21 ก.ย. 2022 เวลา 11:00 • ไอที & แก็ดเจ็ต
เมื่อปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ได้เข้ามามีบทบาทในทุกอุตสาหกรรม ที่ไม่เว้นแม้แต่ตลาดงานศิลปะ!
ตลาดศิลปะ เช่น ภาพวาด ประติมากรรม สถาปัตยกรรม เพลง การตัดต่อวิดีโอ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ อาจจะเป็นผลงานจาก AI ก็ได้ โดยอ้างอิงแนวทางศิลปะมาจากผลงานของศิลปินที่มีอยู่แล้วในฐานข้อมูล หรือที่เรียกว่าการถ่ายทอดสไตล์ (style transfer) เป็นการทำซ้ำ ออกแบบใหม่ และนำเสนอความเป็นไปได้หลากหลายรูปแบบ โดยที่ศิลปินสไตล์นี้ ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านการเขียนโค้ด
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในงานศิลปะคือการส่งภาพวาด Portrait of Edmond de Belamy ซึ่งเป็นภาพวาดบุคคลสไตล์ยุโรปที่คล้ายคลึงกับฝีแปรงของปาโบล ปิกาโซ (Pablo Picasso) ในศตวรรษที่ 19 เข้าร่วมงานประมูลในเดือนตุลาคมปี ค.ศ. 2018 ตัวชิ้นงานถูกสร้างสรรค์โดยอ้างอิงมาจากฐานข้อมูลภาพวาดถึง 15,000 ภาพ โดยภาพวาด AI ดังกล่าวสามารถปิดประมูลไปในราคาถึง 432,500 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่าราคาที่คาดการณ์ไว้ถึง 40 - 60%
นับเป็นครั้งแรกที่ทำให้สังคมในวงกว้างตระหนักว่าปัญญาประดิษฐ์สามารถสร้างงานศิลปะได้เทียบเท่าหรืออาจจะเก่งกว่ามนุษย์ และทำให้อุตสาหกรรมศิลปะต้องตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลงนี้
Bernard Marr นักวิเคราะห์เทรนด์และที่ปรึกษากลยุทธ์เคยคาดการณ์อนาคตของการใช้ AI ในวงการศิลปะว่า การเข้ามาของเทคโนโลยีสมัยใหม่จะมาออกแบบชิ้นงานร่วมกับมนุษย์ (Machine co-creativity) ซึ่งอาจมองได้ออกเป็น 3 แบบ
1
แบบแรกคือปัญญาประดิษฐ์ถูกนำมาใช้เพื่อยกระดับความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ในการสร้างสรรค์ผลงงานร่วมกัน (co-creativity) เช่น ตัวอย่างก่อนฉาย (trailer) ของภาพยนต์สยองขวัญเรื่อง Morgan ในปี ค.ศ. 2016 ถูกสร้างโดย AI ของบริษัท IBM จากการวิเคราะห์และอ้างอิงภาพ เสียง และการจัดวางองค์ประกอบของเทรลเลอร์ภาพยนต์สยองขวัญเรื่องอื่น ๆ กว่าร้อยเรื่องก่อนจะเลือกเฉพาะฉากที่น่าสนใจในเนื้อเรื่องของตนมาตัดต่อและนำเสนอเป็นตัวอย่างหนัง วิธีนี้ช่วยลดเวลาการผลิตจากระยะเวลาหลายสัปดาห์เหลือเพียงแค่วันเดียว เป็นต้น
แบบที่สองคือ AI จะเข้ามาช่วยเอาชนะขีดจำกัดความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ กรณีที่นักออกแบบท่าเต้นอย่าง Wayne McGregor ร่วมกับ Google Arts & Culture Lab ซึ่งมีทั้งนักจิตวิทยา นักประสาทศาสตร์วิทยา และวิศวกรซอฟต์แวร์ ในปี ค.ศ. 2019 เพื่อสร้างชุดการแสดงด้วย อัลกอริธึมของ AI ได้ข้อมูลเพื่อศึกษาการออกแบบท่าเต้นของ McGregor ตลอด 25 ปีที่ผ่านมาทางวิดีโอกว่าพันชั่วโมง
ในท้ายที่สุดก็สามารถนำเสนอรูปแบบการเคลื่อนไหวที่อ้างอิงจากท่าเต้นต้นแบบได้ถึง 400,000 รูปแบบ เป็นการนำเสนอความเป็นไปได้ทั้งหมดที่มนุษย์ไม่สามารถสร้างสรรค์ขึ้นมาได้เองทั้งหมดอย่างแน่นอน
และแบบสุดท้ายคือ AI อาจสามารถสร้างผลงงานศิลปะขึ้นมาใหม่ได้ด้วยตัวเอง โดยนักออกแบบมนุษย์ใส่ข้อมูลและตั้งเป้าหมายรวมถึงเงื่อนไขของชิ้นงานศิลปะที่อยากได้ แล้วให้ซอฟต์แวร์ของ AI ประมวลผลรูปแบบชิ้นงานทั้งหมดที่เป็นไปได้ซึ่งเข้ากับเกณฑ์ที่กำหนด
อย่างไรก็ตาม หากว่าการคาดการณ์แบบที่สามได้รับความนิยมและถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย ก็อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหลายอุตสาหกรรม ทั้งสถาปัตยกรรม การก่อสร้าง วิศวกรรม การผลิต และการออกแบบผลิตภัณฑ์ เช่น นักออกแบบชื่อดังอย่าง Philippe Starck ได้ร่วมงานกับบริษัทซอฟต์แวร์ Autodesk เพื่อออกแบบเก้าอี้โดยใช้วัตถุดิบในการผลิตให้น้อยที่สุด และหนึ่งในผลงานการออกแบบโดย AI นั้นก็ได้รับเลือกและชนะการประกวดในงาน Milan Design Week ปี ค.ศ. 2019
จะเห็นได้ว่าปัญญาประดิษฐ์ถูกนำมาใช้ในวงการศิลปะโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างสรรค์ผลงาน แม้แต่ Google เองก็มีแพลตฟอร์ม Deep Dream Generator ซึ่งศึกษาอัลกอริธึมของ AI รูปแบบต่าง ๆ ในการสร้าง visual content ใหม่ ๆ หรืออย่างล่าสุดในงาน Venice Biennale ก็ได้มีการเปิดตัวหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์อย่าง Ai-Da ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ตัวแรกที่สามารถนั่งวาดรูปได้คล้ายศิลปินมนุษย์
1
เช่น การวาดภาพเมือนจากแบบ และกำลังมุ่งหน้าสู่การสร้างสรรค์ศิลปะในโลกเมตาเวิร์ส หุ่นยนต์ดังกล่าวยังเคยขึ้นพูดบนเวที TEDx talk เมื่อหลายปีก่อน และยังสามารถแต่งกลอนได้อีกด้วย
ในอนาคตอันใกล้ ผู้คนอาจจะได้เห็นการนำ AI มาใช้สร้างสรรค์และผลิตซ้ำงานศิลปะโดยฝีมือมนุษย์มากยิ่งขึ้น AI อาจถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อผลิตงานศิลปะแต่ไม่ได้ถูกยอมรับในฐานศิลปินเช่นมนุษย์ เพราะมันยังไม่สามารถมีไอเดียเป็นของตนเอง และมนุษย์ในฐานะศิลปินก็ยังสามารถใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อทำสร้างผลงานของตนเองได้ตามต้องการ
แต่ก็ไม่แน่ว่าเมื่อเทคโนโลยีถูกพัฒนาเรื่อยไป ปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้จะถูกวิวัฒน์จนมีขีดความสามารถในการสร้างสรรค์ที่เหนือกว่ามนุษย์หรือไม่ แล้วอนาคตของวงการศิลปะจะเป็นอย่างไรต่อไป จะยังถูกนำวงการโดยมนุษย์ หรือเครื่องจักรกลกันแน่
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต:
- การนำ AI มาสร้างผลงานศิลปะอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงค่านิยมด้านความงาม ความพยายาม และ คุณค่าของงานศิลปะในการกระตุ้นอารมณ์ในอนาคตจะให้การยอมรับงานที่สร้างสรรค์จากเทคโนโลยีมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะคำถามเกี่ยวกับมูลค่าและราคาของงานฝีมือมนุษย์เช่นเดียวกัน
- ศิลปินจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้อาชีพของตนอยู่รอดได้ในตลาดงานศิลปะในฐานะผู้ใช้งานเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์ผลงาน ไม่ใช่ผู้ที่ต่อต้านความเปลี่ยนแปลงที่ต้องการชนะปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์
- ความคิดสร้างสรรค์คอมพิวเตอร์ (Computational Creativity) หรือการศึกษาเกี่ยวกับการสร้างซอฟต์แวร์ให้แสดงพฤติกรรม ให้เหมือนกับมนุษย์จะกลายเป็นสาขาวิชาที่น่าสนใจและอาจเป็นโอกาสใหม่ในตลาดแรงงานศิลปะในอนาคตของศิลปิน โปรแกรมเมอร์ และวิศวกรซอฟต์แวร์
- Blockchain และ NFT จะช่วยเข้ามากำหนดขอบเขตการผลิตซ้ำและดัดแปลงผลงานศิลปะโดยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ให้ชัดเจน และจะเกิดการเพิ่มกฎหมายแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ใหม่ให้คุ้มครองลิขสิทธิ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
อ้างอิงจาก:
- Artificial Intelligence and Art: An Evolving Relationship https://www.theartist.me/art/artifical-intelligence-art-relationship/
- Can artificial intelligence become a choreographer? Wayne McGregor brings AI to L.A. https://www.latimes.com/entertainment/arts/la-et-cm-wayne-mcgregor-artificial-intelligence-premiere-20190710-story.html
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก www.futuretaleslab.com หรือติดตามที่ https://www.blockdit.com/futuretaleslab
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureUpdate #FutureofPlay #AI #Art #MQDC
โฆษณา