23 ก.ย. 2022 เวลา 05:12 • หนังสือ
ในบทความนี้คำว่าความแตกต่างระหว่างคนรวย ชนชั้นกลาง และ คนจน ไม่ได้วัดกันที่จำนวนเงิน แต่วัดกันที่แนวคิดหรือทัศนคติ คนที่มีทัศนคติแบบคนรวย แม้ตอนนี้จะยังมีเงินไม่มาก หรืออาจเคยมีเงินมากแล้วต้องสูญเสียมันไป ก็จะกลับมาสร้างใหม่ได้
ในทางกลับกันคนที่มีทัศนคติจน แม้มีโชค มีโอกาสได้รับเงินจำนวนมาก แต่ก็ไม่สามารถรักษาเงินไว้ได้ จึงไม่สำคัญว่าตอนนี้เรามีเงินเท่าไหร่ เพราะหากเราสร้างทัศนคติแบบคนรวยเอาไว้ วันหนึ่งเงินจะวิ่งเข้าเราอย่างแน่นอน
บทความนี้แอดมินนำมาจากข้อเขียนของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนหุ้นคุณค่า ที่จัดเป็นปรามาจารย์ VI ของเมืองไทย ที่เขียนถึงการวิเคราะห์รากเหง้าของปัญหาในเชิงรูปแบบของทัศนคติความคิด ซึ่งได้สรุปมาจากหนังสือของ Keith Cameron Smith แม้ว่าจะเขียนไว้นานแล้ว แต่เนื้อหายังคงใช้ได้ในทุกยุคสมัย
ลองมาเช็คดูกันว่า เรามีแนวความคิดของคนรวยหรือชนชั้นกลางมากกว่ากัน และจะต้องทำอย่างไรเพื่อจะได้ย้ายจากการมีแนวโน้มที่จะเป็นคนจนหรือคนชั้นกลางสู่การเป็นคนรวย ไปดูกันเลย
1. เศรษฐีนั้นคิดยาวแต่คนชั้นกลางคิดสั้น คนที่คิดสั้นที่สุดก็คือคนจน
คนจนมักจะคิดอะไรแบบวันต่อวันทำนองหาเช้ากินค่ำ คนชั้นกลางนั้นมักจะคิดเป็นเดือนต่อเดือน นั่นคือคิดถึงวันเงินเดือนออก แต่คนรวยจะต้องคิดยาวเป็นปีๆ หรือเป็นสิบๆ ปี
ในใจของคนจนนั้น เขามักคิดแต่เฉพาะเรื่องของความอยู่รอดเป็นหลัก ในขณะที่คนชั้นกลางคิดถึงเรื่องความสุขสบายจากการจับจ่ายใช้สอยสินค้า ส่วนคนรวยนั้น เป้าหมายของพวกเขาชัดเจน เขาต้องการความเป็นอิสระทางการเงิน
การคิดยาวนั้นมีพลังมหาศาล เพราะมันจะทำให้เขาอดออมและลงทุนระยะยาวซึ่งจะทำให้เงินงอกเงยแบบทบต้นเป็นเวลานาน และนี่คือสูตรสำคัญที่สุดในการที่จะทำให้คนมั่งคั่ง
แอดมินขออนุญาตเพิ่มเติมให้ในข้อนี้ ว่าหากเรายังอยู่ในภาวะเดือนชนเดือน หาเช้ากินค่ำ การจะออกจากสถานะนี้ได้ คือต้องวางแผนการเงิน เพื่อให้รู้สถานะทางการเงินของตัวเอง อย่างน้อยให้รู้ว่าเรามีรายรับเท่าไหร่ รายจ่ายเท่าไหร่ หนี้สินเท่าไหร่ เป้าหมายชีวิตคืออะไร เราต้องเพิ่มหรือลดตรงไหนบ้าง เพียงแค่นี้ก็เหมือนได้มองยาวขึ้นไปอีกนิด และเมื่อโฟกัสเป้าหมาย ก็จะเริ่มเห็นหนทางเองค่ะ
ดาวน์โหลด​แอปฯ​ ตัวช่วยในการวางแผน​การเงิน “ฟรี” ได้ที่นี่
2. คนรวยพูดเกี่ยวกับเรื่องไอเดีย คนชั้นกลางพูดเกี่ยวกับสิ่งของ และคนจนพูดถึงเรื่องของคนอื่น
นี่คงไม่ได้หมายถึงว่าคนรวยไม่พูดเกี่ยวกับเรื่องของสิ่งของหรือคนอื่น แต่หมายถึงว่าคนรวยจะพูดถึงเรื่องของคนอื่นน้อยกว่าคนจนและมักจะเป็นคนที่มีแนวความคิดดีๆ หรือมีมุมมองต่างๆ มากกว่าคนชั้นกลางและคนจน
เบื้องหลังของนิสัยในเรื่องนี้คงอยู่ที่ว่า คนรวยนั้นมักจะมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าคนจนซึ่งมักจะชอบ “ซุบซิบนินทา” เป็นนิจสิน ในขณะที่คนชั้นกลางอาจจะเน้นการทำงานประจำ ชอบพูดถึงเรื่องรถยนต์ ดนตรี การพักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้น
3. คนรวยยอมรับการเปลี่ยนแปลง คนชั้นกลางต่อต้านการเปลี่ยนแปลง
คนชั้นกลางรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงจะคุกคามชีวิตความเป็นอยู่ที่ตนเองเคยชิน ในขณะที่คนรวยนั้นคิดว่าการเปลี่ยนแปลงอาจนำมาซึ่งชีวิตที่ดีกว่า เขาคิดว่าในการเปลี่ยนแปลงนั้นมักมีโอกาสที่เขาอาจจะฉกฉวยได้ เบื้องหลังนิสัยนี้อาจจะมาจากการที่คนรวยมีความมั่นใจสูงกว่าคนชั้นกลางที่มักจะกลัวว่าตนเองจะไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งใหม่ๆ ได้
4.คนรวยกล้ารับความเสี่ยงที่ได้มีการพิจารณาและไตร่ตรองดีแล้ว คนชั้นกลางกลัวที่จะรับความเสี่ยง
นี่เป็นนิสัยที่เป็นจุดอ่อนมากที่สุดของคนชั้นกลางในความเห็นของผม คนที่ไม่ยอมรับความเสี่ยงเลยนั้นจะพลาดที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีโดยสิ้นเชิง ในขณะที่คนที่กล้ารับความเสี่ยงอย่างที่ได้มีการศึกษามาเป็นอย่างดีจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้โดยที่ความเสี่ยงจริงๆ นั้นจะมีน้อยมาก
ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุด ก็คือ คนชั้นกลางส่วนใหญ่นั้นมักจะกลัวการลงทุนในหุ้นหรือตราสารการเงินที่มีความผันผวนของราคาโดยที่เขาไม่พยายามศึกษาว่าในระยะยาวแล้วมันอาจจะมีความคุ้มค่ากว่าการฝากเงินในธนาคารมาก
ในอีกมุมหนึ่ง คนที่กล้ารับความเสี่ยงอย่าง “บ้าบิ่น” เช่นคนที่เล่นหุ้นวันต่อวันเองก็ไม่ใช่นิสัยของคนรวย คนรวยนั้นจะต้องรับความเสี่ยงเฉพาะที่มีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว
5. คนรวยเรียนรู้และเติบโตตลอดชีวิต คนชั้นกลางคิดว่าการเรียนรู้จบที่โรงเรียน
นิสัยการเรียนรู้ไปเรื่อยๆ นี้ ผมคิดว่าเป็นหัวใจเศรษฐีจริงๆ เพราะในความรู้สึกของผมเอง การเรียนรู้จากโรงเรียนเป็นเพียงพื้นฐานที่เรานำมาศึกษาต่อด้วยตนเองได้ และเวลาหลังจากการเรียนในโรงเรียนนั้นยาวมากเป็นหลายสิบปี ดังนั้น ความรู้ส่วนใหญ่จึงควรที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่เราเรียนจบจากโรงเรียน
โดยนัยของข้อนี้ คนรวยจึงน่าจะมีนิสัยรักการอ่านหรือการหาความรู้ต่อไปเรื่อยๆ ในขณะที่คนชั้นกลางนั้น พอเรียนจบก็มักจะไม่สนใจอ่านหนังสือหรือหาความรู้ใหม่ๆ และความรู้ที่ผมคิดว่าคนชั้นกลางพลาดไปเพราะไม่มีการสอนในโรงเรียนก็คือ ความรู้ทางด้านการเงินที่คนรวยมักจะศึกษาต่อเพราะเห็นถึงความสำคัญและอาจนำไปสู่ความร่ำรวยได้
6. คนรวยทำงานเพื่อหากำไร คนชั้นกลางทำงานเพื่อจะได้ค่าจ้าง
คนรวยมองว่านี่คือหนทางที่จะทำให้รวยได้มากกว่าแม้ว่าจะมีความเสี่ยง ในขณะที่คนชั้นกลางนั้นมักจะไม่กล้าเสี่ยงและอาจจะมีความคิดสร้างสรรค์น้อยกว่า จึงมุ่งไปที่การหางานที่จะมีรายได้แน่นอน แต่รายได้จากการใช้แรงงานของตนเองนั้น มีน้อยคนที่จะทำให้ตนเองรวยได้
แอดมินขออนุญาตเพิ่มเติมให้ในข้อนี้ค่ะ ว่าการทำงานประจำที่มีรายได้แน่นอนให้ได้กำไร ก็คือการใส่คุณค่าในงาน ทำให้เกินค่าจ้าง ไม่ได้หมายถึงปริมาณนะคะ แต่หมายถึงคุณภาพของงาน อย่าลืมว่าเงินเดือนที่เราได้ คือคุณค่าที่คนอื่นประเมินเรา แต่คุณภาพงานของเรา คือคุณค่าที่เราประเมินตัวเอง หากเราใส่ใจในคุณค่าของงาน โอกาสจะตามมาอีกเยอะแยะมากมายค่ะ
1
7. คนรวยเชื่อว่าพวกเขาจะต้องใจบุญสุนทาน คนชั้นกลางคิดว่าพวกเขาไม่มีปัญญาที่จะทำบุญ
ข้อนี้ผมเองคงไม่มีคอมเม้นท์อะไร ส่วนหนึ่งผมเองก็ไม่แน่ใจเนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องของแต่ละคนที่ไม่ค่อยบอกหรือรู้กันยกเว้นกรณีที่เป็นการบริจาคใหญ่ๆ อย่างกรณีของบัฟเฟตต์หรือบิลเกต
8. คนรวยมีแหล่งรายได้หลากหลาย คนชั้นกลางมีเพียงหนึ่งหรือสองแหล่ง
ข้อนี้ก็เช่นกัน ผมเองไม่แน่ใจว่าคนรวยมีรายได้จากหลายแหล่งเพราะรวยแล้วจึงไปลงทุนในทรัพย์สินหลายๆ อย่าง หรือมีทรัพย์สินหลายอย่างจึงทำให้รวย แต่ที่ผมเห็นชัดเจนก็คือ คนชั้นกลางนั้น มักไม่ลงทุนในทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงทำให้รายได้มักจะมาจากเงินเดือนเป็นหลัก
9. คนรวยเน้นการเพิ่มขึ้นของความมั่งคั่งของตนเอง คนชั้นกลางเน้นการเพิ่มของเงินเดือน
เป้าหมายของคนรวยนั้นอยู่ที่ว่าตนเองมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหนโดยมองที่ภาพรวม ดังนั้น ถ้าเขามีหุ้นอยู่ การที่หุ้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเขาก็มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นโดยที่เขาไม่ต้องเสียภาษี แต่คนชั้นกลางพยายามทำงานเพื่อให้มีเงินเดือนสูงขึ้นแต่เขาอาจจะลืมไปว่าเขาจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นด้วย
สรุปก็คือ คนรวยเน้นการลงทุนใช้เงินทำงานแทนตนเอง คนชั้นกลางเน้นการใช้แรงงานของตนเอง
10. คนรวยชอบตั้งคำถามที่เป็นบวกและสร้างกำลังใจ เช่น ฉันจะสร้างรายได้เป็นเท่าตัวในปีนี้ได้อย่างไร? ในขณะที่คนชั้นกลางชอบตั้งคำถามที่เป็นลบและเสียกำลังใจ เช่น จะหาเงินมาจ่ายหนี้ค่าบัตรเครดิตเดือนนี้ได้อย่างไร?
บทความโดย : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวราการ
หวังว่าเพื่อนๆ จะได้ไอเดียไปปรับใช้ ให้ตัวเองมีทัศนคติทางการเงินแบบคนรวยนะคะ ย้ำอีกทีว่า คำว่ารวยไม่ได้หมายถึงจำนวนเงิน เพราะ "รวย" ของแต่ละคนไม่เท่ากัน ซึ่งส่วนตัวแอดมินมองว่าจะรวยไม่รวยมันอยู่ที่ความรู้สึก
ถ้าเรารู้สึกขาดแคลน ต้องมีมากขึ้นตลอดเวลา แม้ตอนนี้จะมีเงินจำนวนมาก ก็ถือว่ายังอยู่ในข่ายคนจน แต่เมื่อไหร่ที่เรารู้สึกมั่งคั่ง มั่นคงและไว้วางใจในการใช้ชีวิตได้ ไม่ว่าตรงนั้นเราจะมีเงินจำนวนเท่าไหร่ ก็พูดได้เต็มปากว่ารวยค่ะ
#แอดมินเก๋
ติดตามคอนเทนต์การเงินจาก Lumpsum ทั้งหมดได้ที่นี่
Line : @lumpsumofficial
โฆษณา