22 ก.ย. 2022 เวลา 11:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำอย่างไร เงินบาท จะกลับมาแข็ง
ตั้งแต่กลางปีนี้ ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือ FED ก็ได้เริ่มขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงต่อเนื่อง
เพื่อรับมือกับสถานการณ์เงินเฟ้อสูงในประเทศ โดยเมื่อคืนก็ได้ขึ้นอีก 0.75%
จนอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาขึ้นไปอยู่ที่ 3.25% แล้ว
ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกากำลังทิ้งห่างจากไทยมาก
เพราะอัตราดอกเบี้ยของไทย นั้น ยังคงอยู่ที่ 0.75% มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม
ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่กำลังทิ้งห่างไทยไปเรื่อย ๆ นี้เอง
ก็ได้ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว
ล่าสุด อัตราแลกเปลี่ยนของไทย อยู่ที่ 37.44 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
เรียกได้ว่าเป็นการอ่อนค่าต่อดอลลาร์สหรัฐ มากที่สุดในรอบ 16 ปี
1
การที่เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่เดือนเช่นนี้
ก็ได้สร้างความกังวล ให้กับหลาย ๆ ฝ่าย อย่างเช่นเมื่อวานนี้ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ได้ออกมาแสดงความเป็นห่วงกับสถานการณ์ของค่าเงินบาทเหมือนกัน..
แล้วถ้าหากถามว่า มีวิธีอะไรบ้าง
ที่จะทำให้เงินบาทไทย กลับมาแข็งค่าขึ้นได้ ?
หลัก ๆ แล้วก็จะมีอยู่ 3 อย่าง
1. ขึ้นดอกเบี้ย
การขึ้นดอกเบี้ย จะช่วยบรรเทาสถานการณ์การอ่อนค่าเงินของเงินบาทลงไปบ้าง
โดยเงินทุนที่จะไหลออกไปหาผลตอบแทนที่สูงกว่าในประเทศสหรัฐอเมริกาจะชะลอตัวลง
เนื่องจากความต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา จะลดลงกว่าที่เป็นอยู่
1
แต่อย่างไรก็ตาม การขึ้นดอกเบี้ยคราวละมาก ๆ อย่างรวดเร็ว อย่างที่สหรัฐอเมริกาทำ ก็ต้องพิจารณาผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือนของประชาชนให้ดี เนื่องจากหนี้ครัวเรือนในประเทศไทยนั้น สูงถึง 91% ของ GDP
2. แทรกแซงค่าเงินบาท
1
ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะปล่อยลอยตัวค่าเงินหลังจากเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง แต่ระบบอัตราแลกเปลี่ยนของไทยนั้น เป็นการจัดการแบบลอยตัว อย่างมีการจัดการ (Managed Float) ทำให้เมื่ออัตราแลกเปลี่ยน เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็มีหน้าที่เข้าแทรกแซง เพื่อไม่ให้ค่าเงินอ่อนค่า หรือแข็งค่า เร็วเกินไป
ซึ่งในตอนนี้ ที่อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว จากการที่ผู้คนต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าเงินบาท
สิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีความเป็นไปได้ว่าจะทำ ก็คือการนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ออกมาซื้อเงินบาทในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เพื่อเป็นการเพิ่มความต้องการในเงินบาท อันจะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม การที่อัตราดอกเบี้ยของไทย และสหรัฐอเมริกายังต่างกันมากเช่นนี้ ก็ไม่แน่ใจว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทย จะต้องใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ มากน้อยแค่ไหน เพื่อทำให้อัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้นได้
3. บัญชีเดินสะพัดของประเทศไทย มีการเกินดุลมากขึ้น
การที่ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย จะสามารถเกินดุลมากขึ้นได้ ก็จะมาจากการขยายตัวของการส่งออก หรือนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น อันจะทำให้ประเทศได้รับเงินตราต่างประเทศ จากการส่งออกสินค้าและบริการ มากกว่าต้องจ่ายออกไป เพื่อนำเข้าสินค้าและบริการจากต่างประเทศ
2
เหตุการณ์นี้เอง จะทำให้เงินบาทมีความต้องการมากขึ้น เนื่องจากการที่ต่างประเทศ จะซื้อสินค้าจากไทย หรือเข้ามาท่องเที่ยวในไทย ก็จะต้องทำการแลกเงินให้เป็นบาทก่อน ทำให้ความต้องการของเงินบาทมีมากขึ้น และอาจทำให้ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นได้
1
ถึงอย่างนั้น ค่าเงินของหลายประเทศที่เป็นคู่แข่ง ในเรื่องการส่งออกและการท่องเที่ยวของประเทศไทย ต่างก็อ่อนค่าลงมาก เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน ทำให้การส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย ต้องแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ด้วย
1
เราจึงต้องรอดูต่อไปอีกว่า การส่งออกของไทย จะยังสามารถขยายตัวต่อไปได้อีกหรือไม่ และนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะกลับมาเพิ่มขึ้น มากน้อยแค่ไหน
 
เพราะฉะนั้นแล้ว ถ้าหากธนาคารแห่งประเทศไทย สามารถรักษาส่วนต่างของดอกเบี้ย ไม่ให้ห่างกับสหรัฐอเมริกามากไป พร้อมกับการส่งออกและการท่องเที่ยว ที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น จากค่าเงินที่อ่อนลงมากในตอนนี้
ค่าเงินบาทของไทยก็มีโอกาสที่จะกลับมาแข็งค่าขึ้น
กลับไปอยู่ราว ๆ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
เหมือนกับที่รักษาการนายกรัฐมนตรีว่าเอาไว้ ก็เป็นได้..
โฆษณา