่านี้มารวมยื่นหรือไม่นำมารวมยื่นดี ก็ให้ลองคิดทั้งนำมารวมยื่น และไม่นำมารวมยื่น ใบแบบยื่นภาษีออนไลน์เลย ถ้าแบบไหนเสียภาษีน้อยกว่า หรือได้ภาษีคืนมากกว่า ก็เลือกแบบนั้นยื่นไป
#ภาษี #ภาษีเงินปันผล #ยื่นภาษี #คิดภาษี #เงินปันผลกองทุนรวม #เงินปันผล #เงินปันผลหุ้น #เงินปันผลกองทุน #กองทุนรวม #หุ้น #คำนวณภาษี #หมอยุ่งอยากมีเวลา
โฆษณา