24 ก.ย. 2022 เวลา 22:35 • ปรัชญา
“สู่ไม่ถอย ถ้าไม่ถอยก็จะไม่ขาดทุน”
การปฏิบัติเพื่อยกระดับจิตนี้ต้องบังคับถึงจะก้าวขึ้นไปได้ ถ้าอยู่อย่างสบายๆจะติดอยู่กับสภาพเดิม เคยกินอยู่อย่างไรก็จะกินอยู่อย่างนั้น จะไม่ได้พัฒนา เพราะไม่เจริญสติ นั่งสมาธิ เดินจงกรม
ถ้าต้องการจะยกระดับจิตก็ต้องบังคับตน ถ้าเป็นฆราวาสรักษาศีล ๕ ก็ให้รักษาศีล ๘ บังคับตนไม่ให้กินข้าวหลังเที่ยงวันไปแล้ว ไม่ให้ดูหนังฟังเพลง โทรทัศน์ไม่ต้องดู วิทยุไม่ต้องฟัง เอาเวลานั้นมานั่งสมาธิ เดินจงกรม ฟังเทศน์ฟังธรรม จิตใจจะได้เจริญเติบโต ถ้าเป็นต้นไม้ ถ้าไม่คอยใส่ปุ๋ยรดน้ำจะโตได้อย่างไร จิตใจก็จะเป็นอยู่เหมือนเดิมถ้าไม่ได้ปฏิบัติมากขึ้น ต้องดูว่าตอนนี้รักษาศีลได้กี่ข้อ ปฏิบัติธรรมวันละกี่ชั่วโมง ตัดกิเลสตัดรูปเสียงกลิ่นรสได้มากขึ้นหรือยังเหมือนเดิม
ถ้ายังดูหนังฟังเพลง ยังไปเที่ยว ยังทำอะไรเหมือนเดิมอยู่ ก็จะไม่ก้าวหน้า ต้องตัดเรื่องบันเทิงตัดความสุขทางกามารมณ์ให้น้อยลงไป แล้วก็เพิ่มการปฏิบัติธรรมเพื่อความสุขสงบของใจให้เพิ่มมากขึ้น ด้วยการเจริญสติ นั่งสมาธิ เดินจงกรม เจริญปัญญาด้วยการพิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา
ถ้าไม่บังคับตัวเราให้ปฏิบัติธรรม ปล่อยให้เป็นไปตามอารมณ์ ก็จะเป็นเหมือนเรือที่ไม่มีหางเสือ จะลอยไปตามกระแสน้ำ อยากจะนั่งก็นั่ง ไม่อยากจะนั่งก็ไม่นั่ง ก็จะขึ้นๆลงๆ อยู่ที่เดิม ถ้ากำหนดไว้ว่าจะนั่งสมาธิกี่ชั่วโมง เดินจงกรมกี่ชั่วโมง ลดเวลาดูทีวีลงไปกี่ชั่วโมง ลดการหาความสุขจากการดื่มการรับประทาน จิตใจก็จะก้าวหน้า ดื่มและรับประทานตามเวลา นอกเวลาจะดื่มแต่น้ำเปล่า
ถ้าดื่มเครื่องดื่มที่มีรส ก็จะเป็นการส่งเสริมกิเลสตัณหา เป็นนิวรณ์คือกามฉันทะ เป็นอุปสรรคต่อการทำจิตใจให้สงบ ต้องศึกษาให้รู้ว่าอะไรส่งเสริมให้จิตใจก้าวหน้า อะไรถ่วงไม่ให้ก้าวหน้า ถ้าไม่รู้ก็จะปฏิบัติผิดๆถูกๆ จะไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร หรือไม่ก้าวหน้าเลย ถ้าไม่รู้ก็ต้องศึกษาจากผู้รู้ ฟังเทศน์ฟังธรรมจากครูบาอาจารย์
วิธีที่ท่านปฏิบัตินี้ เป็นตัวอย่างที่เราควรนำเอามาใช้ อาจจะต้องดัดแปลงบ้าง เพราะจริตไม่เหมือนกัน เช่นอาจจะไม่ถูกกับการอดอาหาร เวลาอดอาหารแทนที่จิตจะสงบกลับฟุ้งซ่าน เพราะสติไม่มีกำลังที่จะควบคุมความคิด ไม่ให้คิดถึงเรื่องอาหารได้ การอดอาหารก็จะไม่เกิดประโยชน์ หรืออาจจะไม่ถูกกับการถือ ๓ อิริยาบถคือเดินยืนนั่ง ไม่นอน พอไม่นอนก็จะสะลึมสะลือไม่มีกำลังปฏิบัติ ก็ต้องดูจริตว่าเหมาะกับอุบายใด
นั่งมากหรือเดินมาก สถานที่แบบไหนถึงจะเหมาะ บางคนชอบในป่า บางคนชอบที่โล่ง ต้องพิจารณาความสัปปายะ ไม่เช่นนั้นแล้วจะปฏิบัติแบบลุ่มๆดอนๆ จะไม่ได้บรรลุผล
 
ต้องรู้ว่าอะไรส่งเสริมเป็นสัปปายะ ต้องรู้ว่าอะไรไม่เป็นสัปปายะ แต่อย่าไปว่าไม่สัปปายะทุกอย่าง ไอ้นี่ก็ไม่สัปปายะ ไอ้นั้นก็ไม่สัปปายะ ถ้าจะสัปปายะก็ต้องอิ่มหมีพีมัน ต้องได้เที่ยวได้ดื่มได้กินตลอดเวลา ถ้าอย่างนี้ก็จะปฏิบัติธรรมไม่ได้ หวังได้อย่างมากก็แค่สวรรค์ ทำบุญให้ทานรักษาศีลไป
ส่วนเรื่องสมาธิเรื่องปัญญานี้ให้เป็นเรื่องของคนอื่นไป เรายังพอใจกับการเวียนว่ายตายเกิด กับการเป็นมนุษย์เป็นเทพ ถ้าอยากจะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ก็ต้องปฏิบัติธรรม บำเพ็ญจิตภาวนา สมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา ที่เป็นเหมือนยานพาให้หลุดพ้นจากการดึงดูดของวัฏจักร เหมือนกับยานอวกาศที่จะออกจากโลกนี้ไปได้ ต้องมีจรวดที่มีพลังมาก ถึงจะสามารถหลุดพ้นจากแรงดึงดูดของโลกไปได้
เครื่องบินยังไม่สามารถหลุดพ้นไปได้ ขึ้นไปแล้วยังต้องกลับลงมาอีก แต่ยานอวกาศนี้ไปแล้วไม่ต้องกลับมาก็ได้ ถ้าอยากไปไม่กลับก็ต้องมีพลังจิตเท่ากับพลังจรวด ต้องปฏิบัติอย่างเต็มที่ ต้องปล่อยวางภารกิจการงานอย่างอื่น เช่นนักบวชทั้งหลาย พวกนี้ไปไม่กลับกัน พระอริยสงฆ์สาวกท่านไปไม่กลับ เพราะท่านทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับการปฏิบัติ ไม่มีอะไรดีเท่ากับการบวช
พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติวิธีการปฏิบัติ เพื่อไม่ให้มีอะไรมาถ่วงมาดึงจิต ให้กลับมาสู่การเวียนว่ายตายเกิดอีก แต่ให้หลุดพ้นจากการดึงดูดของวัฏจักร
ถ้าเบื่อกับการเกิดแก่เจ็บตาย ก็ต้องบวชปฏิบัติธรรม ถ้ายังรักการอยู่แบบฆราวาส ก็แสดงว่ายังไม่เบื่อกับการเวียนว่ายตายเกิด ตอนต้นเราก็ไม่คิดว่าจะบวช คิดว่านั่งสมาธิจะได้ความสุขทั้ง ๒ อย่าง ไปเที่ยวก็สุขอยู่บ้านก็สุข แต่ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เพราะเวลาไปเที่ยวจะทำลายความสุขที่เกิดจากการนั่งสมาธิ ที่ดีกว่าความสุขที่ได้จากการไปเที่ยว ก็เลยต้องเลือก รักพี่เสียดายน้องไม่ได้ จะเอาสุขร้อนหรือเอาสุขเย็น
ถ้าเอาทั้งร้อนทั้งเย็นก็จะอุ่นๆ ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเอาสุขร้อนก็จะทำให้ใจรุ่มร้อน ถ้าเอาสุขเย็นก็ทำให้ใจเย็นสบาย ก็เลยต้องเอาทางเย็น ทางเย็นก็ต้องมาบวช จะได้ปฏิบัติอย่างเต็มที่ เพราะงานของนักบวชก็คือการปฏิบัติศีลสมาธิปัญญา
พระพุทธเจ้าทรงไม่ให้พระทำงานอื่นเลย ไม่ให้ก่อสร้าง ให้อยู่ตามมีตามเกิด อยู่ตามโคนไม้ก็ได้ ถ้ามีศรัทธาสร้างกุฏิให้อยู่ก็อยู่ได้ แต่ไม่ส่งเสริมให้พระสร้างกุฏิเอง จะเสียเวลา ให้สร้างเรือนใจดีกว่า เรือนใจสำคัญกว่าเรือนกาย เพราะร่างกายอยู่ได้เพียง ๘๐ ปี ๙๐ ปีเป็นส่วนใหญ่ แต่ใจไม่มีวันตาย ถ้าไม่มีเรือนใจก็จะวุ่นวาย ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่หลบภัย พระพุทธเจ้าทรงสอนให้สร้างเรือนใจอย่างเดียว ด้วยศีลสมาธิปัญญา
โอกาสที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ แล้วก็ได้เจอพระพุทธศาสนานี้ มีไม่บ่อย นานๆจะเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง อย่าปล่อยให้โอกาสที่ดีนี้หลุดมือไป พยายามปฏิบัติให้มาก อย่างน้อยก็ต้องเจริญสติอยู่เรื่อยๆ ให้มีสติดึงใจไว้ไม่ให้ลอยไปลอยมา เวลากลับบ้านไปนั่งสมาธิจะสงบได้ง่าย
พอได้สัมผัสกับความสงบเพียงครั้งเดียว ก็จะเป็นเหมือนปลาติดเบ็ด เหมือนว่าวติดลม จะติดใจ จะเบื่อหน่ายกับความสุขอย่างอื่น จิตใจจะเจริญก้าวหน้า อยู่ที่สตินี้ สำคัญมาก ต้องเจริญให้มาก ตั้งแต่ตื่นจนหลับ แต่ไม่ค่อยเจริญกัน ปล่อยให้เวลาอันมีค่าผ่านไป โดยไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย เหมือนกับปล่อยน้ำประปาไหลทิ้งไป ไม่มีภาชนะมารองเก็บเอาไว้ จะได้มีน้ำใช้ในเวลาที่น้ำไม่ไหล ต้องเจริญสติอยู่เรื่อยๆ
พอมีสติแล้วการปฏิบัติจะไม่ลำบาก ร่างกายจะเป็นอย่างไรก็จะปฏิบัติได้ เพราะปฏิบัติที่ใจ เจ็บไข้ได้ป่วยนอนอยู่บนเตียงก็ปฏิบัติได้ ด้วยการควบคุมความอยากต่างๆ ไม่ให้มาสร้างความทุกข์ ต้องมีสติคอยควบคุมใจ ต้องปฏิบัติให้มากๆ อย่างที่หลวงตาสอนให้สู้ไม่ถอย ถ้าถอยแล้วจะถอยไปเรื่อยๆ จะไม่ก้าวหน้า ถ้าไม่ถอยก็จะไม่ขาดทุน เคยปฏิบัติได้เท่าไหร่ก็ปฏิบัติไปก่อน อย่าปฏิบัติน้อยกว่าเดิม
จุลธรรมนำใจ ๒๓, กัณฑ์ที่ ๔๑๘
วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
โฆษณา